Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 9644 จำนวนผู้เข้าชม |
ตะคริว เป็นอาการที่กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งฉับพลันทำให้เกิดความเจ็บปวดเกิดขึ้น ในเวลาที่เจออากาศเย็น หรือฤดูหนาวซึ่งมีอากาศหนาวเย็นจะเป็นช่วงที่อาการตะคริวจะเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะช่วงระหว่างนอนที่ร่างกายจะมีอุณหภูมิในร่างกายที่ลดต่ำลงจะทำให้อาการปวดต่างๆ มีอาการหนักขึ้น
อาการตะคริวที่ขาช่วงเวลากลางคืน เป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลัน ทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึก และเกิดความเจ็บปวดอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนอาการจะทุเลาลง โดยมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขา (Hamstrings) หรือ ด้านหลังของน่อง (Calf) ซึ่งอาการนี้เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเส้นเอ็นจากการออกกำลังหรือใช้งานหนัก ถูกความเย็น ยืนหรือนั่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ขาดการดื่มน้ำที่พอเหมาะ หลอดเลือดบริเวณขาตีบตัน เกลือแร่ในร่างกายไม่เพียงพอ การตั้งครรภ์ ภาวะความเจ็บป่วยอื่นๆ หรือการรับประทานยาบางชนิด
ในมุมมองทางการแพทย์แผนจีน กล่าวถึงการเป็นตะคริวที่ขา (Nocturnal Leg Cramp) ว่าเกิดจากเส้นเอ็นซึ่งเกี่ยวข้องกับตับที่มีหน้าที่กักเก็บเลือดและควบคุมเส้นเอ็น ม้ามที่ควบคุมแขนขาและกล้ามเนื้อ ไตที่ควบคุมกระดูก
เมื่ออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเกิดทำงานได้ไม่สมบูรณ์จะทำให้การบำรุงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบกพร่อง จึงทำให้การเคลื่อนไหวแขนขามีปัญหา รวมไปถึงพิษความเย็นความชื้นจากภายนอกสามารถกระทบทำให้เลือดและชี่เกิดการติดขัดและทำให้ไปบำรุงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้ลำบาก รวมไปถึงเมื่อเวลากลางคืนเลือดจะไหลกลับไปกักเก็บอยู่บริเวณตับ ทำให้เลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อเส้นเอ็นลดลงและเกิดเป็นอาการตะคริวที่ขาในช่วงเวลาที่นอนหลับ
เมื่อทำการตรวจวินิจฉัยจะพบกลุ่มอาการหลักๆได้ 4 กลุ่มอาการหลัก คือ
1. ความเย็นอุดกั้นเส้นลมปราณ
2. ความเย็นและความชื้นอุดกั้น
3. ชี่ตับติดขัดและเลือดพร่อง
4. ชี่และเลือดพร่องทั้งคู่
แนวทางการดูแลตนเอง สามารถใช้วิธีการนวดคลึงบริเวณ "จุดเฉิงซาน" และ "จุดไท่ซี" หรือ ประคบอุ่นบริเวณน่อง เพื่อลดอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อ
วิธีการป้องกันการเป็นตะคริวเวลากลางคืน
1. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อช่วงขาในระหว่างวันและก่อนเข้านอน โดยเฉพาะน่องและเท้า
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
3. ไม่ทำท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ควรมีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
4. ไม่ใส่รองเท้าที่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป หรือ ใส่รองเท้าที่ช่วยพยุงเท้า
5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสความเย็น รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ในขณะนอนหลับ เช่น การห่มผ้าห่ม หรือ ใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น
แม้ว่าอาการตะคริวที่ขาช่วงกลางคืนจะเป็นอาการที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเวลาของการนอนหลับอาจส่งผลต่อการพักผ่อน นอกจากการป้องกันเบื้องต้นแล้ว การรักษาของแพทย์แผนจีน โดยใช้วิธีการนวดทุยหนา ฝังเข็ม หรือ การรับประทานยาจีน ให้เหมาะกับกลุ่มอาการ เพื่อลดอาการตะคริวที่ขาช่วงกลางคืนได้
แปลบทความจากภาษาจีนและเรียบเรียง โดย
แพทย์จีน ธิติ นิลรุ่งรัตนา
คลินิกทุยหนาและกระดูก
อ้างอิง
https://www.epochtimes.com/gb/19/10/9/n11579173.htm
http://www.shen-nong.com/eng/exam/leg_cramps.html
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3361473/
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567