บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ด้วยการนวดกดจุด

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  44840 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ด้วยการนวดกดจุด

อาการปวดท้องประจำเดือน เป็นอาการที่ผู้หญิงจำนวนมากเคยมีประสบการณ์ อาจมีอาการปวดเกร็ง ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ปวดบั้นเอว ปวดขา คัดตึงหน้าอก หรือมีระดับความปวดมากน้อยแตกต่างกัน  ซึ่งในหลักการทางแพทย์แผนจีนสามารถแบ่งอาการปวดท้องประจำเดือนได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มอาการพร่องและกลุ่มอาการแกร่ง

กลุ่มอาการพร่อง มักเกิดจากชี่และเลือดของตับไตพร่อง  
กลุ่มอาการแกร่ง มักเกิดจากชี่ตับติดขัด หรือการทานอาการฤทธิ์เย็น นั่งบนพื้นที่มีความชื้นขณะมีประจำเดือนเป็นสาเหตุทำให้มีความเย็นและความชื้นสะสมในมดลูกเกิดการติดขัดของเลือดและชี่


แพทย์แผนจีนมีวิธีการนวดกดจุดลดอาการปวดท้องประจำเดือน ซึ่งเป็นวิธีการง่ายๆสามารถทำเองที่บ้านได้

1. จุดซานอินเจียว Sanyinjiao (SP6)



จุดซานอินเจียว อยู่บริเวณขาด้านใน เหนือยอดตาตุ่มขึ้นมา 3 ชุ่น ชิดขอบหลังของกระดูกหน้าแข้ง เป็นบริเวณที่เส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม เส้นลมปราณเท้าเส้าอินไต และเส้นลมปราณเท้าเจวี๋ยอินตับมาตัดกัน

ในทฤษฎีทางแพทย์แผนจีนนั้น ม้ามมีหน้าที่สร้างเลือด ตับมีหน้าที่กักเก็บเลือดและควบคุมการไหลเวียนของชี่ให้ทำงานได้ปกติ ไม่ติดขัด ไตทำหน้าที่กักเก็บสารจิง ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ การสารเลือด การสร้างกระดูก และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

จุดซานอินเจียว จึงมีสรรพคุณในการลดอาการปวดประจำเดือน และยังเป็นจุดแรกๆที่แพทย์แผนจีนใช้ในการรักษาโรคทางนรีเวช ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือนมาไม่ปกติ ตกขาวขุ่น ภาวะมีบุตรยาก หรือ อาการหลังคลอดบุตร

วิธีการนวด 
ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงบริเวณจุดซานอินเจียว ครั้งละ 1-2 นาที วันละครั้ง

2. จุดไท่ชง Taichong (LR3)



จุดไท่ชง อยู่บริเวณหลังเท้าตรงแอ่งกระดูกระหว่างนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วชี้ ซึ่งอยู่บนเส้นลมปราณเท้าเจวี๋ยอินตับ มีสรรพคุณในการเพิ่มการไหลเวียนชี่ตับ ลดการติดขัดของชี่และลดอาการปวด

วิธีการนวด
ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงบริเวณจุดไท่ชงครั้งละ 1-2 นาที วันละครั้ง

3. จุดเซวี่ยไห่ Xuehai (SP10)



จุดเซวี่ยไห่ อยู่บริเวณขอบด้านในของกระดูกสะบ้าขึ้นมา 2 ชุ่น ซึ่งอยู่บนเส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม ในภาษาจีนคำว่าเซวี่ย (血) แปลว่าเลือด และไห่ (海) แปลว่าทะเล ดังนั้นจุดเซวี่ยไห่จึงเปรียบเสมือนทะเลแห่งเลือด สามาถรักษาความผิดปกติของเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี จึงมีสรรพคุณในการลดอาการปวดประจำเดือน

วิธีการนวด
ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงบริเวณจุดเซวี่ยไห่ ครั้งละ 1-2 นาที วันละครั้ง

4.จุดจื่อกง Zigong (EX-CA1)



จุดจื่อกง
อยู่บริเวณท้องน้อย ลงจากสะดือ 4 ชุ่น ห่างจากแนวกึ่งกลางลำตัว 3 ชุ่น ในภาษาจีนจื่อกงแปลว่ามดลูก และเมื่อดูจากตำแหน่งของจุดจื่อกงที่อยู่บริเวณท้องน้อยแล้ว จุดนี้จึงสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิงได้  มีสรรพคุณในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและสลายเลือดคั่ง ลดอาการปวด

วิธีการนวด
ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงบริเวณจุดจื่อกง ครั้งละ 3-5 นาที จนรู้สึกอุ่นร้อน วันละครั้ง

บทความโดย
แพทย์จีนฐิตินันต์ ศรีเดช (อวี๋ เผย เสียน)
คลินิกฝังเข็ม
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1327
ฝังเข็มรักษาออฟฟิศซินโดรม กลุ่มอาการปวด ปวดศีรษะ ปวดจากโรคงูสวัด  อัมพาตใบหน้า นอนไม่หลับ มีเสียงในหู โรคทางนรีเวช เช่น ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการทางผิวหนัง เช่น สิว ฝ้า ริ้วรอยบนใบหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้