โรคกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบ Iliotibial Band Syndrome – ITBS

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  29853 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบ Iliotibial Band Syndrome – ITBS

โรคกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบหรือ (Iliotibial Band Syndrome – ITBS)
เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยมากในนักวิ่ง นักปั่น หรือ นักเดินทางไกล ทำให้มีอาการปวดที่บริเวณหัวเข่าด้านนอก เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะเวลาวิ่ง ทำความรู้จัก Anatomy ของ Iliotibial band ก่อน  คำว่า Ilio มาจาก Iliac คือกระดูกบริเวณเอว  ส่วน Tibial คือกระดูกของขาท่อนล่าง Bandเป็นเนื้อเยื่อพิเศษชนิดหนึ่ง รวมกันก็คือ เจ้า ITB คือกล้ามเนื้อพิเศษ  สีขาว ดังรูป ที่เกาะจากกระดูกเอว ลงไปที่กระดูกต้นขา เกิดการอักเสบจากการเสียดสีกับกระดูก บริเวณเข่าด้านข้าง เวลามีการเคลื่อนไหวของเข่า โดยเฉพาะเวลาวิ่งในทางชัน

การบาดเจ็บทางกีฬาวิ่งมาราธอน  (MARATHON INJURIES)


Credit : https://worldsmarathons.com/marathon/marathon-de-montpellier

     มาราธอน ( Marathon) คือการแข่งขันวิ่งระยะยาว ในระยะอย่างเป็นทางการคือ 42.195 กิโลเมตร (26 ไมล์และ 385 หลา) โดยมักจะวิ่งแข่งกันบนถนน โดยการแข่งวิ่งนี้มีที่มาจากนายทหารชาวกรีกผู้ส่งข่าวที่ชื่อว่า ฟิดิปปิเดซ ที่ต้องวิ่งในการรบจากเมืองมาราธอนไปยังเอเธนส์ แต่ตำนานบอกเล่านี้ก็ยังคงเป็นข้อสงสัยอยู่ ซึ่งขัดแย้งกับการบันทึกของเฮโรโดตุส เป็นส่วนใหญ่
    สำหรับชื่อระยะทางที่ใช้ในการแข่งขันวิ่งระยะไกลบ้านเรา โดยส่วนใหญ่ที่คุ้นหู แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ฟันรัน  มินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอน  อัลตร้ามาราธอน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามสำหรับการจัด

  • ฟันรัน (Fun run) หรือที่เรียกกันว่า เดิน-วิ่ง เพื่อการกุศล การวิ่งระยะทาง 3.5 - 5 กิโลเมตร (2.17 – 3.11 ไมล์)
  • มินิมาราธอน (Mini marathon) การวิ่งระยะทาง 10.5 กิโลเมตร หรือ 10.55 กิโลเมตร (6.56 ไมล์)
  • ฮาล์ฟมาราธอน (Half marathon)การวิ่งระยะทาง 21 กิโลเมตร หรือ 21.0975 กิโลเมตร (13.1 หรือ 13.11 ไมล์)
  • มาราธอน (Marathon) การวิ่งระยะทาง 42.195 กิโลเมตร (26.2 หรือ 26.219 ไมล์)
  • อัลตร้ามาราธอน (Ultramarathon) การวิ่งระยะทางมากกว่า 42.195 กิโลเมตร (มากกว่า 26.2 หรือ 26.219 ไมล์)

การบาดเจ็บจากการวิ่งมาราธอน (Marathon)
       เนื่องจากกีฬาชนิดนี้เป็นกีฬาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการวิ่งค่อนข้างต่อเนื่องและไม่สามารถหยุดพักได้นาน จึงส่งผลให้ร่างกายของนักกีฬาเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อค่อนข้างมากทำให้เกิดอาการบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกยาวไปถึงบริเวณเข่าด้านนอก โดยอาการนี้เรียกว่า “โรคกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบ” และโรคที่มักบาดเจ็บบริเวณแผ่นพังผืดใต้ฝ่าเท้า โดยอาการนี้เรียกว่า “โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือ รองช้ำ ”

 กายวิภาคศาสตร์ของ Iliotibial band

ITB(iliotibial band) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จุดเกาะต้นเริ่มตั้งแต่สะโพก โดยเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ Tensor fasciae latae (TFL), Gluteus maximus, Gluteus medius, Hamstring และ Quadriceps และไปเกาะปลายที่ปุ่มกระดูกด้านนอกของกระดูกของขาท่อนล่าง (Lateral condyle of the tibia)

    

Credit : https://www.avarinshop.com/iliotibial-band-syndrome-itbs/

กลไกการของเกิดโรค ITBS

คือการเคลื่อนไหวข้อเข้าบิดเข้าด้านในซ้ำๆ ทำให้เอ็น ITB เสียดสีกับกระดูกเข่าด้านนอก ทำให้เกิดอาการอักเสบ ซึ่ง ITBS พบบ่อยในนักกีฬาสาย endurance เช่น นักวิ่งมาราธอน โดย การเคลื่อนไหวข้อเข่าบิดเข้าด้านในนั้น เกิดได้ในหลายกรณี เช่น การใช้รองเท้าวิ่งเก่าที่พื้นรองเท้าเริ่มหมดสภาพ การวิ่งลงเนินการวิ่งบนพื้นเอียง การวิ่งมาก ๆ ในทิศทางหรือเส้นทางเดิม หรือการวิ่งธรรมดาในระยะยาวมาก ๆ รวมทั้งลักษณะเท้าผิดปกติ และมีรูปแบบการวิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นการวิ่งอย่างหนัก เช่นวิ่งทุกวันไม่พัก โดยเฉพาะหลังวันวิ่งฝึกซ้อมระยะยาว หรือการเพิ่มระยะทางต่อสัปดาห์มากเกินไป ก็เป็นสาเหตุของ ITBS ได้ อีกทั้งลักษณะเท้าที่ผิดปกติที่เสี่ยงต่อการเกิดITBS คือ เท้าที่มีลักษณะข้อเท้าที่บิดเข้าด้านในไม่เพียงพอในช่วงลงเท้า (supination หรือ underpronation) ผู้ที่มีลักษณะเท้าดังกล่าวจะมีฝ่าเท้าเป็นลักษณะเท้าโค้งสูง (High arches) เวลาวิ่งทำให้เกิดแรงตึงตัวที่สูงขึ้นกับเอ็น ITB นอกจากลักษณะเท้าดังกล่าวแล้ว ผู้ที่มีขาสองข้างยาวไม่เท่ากันก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเช่นกัน

การตรวจร่างกาย

-  ทดสอบกล้ามเนื้อและแผ่นพังผืดต้นขาด้านข้าง (Noble's test) ผู้ทดสอบนอนตะแคงเอาด้านที่จะทดสอบไว้ด้านบน จากนั้นงอเข่าและข้อสะโพกซ้าย 90 องศา หรือเป็นมุมฉาก ผู้ช่วยทดสอบจัดข้อสะโพกขวาอยู่ในท่าตรงไม่งอ และงอข้อเข่าขวา 90 องศา จากนั้นปล่อยให้ขาขวาหย่อนลงสู่พื้น ถ้าหัวเข่าขวาสัมผัสพื้นโดยไม่มีอาการปวด แสดงว่าไม่มีการยึดตึงของแผ่นพังผืดและกล้ามเนื้อต้นขาด้านข้าง ถ้าผลเป็นบวกจะพบอาการตึงของกล้ามเนื้อ Iliotibial band


Credit : https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=PmUGl7ryQOo 

 -     ทดสอบกล้ามเนื้อและแผ่นพังผืดต้นขาด้านข้าง (Ober’s test) ผู้ทดสอบนอนตะแคงด้านข้างโดยเอาข้างที่ต้องการทดสอบไว้ข้างบน จากนั้นผู้ตรวจยกขาข้างที่อยู่ด้านบนขึ้นโดยมืออีกข้างของผู้ตรวจกดไว้ที่สะโพก จากนั้นดึงขาของผู้ทดสอบมาทางด้านหลังเล็กน้อย หากพบว่ามีการบาดเจ็บถือว่าผลการทดสอบเป็นบวก ถือว่ากล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกมีการอักเสบ


Credit :  https://www.youtube.com/watch?v=Amjv6FzDeLE

การรักษาโรคกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

กลไกของการเกิดโรคกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา จัดอยู่ในกลุ่มอาการบาดเจ็บเส้นเอ็น (ShangJin) 伤筋 มีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น จากการหกล้ม การกระแทก การเคลื่อนไหวผิดท่า หรือตกจากที่สูง โดยบริเวณ Iliotibial band นั้นถือว่าอยู่บริเวณเส้นลมปราณเท้าเส้าหยางถุงน้ำดี (足少阳胆经) ทำให้พลังลมปราณที่พาดผ่านบริเวณนั้นติดขัดและมีเลือดคั่งเฉพาะที่ เกิดอาการปวดและบวมเฉพาะที่ การเคลื่อนไหวส่วนของร่างกายหรือข้อลำบาก เนื่องจากเจ็บปวดหรือมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อรอบบริเวณดังกล่าว

หลักการรักษา

 คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ ลดเกร็งระงับอาการปวด(理筋通络,解痉止痛)

ท่าที่ใช้ในการรักษา

ท่ากด (อั้นฝ่า按法) ท่าคลึง (โหรวฝ่า揉法) ท่ากลิ้ง (กุ๋นฝ่า滚法) ท่าถู (ชาฝ่า擦法) ท่า

หมุน(เหยาฝ่า摇法) ท่าดัน (ทุยฝ่า推法) ท่าบีบ (หนาฝ่า拿法) ท่าดึงยืด (ปาเชินฝ่า拔伸法) ท่าดีด (ถานโบฝ่า弹拨法)

การทุยหนา 

ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น คลายความอ่อนล้า คลายความหนาแน่นของพังผืด ช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่น ลดโอกาสเสี่ยงของอาการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริว หัตถการทุยหนามีขั้นตอนดังนี้

  1. หัตถการคลายกล้ามเนื้อ : ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน แพทย์ผู้ทำหัตถการอยู่ด้านที่มีพยาธิสภาพของผู้ป่วย ใช้ท่าคลึง (โหรวฝ่า揉法) หรือท่ากลิ้ง (กุ๋นฝ่า滚法) ไปกลับระหว่างบริเวณต้นขาด้านนอกจนถึงข้อเข่าด้านนอก สามารถใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ด้วยนิ้วโป้งร่วมด้วย ใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที

  2. หัตถการรักษา : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) ด้วยปลายนิ้วหรือท้องนิ้วบนจุดเฟิงซื่อ  (GB​31 风市) จุดหวนเที่ยว (GB30 环跳) และจุดโส่วเหลียงชิว (ST34 梁丘) จุดละ 1 นาทีและใช้ท่าบีบ (หนาฝ่า拿法) และท่าดีด (ถานโบฝ่า弹拨法) ด้วยมือบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกด้วยน้ำหนักมือที่เบาใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที

  3. หัตถการเคลื่อนไหวข้อต่อ : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากด (อั้นฝ่า按法) บริเวณต้นขาด้านนอกด้วยนิ้วโป้งของมือทั้งสองข้าง

  4. หัตถการสิ้นสุดการรักษา : แพทย์ผู้ทำหัตถการใช้ท่าถู (ชาฝ่า擦法) ด้วยฝ่ามือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บจนเกิดความร้อนพร้อมกับใช้ท่ากดคลึง (อั้นโหรวฝ่า按揉法) บริเวณต้นขาด้านนอกด้วยน้ำหนักที่เบาแต่เร็ว ประมาณ 3 นาที

การฝังเข็ม

  •    จุดกดเจ็บ (阿是穴)
       ตำแหน่ง : บริเวณปุ่มข้อเข่าด้านนอกและต้นขาด้านนอก หากกดแล้วเจ็บแสดงว่าเป็นจุดกดเจ็บ (阿是穴)
  •    จุดหวนเที่ยว (GB 30 环跳)
  •    จุดเฟิงชื่อ  (GB 31 风市)
  •    จุดเหลียงชิว (ST 34 梁丘)

ยาจีน 

  • ตำรับยาทงปี้ทัง(通痹汤)
    หลักการรักษา : บำรุงชี่และเลือด บำรุงตับและไต ขับลมทะลวงเส้นลมปราณ กระจายความเย็นระงับปวด(益气养血,补益肝肾,祛风通络,散寒止痛)
    เหมาะสำหรับ : กลุ่มอาการปวดตามข้อ ข้อบวม เคลื่อนไหวติดขัดเป็นต้น

พอกยา

  • ตำรับยาเซียวจ่งส่าน(消肿散) 
    หลักการรักษา : ระบายความร้อนระงับปวด(请热止痛)
    เหมาะสำหรับ : ข้อต่ออักเสบในระยะเฉียบพลัน ปวด บวม แดง ร้อน
    วิธีใช้ : บดเป็นผง ผสมกับน้ำใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวดบวม วันละ 1 ครั้ง  4-6 ชั่วโมง
    ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

  • ตำรับยาหัวเสวี่ยส่าน (活血散) 
    หลักการรักษา : คลายเส้นเอ็นกระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่งระงับปวด(舒筋活血,散瘀止痛)
    เหมาะสำหรับ : ปวดตึงข้อต่อกล้ามเนื้อ
    วิธีใช้ : บดเป็นผง ผสมกับน้ำอุ่นใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวด วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง
    ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

อบยา

  • ตำรับยาไห่ถงผีทัง(海桐皮汤)
    หลักการรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด(活血散瘀,通络止痛)
    เหมาะสำหรับ : คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด
    วิธีใช้ : อบข้อศอกและแขนท่อนล่างประมาน 15-20 นาที วันละ 1  ครั้ง
    ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวัง

หนึ่งวิธีที่จะช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาการเกิดโรคกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบได้นั้น คือ การหยุดกิจกรรมที่ต้องใช้เท้าเป็นเวลานานๆ หากเป็นการเล่นกีฬาควรเลือกกีฬาที่ไม่ต้องลงน้ำหนักที่เท้ามาก เช่นการว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะๆ เป็นต้น ในส่วนของรองเท้า ควรเลือกสวมรองเท้าส้นนิ่มขณะออกกำลังกายโดยอาจใช้แผ่นรองเสริมอุ้งเท้า เพื่อลดแรงกระแทกที่ฝ่าเท้าและช่วยกระจายน้ำหนักให้มีความสมดุลสม่ำเสมอของฝ่าเท้า ขณะออกกำลังกายควรยืดกล้ามเนื้อน่องและยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นประจำ อีกทั้งควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไปเพราะถ้าน้ำหนักตัวมากจะทำให้ข้อต่อต่างๆต้องรับน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

การดูแลตัวเองก่อนเล่นกีฬา

  1. ก่อนวิ่งมาราธอนควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ  ช่วยลดการบาดเจ็บ และยังช่วยให้วิ่ง ได้ระยะทางไกลขึ้น
  2. ควรฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดที่อยู่บริเวณ iliotibial band ให้ดีเพื่อให้เกิดการคุ้นชินและรับรองการวิ่งมาราธอนในระยะเวลาที่ยาวนานได้
  3. หารองเท้าที่เหมาะสมกับสรีระของเรา
  4. ดื่มน้ำเปล่าวันละ 2 ลิตร
  5. รู้จักความพอดีของการวิ่งที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายเรา



Credit : https://www.avarinshop.com/iliotibial-band-syndrome-itbs/

การดูแลตัวเองหลังเล่นกีฬา

    1. เน้นยืดกล้ามเนื้อด้วยท่ากายบริหารคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น อี้จินจิง 意筋经เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
    2. พักการวิ่ง หรือวิ่งให้ลดลงในช่วงที่มีการอักเสบ หากีฬาประเภทอื่นเพื่อเสริมสมรรถภาพเช่น ว่ายน้ำ เป็นต้น
    3. พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

ท่ากายบริหารสำหรับโรคกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบ

1. Iliotibial band stretch: Standing


วิธีการ : ยื่นขาข้างใดข้างหนึ่งไปด้านหน้า จากนั้นก้มตัวลงเพื่อแตะปลายเท้าให้เกิดการตึงตัวของกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกประมาน 30 วินาที ทำเซตละ10 ครั้ง

2. Hamstring stretch on wall


วิธีการ : ยืดกล้ามเนื้อกลุ่มHamstring โดยให้ผู้ป่วยยกขาข้างที่ต้องการยืดเหยียด ยกขึ้นพาดกับกำแพงให้เกิดการตึงตัวค้างไว้ 30 วินาที ทำเซตละ 10 ครั้ง

 3. Side-lying leg lift



วิธีการ : ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงยกขาขึ้นทางด้านข้าง ให้สูงประมาน8-10นิ้วและเอาขาลง ทำเซตละ 10 ครั้ง

 4. Iliotibial band stretch: Side-bending


วิธีการ : ให้ผู้ป่วยไขว้ขาด้านที่ต้องการยืดไปด้านหลังของขาอีกข้าง หลังจากนั้นยกมือข้างเดียวกันโค้งขึ้นเหนือศีรษะแล้วเอียงตัวไปด้านข้าง ทำค้างไว้ 30 วินาที ทำเซตละ 10 ครั้ง

5. Quadriceps stretch

วิธีการ : ให้ผู้ป่วยยืนหันข้างให้กำแพง ใช้มือข้างหนึ่งประคองตัวโดยยันกำแพงไว้ ส่วนมืออีกข้างจับข้อเท้าข้างที่ต้องการยืด ไปด้านหลังเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ทำค้างไว้ 30 วินาที

บทความโดย

แพทย์จีน ชนาธิป ศิริดำรงค์
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1490
คลินิกทุยหนาและกระดูก 

-----------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

1. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 1.  กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.

2. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3.  นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554

3. https://www.vrunvride.com/common-running-injuries-how-to-treat-and-prevent/ 

4. https://citytrailrunners.com/2019/07/24/commonrunnerinjury/

5. https://m.baidu.com/bh/m/detail/vc_16039198734879386793

6. https://www.runnercart.com/blog/69-itbs-iliotibial-band-syndrome-

7. https://www.blockdit.com/posts/5da73a57a0725f5767a466a3

--------------------------------------------------------------------

 สอบถามข้อมูลการดูแลรักษาสุขภาพ
โดยหลักการและวิธีทางตามธรรมชาติ ใช้อินเพื่อเสริมหยาง ใช้หยางเพื่อเสริมอิน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนแบบผสมผสาน

    LINE OA : @HuachiewTCM

คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
สถานพยาบาลการแพทย์แผนจีนต้นแบบ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย
 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้