Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 7306 จำนวนผู้เข้าชม |
กอล์ฟเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงและน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยการเล่นกอล์ฟสมัยใหม่เริ่มขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 15 ในประเทศสกอตแลนด์และปัจจุบันได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก การเล่นกอล์ฟนั้นต้องใช้สมาธิและทักษะทางกายภาพหลายด้าน เช่น ทักษะด้านการทรงตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรวมถึงการประสานสัมพันธ์ของร่างกายเพื่อการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและแม่นยำ
อาการปวดจากกีฬากอล์ฟ
กอล์ฟ หนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมเล่นและแข่งขันกันในทุกเพศทุกวัย ทั้งระดับอาชีพและสมัครเล่น แม้กอล์ฟดูเหมือนจะเป็นกีฬาที่ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เพราะไม่มีการปะทะร่างกายเหมือนกีฬาชนิดอื่น แต่ด้วยท่าทางการใช้ร่างกายของนักกอล์ฟอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่ไม่อาจมองข้ามได้ ถ้าหากผู้เล่นขาดทักษะทางกายภาพดังกล่าวไปแล้ว พวกเขาอาจได้รับการบาดเจ็บขณะเล่นกอล์ฟหรืออาจเล่นได้อย่างไม่มีประสิทธิ ส่วนใหญ่อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากกีฬากอล์ฟ เป็นผลจากการใช้งานมากเกินไป หรือหนักเกินไป (Over use) ถึง 80% ส่วนอีก 20% เกิดจากอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บเฉียบพลัน โดยจากการศึกษานักกอล์ฟสมัครเล่น 461 ราย มีผู้บาดเจ็บถึงร้อยละ 57.2
กอล์ฟเป็นกีฬาที่ซับซ้อนและอาศัยทักษะทางกายภาพหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวทั่วร่างกาย จากการศึกษาและเก็บข้อมูลพบว่า การตีกอล์ฟเป็นกีฬาอย่างหนึ่งที่อาจทำให้บาดเจ็บได้ ทั้งหัวไหล่ หลังส่วนล่าง ข้อศอก ข้อมือ หัวเข่า แต่ที่ต้องระวัง คือ การบาดเจ็บของข้อไหล่
อาการเจ็บข้อไหล่ (Shoulder Pain)
การทำงานของข้อไหล่
การที่ข้อไหล่มีพิสัยการเคลื่อนไหวกว้าง และสามารถเคลื่อนไหวได้หลายทิศทางนั้นอาศัยกายวิภาคของข้อไหล่ที่มีโครงสร้างกระดูกของข้อไม่มั่นคงมากนัก ข้อต่อ Glenohumeral มีลักษณะหัวกระดูก Humerus กลมและใหญ่ ในขณะที่เบ้าของข้อแบนเล็กและตื้น กล้ามเนื้อ Rotator Cuff รอบๆข้อไหล่ช่วยทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่มีความมั่นคง และไม่ทำให้ข้อไหล่เคลื่อนออกจากที่มากเกินไปนัก กล้ามเนื้อ Supraspinatus ช่วยดึง Humeral head เอาไว้กับเบ้า Glenoid ในขณะที่การร่วมกันทำงานของกล้ามเนื้อ Infraspinatus Teresminor Supscapularis และ Biceps Long Head ช่วยกดข้อไหล่เอาไว้เมื่อยกข้อไหล่อยู่เหนือศีรษะ
นอกจากนี้เอ็นของกล้ามเนื้อ Rotator Cuff ยังประสานเป็นเนื้อเดียวกับถุงหุ้มข้อไหล่ การทำงานของกล้ามเนื้อ Rotator Cuff จึงทำให้ถุงหุ้มข้อไหล่ตึงขึ้นและทำให้ข้อไหล่มั่นคงขึ้นด้วย การทำงานของกล้ามเนื้อเหล่านี้ช่วยทำให้ Humeral head เคลื่อนไหวอยู่กลางเบ้า
อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ยังต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของสะบัก (Scapulothoracic) ข้อด้านนอกกระดูกไหปลาร้า (Acromio-clavicular joint) และ ข้อไหปลาร้าด้านใน (Sternoclavicular joint) และยังอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณสะบักอีกหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกล้ามเนื้อยกกระดูกสะบัก เช่น Levator scapular และ Upper Trapezius กลุ่มกล้ามเนื้อกางและยกสะบัก เช่น Serratus Anterior กลุ่มกล้ามเนื้อหุบสะบัก เช่น Middle Trapezius และ Rhomboid เป็นต้น
การบาดเจ็บของข้อไหล่
กล้ามเนื้อหลักที่ช่วยพยุงข้อไหล่ (กล้ามเนื้อ Rotator Cuff) ประกอบไปด้วย 4 มัด supraspinatus muscle, infraspinatus muscle, teres minor muscle และ subscapularis muscle ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มความมั่นคงและให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ เมื่อต้องใช้แรงในการบิดหมุนปริมาณมากด้วยท่าทางของวงสวิง จังหวะที่เส้นเอ็นที่ตึงถูกดึงกระชากอย่างรวดเร็ว อาจเกิดการเสียดสีกับกระดูก เอ็นหัวไหล่จึงเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าที่ไหล่อยู่ในลักษณะหมุนเข้าในและยกแขนสูงเหนือศีรษะ หากหัวไหล่ถูกใช้งานซ้ำๆ เป็นประจำ ส่งผลให้เอ็นรอบๆ เกิดการกดทับและเสียดสีของเอ็นข้อไหล่ซ้ำๆ อาจมีความเสี่ยงที่เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ทำให้เกิดอาการปวด ไหล่ติดและไม่สามารถเล่นกอล์ฟต่อได้
Credit : www.msdmanuals.cn
อาการแสดง
อาการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
1. Painful / Freezing Stage
เป็นช่วงที่มีอาการปวดข้อไหล่มากที่สุด ปวดมากขึ้นเมื่อนอนทับไหล่ข้างที่มีอาการ ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้จำกัด แต่เคลื่อนไหวได้มากกว่าช่วง frozen stage ช่วงนี้กินเวลาประมาณ 6 - 12 สัปดาห์
2. Frozen Stage
ช่วงอาการปวดไหล่จะลดลง แต่ไหล่จะติดมากขึ้น ช่วงนี้กินเวลาประมาณ 4 - 6 เดือน
3. Thawing Stage
เป็นช่วงที่อาการข้อติดค่อย ๆ ดีขึ้น สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้มากขึ้น ช่วงนี้ใช้ระยะเวลาเป็นมากกว่า1 ปี
จุดกดเจ็บ
การคลำบริเวณข้อไหล่สามารถคลำส่วนนูนของกระดูกข้อ และคลำส่วนที่เป็นเอ็นและกล้ามเนื้อ ส่วนที่เป็นกระดูกและข้อทางด้านหน้าที่คลำได้ ได้แก่ ข้อ Sternoclavicle joint, กระดูก Clavicle, ข้อ Acromioclavicular joint, ตุ่มกระดูก Acromion Process, ตุ่มกระดูก Coracoid Process, หัวกระดูก Huneral Head, กระดูก Greater tuberosity, กระดูก Lesser Tuberosity และ ร่องกระดูก Bicipital Groove ส่วนทางด้านหลัง ได้แก่ กระดูกสะบักและขอบทุกด้าน การคลำกล้ามเนื้อและส่วนเอ็นต่างๆ เพื่อคลำหาจุดกดเจ็บและลักษณะอาการบวมของส่วนต่างๆของบริเวณข้อไหล่
พิสัยการเคลื่อนไหวจำกัด
ข้อไหล่ที่ปกติสามารถเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆได้ ดังนี้
- ยกแขนไปด้านหน้า (Flexion) 180 องศา
- ดันแขนไปด้านหลัง (Extension) 50 องศา
- กางแขนไปด้านข้าง (Abduction) 180 องศา
- หุบแขน (Adduction) 40 องศา
- หมุนไหล่เข้าด้านใน (Internal rotation) 90 องศา
- หมุนไหล่ออกด้านนอก (External rotation) 90 องศา
ในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บ จะทำให้พิสัยการเคลื่อนไหวจำกัด เช่น เอ็นข้อไหล่อักเสบ เมื่อผู้ป่วยกางแขนภายในช่วง 30° พิสัยการเคลื่อนไหวจำกัด เมื่อกางแขนในระยะ 60°-120° จะรู้สึกปวดอย่างรุนแรง พิสัยการเคลื่อนไหวจำกัด แต่เมื่อเลยระยะดังกล่าว ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างปกติ
Credit : www.sohu.com
การทำงานของกล้ามเนื้อ
การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อแต่ละมัดตรวจในทิศทางของแขนตามการทำงานของกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ การอ่อนกำลังของมัดกล้ามเนื้ออาจแสดงภาวะการฉีกขาดของมัดกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อ การทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญๆ เช่น
- กล้ามเนื้อ Supraspinatus
ทำหน้าที่กางข้อไหล่ (Abduction)
- กล้ามเนื้อ Subscapularis
ทำหน้าที่หมุนข้อไหล่เข้าด้านใน (Internal rotation)
- กล้ามเนื้อ Infraspinatus
ทำหน้าที่หมุนข้อไหล่ออกด้านนอก (External rotation)
- กล้ามเนื้อ Biceps
ทำหน้าที่งอข้อศอก (Elbow flexion), หงายมือ (supination) และโยกแขนไปด้านหน้า (Shoulder flexion)
การถ่ายภาพรังสี
การวินิจฉัยสามารถทำได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจภาพรังสีมักไม่พบความผิดปกติ แต่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น วัณโรคกระดูกบริเวณหัวไหล่ เนื้องอก หรือกระดูกหัก เป็นต้น
การรักษากลุ่มอาการบาดเจ็บจากกีฬากอล์ฟ
ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน จัดอยู่ในขอบเขตของ โรคจิ่นซาง 筋伤 มักเกิดจากความเย็นภายนอกมากระทบ หรือ บาดเจ็บเฉียบพลัน หรือ เรื้อรัง กระทำต่อเส้นทางเดินลมปราณและเส้นเอ็นที่ผาดผ่านบริเวณไหล่
เมื่อการไหลเวียนของเส้นลมปราณถูกอุดกลั้น ทำให้เลือดและชี่ติดขัดก่อให้เกิดอาการปวดหรือชา เมื่อสะสมเป็นเวลานาน ทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนติดขัดหรือไม่คล่อง เกิดการคั่งทำให้เกิดการบวมติด จนไหล่เคลื่อนไหวลดลงในที่สุด ซึ่งตำแหน่งปวดช่วยบอกตำแหน่งโรค ได้แก่
1. ยกแขนไปด้านหลังแล้วปวด ปวดบริเวณจุดจงฟู (中府LU 1)
โรคอยู่ที่เส้นไท่อิน
2. กางแขนออกแล้วปวด ปวดบริเวณจุดเจียนหยวี (肩髃LI 15)
เจียนเหลียว (肩髎TE 14) กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหัวไหล่ (deltoid)
โรคอยู่ที่เส้นหยางหมิงและเส้นเส้าหยาง
3. หุบแขนเข้าแล้วปวด ปวดบริเวณจุดเจียนเจิน(肩贞 SI9)
เน่าซู (臑俞 SI10)
โรคอยู่ที่เส้นไท่หยาง
หลักในการรักษา
คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ
กระตุ้นการไหลเวียนเลือดระงับปวด
(舒筋通络,活血止痛)
วิธีรักษา | Painful/Freezing Stage | Frozen Stage | Thawing Stage |
อาการ | เป็นช่วงที่มีอาการปวดมากที่สุด อาการปวดมากขึ้นตอนกลางคืน หรือนอนทับไหล่ข้างที่มีอาการ ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้จำกัด แต่เคลื่อนไหวได้มากกว่าช่วง frozen stage เวลาประมาณ 6 - 12 สัปดาห์ | อาการปวดไหล่ จะลดลง แต่ไหล่จะติดมากขึ้น เวลาประมาณ 4 - 6 เดือน | อาการปวด ลดลง สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้มากขึ้น เวลามากกว่า 1 ปี |
ฝังเข็ม |
จุดหลัก จุดเจียนยหวี (肩髃LI 15) เจียนเจิน (肩贞SI9) ปี้เน่า (臂臑LI14) จุดเสริม 1.โรคอยู่ที่เส้นไท่อิน ยกแขนไปด้านหลังแล้วปวด เลือกจุดจงฟู่ (中府LU 1) 2.โรคอยู่ที่เส้นหยางหมิงและเส้นเส้าหยาง กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหัวไหล่ (deltoid) กางแขนออกแล้วปวด เลือกจุดเจียนหยวี (肩髃 LI 15), เจียนเหลียว (肩髎 TE 14) 3.โรคอยู่ที่เส้นไท่หยาง หุบแขนเข้าแล้วปวด เลือกจุดเจียนเจิน(肩贞 SI 9), เน่าซู (臑俞 SI 10) จุดไกล กระตุ้นระบายจุดไกล พร้อมกับขยับเคลื่อนไหวข้างที่มีอาการ เช่น 1.กระตุ้นระบายจุดหยางหลิงเฉฺวียน (阳陵泉GB34) ซึ่งเป็นจุดอิทธิพลต่อเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นและลั่วขับเคลื่อนคล่อง ลมปราณไหลเวียนดี ลดอาการปวด 2.กระตุ้นระบายจุดเถียวโข่ว (条口ST38) กับ จุดเฉิงซาน (承山 BL57) พร้อมกับขยับไหล่ข้างที่มีอาการ สามารถเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวได้ดี |
ทุยหนา |
หัตถการคลายกล้ามเนื้อ
หัตถการรักษา
หัตถการสิ้นสุดการรักษา
|
|
ยาจีน | ตำรายาเสี่ยวหัวลั่วหว่าน 小活络丸 วิธีการรักษา ขจัดลม ขับความชื้น ขับเสมหะ ทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียน ระงับปวด 祛风除湿、化痰通络、 活血止痛 วิธีใช้ รับประทานหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ข้อควรระวัง ระมัดระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองและอัมพฤกษ์ ห้ามใช้ในบุคคลที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ | ตำรับยาทงปี้ทัง 通痹汤 วิธีการรักษา บำรุงชี่และเลือด บำรุงตับและไต ขับลมทะลวงเส้นลมปราณ ขับเย็นระงับปวด 益气养血、补益肝肾、 祛风通络、散寒止痛 วิธีใช้ รับประทานหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น |
พอกยา | ยาพอกเซียวจ่งซ่าน 消肿散 วิธีการรักษา ลดปวด ระงับอาการปวด ข้อบ่งใช้ ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ วิธีใช้ บดเป็นผง ผสมกับน้ำ ใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวดบวม วันละ 1 ครั้ง 4-6 ชั่วโมง ข้อควรระวัง หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ |
อบยา | ไม่แนะนำอบยา | ตำรับยาไห่ถงผีทัง 海桐皮汤 วิธีการรักษา เพิ่มการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด (活血散瘀,通络止痛) วิธีใช้ อบแขนท่อนล่าง ประมาณ 15-20 นาที วันละ 1 ครั้ง ข้อควรระวัง หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ |
การดูแลตัวเองก่อนและหลังเล่นกีฬา
1. ต้องฝึกความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นสม่ำเสมอ ซึ่งเส้นเอ็นกล้ามเนื้อเปรียบเสมือนยางยืด มีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง แต่ก็มีความเสื่อมสภาพลงตามวัย ความยืดหยุ่นจะถดถอยเปรียบเหมือนยางยืดที่ตากแดดทิ้งไว้นาน จะมีความฝืดแข็งและเมื่อเกิดการยืดบ่อยๆ จะทำให้เกิดการฉีกขาดได้ง่าย ฉะนั้นการฝึกความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นอยู่เสมอ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
2. การวอร์มอัพร่างกายก่อนการเล่นกีฬา มีความสำคัญต่อเส้นเอ็น โดยจะช่วยเตรียมความยืดหยุ่นให้เส้นเอ็นที่จะใช้งานในการเล่นกีฬาให้พร้อมสำหรับการใช้งาน
3. ฝึกเทคนิคการตีกอล์ฟให้ถูกต้อง เพราะถ้าไม่ถูกวิธีเป็นสาเหตุหนึ่งของการบาดเจ็บได้ ทั้งการตั้งวงสวิง ระดับของแขน การเหยียดหลัง การงอเข่า การชะลอ การเหวี่ยงหลังจากตีลูกไปแล้ว ถ้าทำไม่ถูกวิธีก็จะมีผลให้เกิดแรงที่กระทำต่อข้อต่อมากเกินไป ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อข้อต่อได้
4. เสริมสร้างกล้ามข้อไหล่โดยใช้ท่าบริหาร เช่น ท่าเหิงต่านเจี้ยงหมอชู่ (横担降魔杵)เป็นท่าพื้นฐานของ คัมภีร์กำลังภายในเส้าหลิน ที่เน้นการบริหารกล้ามเนื้อ คอ ไหล่ อก ข้อมือและนิ้วมือ ช่วยเพิ่มทักษะของท่านวดทุยหนา เช่น ท่าผลัก (ทุยฝ่า 推法) ท่าตี (จีฝ่า击法) ท่ากด (ท่าอั้นฝ่า 按法) เป็นต้น
ยังสามารถใช้เป็นท่าในการบริหารสำหรับโรคกระดูกต้นคอเสื่อม เอ็นข้อไหล่อักเสบ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง กล้ามเนื้อลีบในผู้สูงอายุ
ท่าเหิงต่านเจี้ยงหมอชู่
1. ท่าเตรียม ยืนตรง กางขาออกเท่ากับระยะห่างของไหล่ทั้งสองข้าง
2. หายใจเข้า พร้อมกับกางแขนทั้งสองข้างออก ให้หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ฝ่ามืออยู่ในระนาบเดียวกัน พลิกฝ่ามือลง นิ้วมือชิดกัน
3. หายใจออก พร้อมกับค่อยๆปล่อยแขนทั้งสองข้างลงข้างลำตัว
ท่าเฟิงไป่เหอเย่ (风摆荷叶)
เป็นท่าพื้นฐานของ คัมภีร์กำลังภายในเส้าหลิน ที่เน้นการฝึกกำลังภายในและความแข็งแกร็งของภายนอก เมื่อฝึกฝนเป็นเวลานาน สามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรง กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด บำรุงหยวนชี่ นอกจากนี้ยังช่วยบริหารของกล้ามเนื้อ pectoralis major, supraspinatus, biceps, total extensor digit, extensor carpi ulnaris และ extensor carpi radialis longus ให้แข็งแรง
1. ท่าเตรียม ยืนตรง กางขาออกเท่ากับระยะห่างของไหล่ทั้งสองข้าง
2. งอข้อศอกทั้งสองข้าง นำฝ่ามือวางไว้ด้านข้างลำตัว ระดับเดียวกับเอว นิ้วหัวแม่มือตั้งขึ้น สี่นิ้วที่เหลือชิดเข้าหากัน
3. ค่อยๆดันฝ่ามือทั้งสองไปข้างหน้า ให้ฝ่ามือประสานกัน บริเวณระดับเดียวกับหน้าอก พร้อมกับงอศอกเล็กน้อย
4. เปล่งเสียง พร้อมกับหมุนแขนไปด้านนอก กางแขนออกไปด้านข้างอย่างช้าๆ จนถึงแนวระนาบเดียวกับหัวไหล่ ฝ่ามือทั้งสองข้างสูงระดับเดียวกับหัวไหล่ หายใจอย่างเป็นธรรมชาติและมีสติ
5. เปล่งเสียง นำฝ่ามือทั้งสองค่อยๆกลับเข้ามาประสานเข้าด้วยกันอย่างช้าๆ บริเวณระดับเดียวกับหน้าอก นำฝ่ามือทั้งสองข้างซ้อนกัน และงอข้อศอกทั้งสองข้างเล็กน้อย
6.เก็บมือทั้งสองข้างไปไว้ที่เอว แล้วเท้าเอวไว้
7.เหยียดแขน ข้อศอกและหักข้อมือออกไปข้างหลัง จากนั้นกลับไปอยู่ท่าเตรียม
การดูแลตนเองสำหรับนักกีฬากอล์ฟ
หลังเกิดการบาดเจ็บ
1. หลังการบาดเจ็บเฉียบพลัน ควรพักการเล่นช่วง 2-3 วันแรก
2. รักษาความอบอุ่นบริเวณข้อไหล่อยู่เสมอ
3. หลังการบาดเจ็บ 24-48 ชั่วโมงแรก มีอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ให้ประคบเย็น ครั้งละ 15 นาที อาจพอกยา 消肿散 ร่วมด้วย หลังจากนั้นเริ่มบริหารเส้นเอ็นหัวไหล่ร่วมกับการประคบอุ่น ครั้งละ 15 นาที
จุดฝังเข็มตามทฤษฎีเส้นลมปราณ
จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณไท่อินปอด (LU)
รหัสจุด | ชื่อจุด | ตำแหน่ง | ข้อบ่งใช้ |
LU 1 | จงฟู่ 中府 | อยู่ในช่องซี่โครงที่ 1 ห่างจากแนวกึ่งกลางหน้าอก 6 ชุ่น หรืออยู่ด้านนอกหัวนม 2 ชุ่น | ไอ หอบ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก เจ็บหลังและไหล่ |
จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณหยางหมิงลำไส้ใหญ่ (LI)
รหัสจุด | ชื่อจุด | ตำแหน่ง | ข้อบ่งใช้ |
LI11 | ชวีฉือ 曲池 | อยู่ด้าน radial ของข้อศอก งอข้อศอกเป็นมุม 90 องศา จุดนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างจุดฉื่อเจ๋อ กับ lateral epicondyle ของกระดูก humerus | โรคตามเส้นลมปราณ ปวดไหล่ ปวดบั้นเอว แขนอักเสบ และบวมข้อศอกปวด และจำกัดการเคลื่อนไหว ข้อศอก และแขนเกร็งหรืออ่อนแรง แขนลีบ และอ่อนแรง อัมพาตครึ่งซึก โรคของศรีษะและอวัยวะรับความรู้สึก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เสียงอื้อในหู หูหนวก ปวดบริเวณด้านหน้าของหู ตาแดง และปวด สายตาพล่ามัว ปวดฟัน คอบวม เจ็บคอ โรคทางเดินหายใจ ไอ หอบหืด แน่นหน้าอก กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ โรคทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก อาเจียน ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ โรคทางจิต mania depression and insanity, timidness โรคอื่นๆ โรคคอพอก โรคผื่นเป็นน้ำเหลือง โรคลมพิษ โรคหิดเหา โรคไฟลามทุ่ง โรคฝีคัณฑสูตร ผิวแห้ง โรคความดันโลหิตสูง โรคไข้ โรคหวัด เป็นไข้เนื่องจากความเย็น มาลาเรีย เบาหวาน บวม เต้านมอักเสบ คออักเสบ เป็นต้น |
LI14 | ปี้เน่า 臂臑 | อยู่ด้าน radial ของต้นแขนตรงปลายมุมล่างสุดของกล้ามเนื้อ deltoid บนแนวเส้นต่อระหว่างจุดชวีฉือกับจุดเจียนยหวี เหนือจุดชวีฉือ 7 ชุ่น | ปวดไหล่และแขน คอเกร็ง โรคตา ต่อมน้ำเหลือง |
LI15 | เจียนยอวี๋ 肩髃 | Acromian เฉียงลงหน้าที่มีรอยบุ๋ม ระหว่าง acromion กับ greater tuberosity ของกระดูก humerus กางแขนขึ้น 90 องศา หัวไหล่จะเกิดรอยบุ๋ม 2 รอย จุดนนี้อยู่ตรงบุ๋มหน้าซึ่งใหญ่กว่า | ปวดเกร็งไหล่ และแขน ลมพิษ วัณโรคต่อมน้ำเหลือง |
จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณหยางหมิงกระเพาะอาหาร (ST)
รหัสจุด | ชื่อจุด | ตำแหน่ง | ข้อบ่งใช้ |
ST38 | เถียวโข่ว 条口 | อยู่ขอบด้านนอกด้านหน้าของขา โดยอยู่ตำแหน่งต่ำจาก จุดตู๋ปี๋ (犊鼻) (ST35) 8 ชุ่นและอยู่ห่างจากสันหน้าด้านนอกของกระดูก tibia 1 นิ้วมือ | ไอ หอบ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก เจ็บหลังและไหล่ |
จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณไท่หยางลำไส้เล็ก (SI)
รหัสจุด | ชื่อจุด | ตำแหน่ง | ข้อบ่งใช้ |
SI9 | เจียนเจิน 肩贞 | อยู่ด้านหลัง และล่างต่อข้อไหล่ อยู่เหนือขอบรักแร้ ด้านหลัง 1 ชุ่น ในท่าแขนแนบลำตัว | ปวดไหล่ ปวดแขน วัณโรคต่อมน้ำเหลือง เสียงอื้อในหู |
SI10 | เน่าซู 臑俞 | อยู่บนไหล่ เหนือขอบรักแร้ด้านหลัง อยู่ในรอยบุ๋มใต้ต่อ spine scapula | ปวดไหล่ ปวดแขน วัณโรคต่อมน้ำเหลือง |
SI11 | เทียนจง 天宗 | อยู่กึ่งกลาง infraspinous fossa ตรงกับกระดูกสันหลังส่วนอก T4 | ปวดสะบัก หายใจหอบ เต้านมอักเสบ แน่นอึดอัด หายใจไม่คล่อง |
SI12 | ปิ่งเฟิง 秉风 | อยู่บนกระดูกสะบัก ตรงศูนย์กลางของ supraspinatous fossa ซึ่งจะเห็นเป็นรอยบุ๋ม เมื่อยกชูแขน | ปวดบริเวณสะบัก ชา และปวดบริเวณแขน ส่วนบน |
จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณไท่หยางกระเพาะปัสสาวะ (BL)
รหัสจุด | ชื่อจุด | ตำแหน่ง | ข้อบ่งใช้ |
BL57 | เฉิงซาน 承山 | อยู่ที่น่อง ใต้จุดเหว่ยจง (BL40) 8 ชุ่น บนแนวเส้นต่อระหว่างจุดเหว่ยจง กับจุดตัดระหว่างเส้นระนาบตาตุ่มนอก กับเส้นแนวกึ่งกลางเอ็นร้อยหวาย เวลาเขย่งเท้าหรือกระดกปลายเท้า จะเกิดรอยบุ๋มตรงด้านล่างกล้ามเนื้อ | ปวดขาชา |
จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณเส้าหยางซานเจียว (TE)
รหัสจุด | ชื่อจุด | ตำแหน่ง | ข้อบ่งใช้ |
TE14 | เจียนเหลียว 肩髎 | รอยบุ๋มหลังของไหล่ ขณะกางแขนออกด้านข้าง (acromion เฉียงลงหลัง) | อาการเฉพาะที่ เช่น ปวดไหล่ ไหล่ขัด |
บทความโดย
แพทย์จีน กรกฎ คุณโฑ (โจว เฉิง)
周承 中医师
TCM. Dr. Koraghod Khuntho (Zhou Cheng)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1107
เอกสารอ้างอิง
1. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. การฝังเข็ม รมยา เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.
2. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3. นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554
3. วรพล ทาราศี,“การบาดเจ็บที่มีสาเหตุจากการเล่นกอล์ฟ และแนวทางการป้องกัน” ,Srinagarind Medical Journal, Volume 26 Number 4
4. แพทย์เตือน เล่นกอล์ฟผิดท่าระวังเอ็นหัวไหล่ขาด. สืบค้น 12 เมษายน2564, จาก https://www.vejthani.com/th/2015/09/เอ็นหัวไหล่ขาด/
5. การบาดเจ็บที่พบบ่อยในกีฬากอล์ฟ. สืบค้น 12 เมษายน2564, จาก https://chivacare.com/th-golf-injuries/
6. xujun. tuinagongfaxue. shanghai : shanghai Science&Technology Publishing House, 2011.
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567