แนวทางการร่วมรักษาโรคไวรัส COVID-19 ด้วยการฝังเข็มและรมยา ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  14925 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แนวทางการร่วมรักษาโรคไวรัส COVID-19 ด้วยการฝังเข็มและรมยา ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2

The Guidelines on Acupuncture and Moxibustion Intervention for COVID-19 (second edition)
แนะนำโดย WORLD FEDERATION OF ACUPUNCTURE AND MOXIBUSTION SOCIETIES (WFAS)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ชื่อย่อคือ COVID-19) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันชนิดหนึ่ง มีลักษณะการแพร่กระจายโรคสูง สามารถติดเชื้อได้ง่าย จึงคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง  

โรคไวรัส COVID-19  ได้ถูกบรรจุลงในกฎหมายการป้องกันและรักษาโรคติดต่อแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Law of the People’s Republic of China on the Prevention and Treatment of Infectious Diseases) กำหนดเป็นโรคติดต่อประเภท B  (class B infectious disease) ให้ใช้การจัดการควบคุมโรคแบบโรคติดต่อประเภท A (class A infectious disease) 



การแพทย์แผนจีนจัด โรค COVID-19 อยู่ในขอบเขตของ  “ โรคระบาด ( “疫” อี้ ) ”   ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมานับเป็นระยะเวลาอันยาวนานที่ศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้กับโรคระบาด ได้สั่งสมและอุดมไปด้วยประสบการณ์การรักษาอย่างมากมาย การฝังเข็มและรมยาถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งมีคุณลักษณะเฉพาะตัวและมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์การต่อสู้กับโรคระบาดในประเทศจีน จนมีหลักฐานการบันทึกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคระบาดด้วยการฝังเข็มและรมยาในคัมภีร์โบราณของศาสตร์การแพทย์แผนจีน



ดังเช่น ในสมัยราชวงศ์ถัง (唐代) แพทย์จีนซุนซือเหมี่ยว (孙思邈) ได้กล่าวไว้ในตำรา “เป้ยจี๋เชียนจินเหย้าฟาง《备急千金要方》” ว่า “หากจะเดินทางไปยังแคว้นอู๋หรือแคว้นสู่ต้องทำการรมยา 2-3 ตำแหน่ง อย่าให้แผลจากการการรมยานั้นแห้งสนิท พิษจากเชื้อโรคระบาดทั้งหลายจึงจะไม่สามารถเข้ามารุกรานร่างกายได้” 

สมัยราชวงศ์หมิง (明代) แพทย์จีนหลี่สือเจิน (李时珍) ได้อธิบายไว้ในตำรา “เปิ๋นเฉ่ากังมู่《本草纲目》”ว่า



“เมื่อนำ อ้ายเยว่ (艾叶)  มารมยา สามารถทะลวงเส้นลมปราณทั้งหมด จึงรักษาโรคทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยก่อโรคภายนอกได้ ทำให้ผู้ป่วยหนักกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง  สรรพคุณนั้นมากมายนัก”
ล้วนบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าการฝังเข็มและรมยานั้น สามารถป้องกันและรักษาโรคติดต่อได้

 

ปัจจุบันผลการวิจัยทางคลินิกและห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า การฝังเข็มและการรมยาสามารถปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีสรรพคุณต้านการอักเสบ ต้านการติดเชื้อ ค่อนข้างได้ผลดีในการป้องกันและรักษาโรคติดต่อ  เมื่อต้องเผชิญกับโรคไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน การฝังเข็มและรมยาของศาสตร์การแพทย์แผนจีนก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาอย่างแข็งขันและพบว่าได้ผลค่อนข้างดี

จากความรู้ความเข้าใจในโรคไรัส COVID-19 ในเชิงลึกที่มากขึ้นร่วมกับการสั่งสมประสบการณ์จากการวินิจฉัยและรักษาโรคของการแพทย์แผนจีนฝังเข็มและรมยา พวกเราจึงได้จัดทำแนวทางการร่วมรักษา (Intervention) ด้วยการฝังเข็มและรมยาที่แนะนำสำหรับโรคไวรัส COVID-19 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่2) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้อ้างอิงเป็นแนวทางปฏิบัติในการฝังเข็มรมยาและแนะแนวแก่ผู้ป่วยขณะกักตัวอยู่บ้าน โดยอ้างอิงจากแนวทางการวินิจฉัยรักษาโรคไวรัส COVID-19  (ทดลองใช้ฉบับที่6) และ แนวทางปฏิบัติในการฟื้นฟูโรคไวรัส COVID-19 ระยะฟื้นฟูด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน (ฉบับทดลองใช้) ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานบริหารทั่วไปการแพทย์แผนจีน

 1.   หลักการร่วมรักษา (Intervention) ด้วยการฝังเข็มและรมยา
1.1 การฝังเข็มรมยาเพื่อร่วมรักษาโรคในระยะแพร่กระจาย ควรปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยรวมทั้งหมด จะต้องดำเนินการตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างเป็นระบบระเบียบภายใต้การดูแลของสายงานการแพทย์ในทุกระดับชั้น   ระหว่างการรักษาด้วยการฝังเข็มนั้นจะต้องปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดตามข้อกำหนดการแยกกักตัวผู้ป่วยและหลักการทำให้ปลอดเชื้อ

-  กรณีผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อและผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นฟูแล้ว สามารถทำหัตถการฝังเข็มให้ผู้ป่วยหลายคนในห้องเดียวกันได้

-  กรณีผู้ป่วยต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อให้แยกทำหัตถการฝังเข็มผู้ป่วยแต่ละคนในห้องสำหรับผู้ป่วยคนเดียว

-  ในผู้ป่วยรายที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ หากจะใช้วิธีการรมยา ต้องปฏิบัติภายใต้ความปลอดภัย

1.2 ในการวินิจฉัยทางคลินิก การจำแนกระยะของโรค รวมถึงการจำแนกกลุ่มอาการ (เปี้ยนเจิ้ง)
ให้ปฏิบัติตามหลักการแพทย์แผนจีนสำหรับโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)  และแผนการรักษาที่กำหนดโดย National Health Commission and the General Administration of Traditional Chinese Medicine  ในขณะเดียวกันควรคำนึงถึงลักษณะเด่นของการฝังเข็มอย่างครบถ้วนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการร่วมรักษาที่ดียิ่งขึ้น

โรคไวรัส COVID-19 จัดเป็น 1 ในโรคระบาดทั้ง 5 หรืออู่อี้ (五疫) รับเชื้อติดต่อได้ง่ายดาย บันทึกในคัมภีร์ว่า “ติดต่อแพร่เชื้อได้ง่าย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนมีอาการที่คล้ายคลึงกัน”



ชี่ของโรคระบาด “อี้ลี่” (疫戾) เข้าสู่ร่างกายผ่านทางปากและจมูก โดยส่วนใหญ่จะเข้าจู่โจมปอดก่อน แล้วจึงไปยัง ม้าม กระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดพยาธิสภาพการเปลี่ยนแปลงของโรคที่ค่อนข้างเบา มีส่วนน้อยที่ผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มหัวใจ  ตับ และไต ทำให้เกิดการเจ็บป่วยวิกฤติรุนแรง

โรคนี้มีการเปลี่ยนแปลงของโรครวดเร็ว กระนั้นก็ตามยังคงมีแกนหลักของการเกิดโรค และมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของโรคที่ชัดเจนแน่นอน




“เส้นลมปราณนั้น เชื่อมลึกถึงอวัยวะภายในของร่างกาย มีแขนงเชื่อมโยงสู่แขน-ขา ภายนอก (经脉内联脏腑、外络支节)” การฝังเข็มรมยาจึงใช้วิธีการปักเข็มกระตุ้นจุดฝังเข็มบริเวณแขน-ขา ผ่านการเชื่อมโยงของเส้นลมปราณพุ่งตรงเข้าสู่ตำแหน่งโรค กระตุ้นการทำงานและเสริมความแข็งแรงให้กับชี่ของอวัยวะภายใน (จั้งฟู่ 脏腑) ที่ไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณนั้น จนทำให้ เสียชี่ (邪气)จากโรคระบาดที่เข้ามาคุกคามจากภายนอกแตกสลายและถูกขจัดให้หมดไป เมื่อเสียชี่ก่อโรคจากภายนอกถูกขับออกไป เจิ้งชี่ (正气)ภายในจึงคืนสู่ความสงบ นอกจากนี้การกระตุ้นชี่ในเส้นลมปราณยังเพิ่มความสามารถในการปกป้องตัวเองของอวัยวะภายในและช่วยลดความเสียหายต่ออวัยวะที่เกิดจากไวรัสด้วย

1.3 หลักการฝังเข็มร่วมรักษา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามกลไกและพัฒนาการของโรค ได้แก่ ระยะสังเกตอาการ  ระยะการรักษา และระยะฟื้นฟู 

- ใช้การเปี้ยนเจิ้งตามอวัยวะภายใน (จั้งฟู่เปี้ยนเจิ้ง脏腑辨证) และการเปี้ยนเจิ้งตามเส้นลมปราณ (จิงม่ายเปี้ยนเจิ้ง经脉辨证) เป็นหลักในการเลือกใช้จุดฝังเข็ม “จุดหลัก”
- ใช้อาการแสดงทางคลินิกในการเลือกปรับ เพิ่ม-ลด จุดฝังเข็มให้เหมาะสมร่วมด้วย
- ยึดหลัก “ใช้จุดน้อยแต่ได้ผล” 
- วิธีการในการฝังเข็มรมยาสามารถปรับใช้ตามความเหมาะสม เน้นหลักความง่าย สะดวก ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
- พยายามสร้างสรรค์สภาวะที่เหมาะสม ทุ่มเทเพื่อให้การฝังเข็มมีประสิทธิผลการรักษาในทุกระยะของโรค
- ระยะการรักษาทางคลีนิกสามารถใช้การฝังเข็มควบคู่กับการทานยาจีนร่วมกันได้ 
- ระยะฟื้นฟู ควรใช้การฝังเข็มรมยาเป็นแกนหลักในการฟื้นฟูผู้ป่วย แนะนำให้มีการจัดตั้งคลีนิกเพื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยใช้การฝังเข็มรมยาเป็นหลัก 

1.4 การเลือกใช้จุดฝังเข็ม และ วิธีการฝังเข็มรมยา อ้างอิงมาจากคัมภีร์โบราณ และหลักฐานที่ได้จากการวิจัยทางคลินิกและงานวิจัยพื้นฐานในปัจจุบัน รวมถึงผลการวิจัยในอดีตที่ผ่านมาที่แสดงประจักษ์ว่าการฝังเข็มรมยาสามารถกระตุ้นกระบวนการ Neuromodulation ทำให้การทำงานของปอดดีขึ้น สามารถปรับสมดุลภูมิคุ้มกันก่อนกำเนิด (Innate immunity) ปรับสมดุล Anti-inflammatoryและpro-inflammatory factors กระตุ้นการทำงานของ Vagal-Cholinergic anti-inflammatory pathway ทำให้สามารถบรรลุผลในการปรับสมดุลระบบทางเดินหายใจและปกป้องความเสียหายจากการอักเสบของปอดได้อย่างแท้จริง

1.5 ใช้อินเตอร์เน็ต Mobile terminals และแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้อง เช่น WeChat  ในการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำการรมยา แปะแผ่นยาบนจุดฝังเข็ม หรือ นวดกดจุดฝังเข็มด้วยตนเอง โดยอยู่ภายใต้การแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านฝังเข็มรมยา อันจะช่วยให้บรรลุผลการรักษา ช่วยฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ ระมัดระวังในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ติดตามผล วินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อรวบรวมสรุปวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์

 2.   วิธีการร่วมรักษา (Intervention) โดยการฝังเข็มรมยา
การฝังเข็มในระยะติดตามเฝ้าระวัง  
(กลุ่มที่คาดว่าอาจติดเชื้อ)

วัตถุประสงค์
กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายรวมถึงการทำงานของปอดและม้าม สลายและกำจัดปัจจัยก่อโรค (เสียชี่邪气) ของโรคระบาดที่มาจากภายนอก เพื่อเพิ่มความสามารถในการยับยั้งปัจจัยก่อโรคของอวัยวะ

จุดหลัก  
(1) FengMen(风门 BL12),FeiShu(肺俞 BL13),PiShu(脾俞 BL20)
(2) HeGu(合谷 LI4),QuChi(曲池 LI11),ChiZe(尺泽 LU5),YuJi(鱼际 LU10)
(3) QiHai(气海 CV6),ZuSanLi(足三里 ST36),SanYinJiao(三阴交 SP6)
ในแต่ละครั้งใช้จุดฝังเข็มในทุกกลุ่ม เลือกใช้กลุ่มละ 1-2 จุด

จุดเสริม
- ร่วมกับมีอาการตัวร้อน คอแห้ง ไอแห้งเพิ่มจุด DaZhui(大椎 GV14),TianTu(天突 CV22),KongZui(孔最 LU6)
- ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน, ถ่ายเหลว, ลิ้นอ้วนฝ้าลิ้นเหนียว, ชีพจรเล็กนุ่มเพิ่มจุด ZhongWan(中脘 CV12),TianShu(天枢 ST25),FengLong(丰隆 ST40)
- ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง เบื่ออาหารเพิ่มจุด ZhongWan(中脘 CV12),จุดสี่ทิศรอบสะดือ (ห่างจากสะดือบนล่างซ้ายขวา 1 ชุ่น),PiShu(脾俞 BL20)
- ร่วมกับมีอาการน้ำมูกใสไหล ปวดเมื่อยไหล่และหลัง ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรหย่อนเพิ่มจุด TianZhu(天柱 BL10),FengMen(风门 BL12),DaZhui(大椎 GV14)

 
การฝังเข็มในระยะการรักษาทางคลินิก (ได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันแน่ชัดว่าเป็นโรค)
วัตถุประสงค์
กระตุ้นเจิ้งชี่ของปอดและม้าม ป้องกันและลดการเสียหายของอวัยวะ ขจัดเสียชี่ของโรคระบาด บำรุงดิน (ม้าม) เพื่อสร้างทอง (ปอด)  ยับยั้งการดำเนินของโรค ผ่อนคลายสภาวะทางอารมณ์ เพิ่มความมั่นใจในการต่อสู้กับปัจจัยก่อโรค

จุดหลัก  
(1) HeGu(合谷 LI4),TaiChong(太冲 LR3),TianTu(天突 CV22),ChiZe(尺泽 LU5),KongZui(孔最 LU6),ZuSanLi(足三里 ST36),SanYinJiao(三阴交 SP6)

(2) DaZhu(大杼 BL11),FengMen(风门 BL12),FeiShu(肺俞 BL13),XinShu(心俞 BL15),GeShu(膈俞 BL17)

(3) ZhongFu(中府 LU1),TanZhong(膻中 CV17);QiHai(气海 CV6),GuanYuan(关元 CV4),ZhongWan(中脘 CV12)

- กลุ่มอาการเบาและกลุ่มอาการทั่วไป ในทุกครั้งให้เลือกใช้จุดในกลุ่มข้อ  (1) , (2)  กลุ่มละ 2-3 จุด
- กลุ่มอาการหนักเลือกใช้จุดในกลุ่มข้อ (3)  2-3 จุด

จุดเสริม
- มีไข้ไม่ลด เพิ่มจุด DaZhui(大椎 GV14),QuChi(曲池 LI11)หรือ จุด ShiXuan(十宣 EX-UE11),เจาะปล่อยเลือดบริเวณยอดหู
- แน่นหน้าอก หายใจสั้นเพิ่มจุด NeiGuan(内关 PC6),LieQue(列缺 LU7)หรือ จุด JuQue(巨阙 CV14),QiMen(期门 LR14),ZhaoHai(照海 KI6)
- ไอมีเสมหะเพิ่มจุด LieQue(列缺 LU7),FengLong(丰隆 ST40),DingChuan(定喘 EX-B1)
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวเพิ่มจุด TianShu(天枢 ST25),ShangJuXu(上巨虚 ST37)
- ร่วมกับมีอาการไออาเจียนเป็นเสมหะเหลือง เสมหะเหนียว ท้องผูกเพิ่มจุด TianTu(天突 CV22),ZhiGou(支沟 TE6),TianShu(天枢 ST25),FengLong(丰隆 ST40)
- ร่วมกับมีอาการมีไข้ต่ำ ตัวร้อนไม่สบายตัว หรือไม่มีไข้ คลื่นไส้ ถ่ายเหลว ลิ้นซีดหรือแดงอ่อน ฝ้าขาว หรือ ขาวเหนียวเพิ่มจุด FeiShu(肺俞 BL13),TianShu(天枢 ST25),FuJie(腹结 SP14),NeiGuan(内关 PC6)

การฝังเข็มในระยะฟื้นฟู
วัตถุประสงค์
ขจัดระบายพิษที่หลงเหลืออยู่ ฟื้นฟูหยวนชี่ กระตุ้นการฟื้นฟูซ่อมแซมอวัยวะภายใน ฟื้นฟูการทำงานของปอดและม้าม

จุดหลัก
NeiGuan(内关 PC6),ZuSanLi(足三里 ST36),ZhongWan(中脘 CV12),TianShu(天枢 ST25),QiHai(气海 CV6)

1. ชี่ของปอดและม้ามพร่อง
อาการแสดง หายใจสั้น เหนื่อยอ่อนเพลียไม่มีแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่น ไม่มีแรงถ่ายอุจจาระ ถ่ายเหลว ถ่ายไม่สุด ลิ้นซีดและอ้วน ฝ้าลิ้นขาวเหนียว
- อาการของระบบปอดชัดเจนเช่น แน่นหน้าอก หายใจสั้น เพิ่มจุด TanZhong(膻中 CV17),FeiShu(肺俞 BL13),ZhongFu(中府 LU1)
- อาการของม้ามและกระเพาะอาหารชัดเจน เช่น เบื่ออาหาร ท้องเสีย เพิ่มจุด ZhongWan(中脘 CV13),YinLingQuan(阴陵泉 SP9)

2. ชี่และอินพร่อง
อาการแสดง ไม่มีแรง ปากแห้ง กระหายน้ำ ใจสั่น เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำหรือไม่มีไข้ ไอแห้ง เสมหะน้อย ลิ้นแห้งไม่ชุ่มชื้น ชีพจรเล็ก หรือ อ่อนไม่มีแรง
- อาการไม่มีแรง หายใจสั้นชัดเจน เพิ่มจุด TanZhong(膻中 CV17),ShenQue(神阙 CV8)
- อาการปากแห้ง กระหายน้ำชัดเจน เพิ่มจุด TaiXi(太溪 KI3),YangChi(阳池 TE4)
- อาการใจสั่นชัดเจน เพิ่มจุด XinShu(心俞 BL15),JueYinShu(厥阴俞 BL14)
- เหงื่อออกมาก เพิ่มจุด HeGu(合谷 LI4),FuLiu(复溜 KI7),ZuSanLi(足三里 ST36)
- นอนไม่หลับ เพิ่มจุด ShenMen(神门 HT7),YinTang(印堂 EX-HN3),AnMian(安眠 EX-HN19),YongQuan(涌泉 KI1)

3. ปอดและม้ามพร่อง เสมหะและเลือดคั่งอุดกั้นเส้นลั่ว
อาการแสดง แน่นหน้าอก หายใจสั้น ไม่อยากพูด อ่อนเพลียไม่มีแรง เหงื่อออกเมื่อเคลื่อนไหว ไอมีเสมหะ
- ขากเสมหะติดขัด ผิวหนังแห้งแตกเป็นเกล็ด จิตใจอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เป็นต้น เพิ่มจุด FeiShu(肺俞 BL13),PiShu(脾俞 BL20),XinShu(心俞 BL15),GeShu(膈俞 BL17),ShenShu(肾俞 BL23),ZhongFu(中府 LU1),TanZhong(膻中 CV17)
- ขากเสมหะติดขัด เพิ่มจุด FengLong(丰隆 ST40),DingChuan(定喘 EX-B1)

วิธีการฝังเข็มและรมยาที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เลือกใช้ให้เหมาะสมโดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและความต้องการในการบริหารจัดการ

จากระยะต่างๆที่กล่าวมาแล้วนั้น แนะนำให้รักษาตามอาการโดย ใช้การฝังเข็มเมื่อเหมาะกับการฝังเข็ม ใช้การรมยาเมื่อเหมาะกับการรมยา ใช้การฝังเข็มและการรมยาร่วมกัน หรือ ใช้ร่วมกับการแปะยาบนจุดฝังเข็ม การใช้เข็มหู การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม การกัวซา การนวดทุยหนาในเด็ก การนวดกดจุด เป็นต้น

ฝังเข็มโดยวิธีบำรุงและระบายเท่ากัน ทุกจุดคาเข็มทิ้งไว้ 20-30 นาที ส่วนการรมยา ทุกจุดรมยา 10-15 นาที รักษาวันละ 1 ครั้ง รายละเอียดวิธีปฏิบัติให้อ้างอิงตาม “มาตรฐานวิธีปฏิบัติและเทคนิคการฝังเข็ม” และจากประสบการณ์ทางคลินิก

3. การดูแลตนเองสำหรับผู้กักตัวในบ้านด้วยศาสตร์การฝังเข็มรมยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์
เพื่อช่วยในการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด19 ควรลดการออกนอกบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อระหว่างกัน ปิดกั้นสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่กระจาย ทั้งยังทำให้มั่นใจได้ในความปลอดภัย 

สำหรับผู้ที่กักตัวเองอยู่ในบ้านและผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน  สามารถรับการตรวจรักษาผ่านทางอินเตอร์เน็ต รับคำแนะนำและเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์  เพื่อนำศาสตร์การฝังเข็มรมยามาปฏิบัติใช้ภายใต้การแนะนำของแพทย์

1)   การรักษาด้วยวิธีรมยา
สามารถรมยาด้วยตัวเองที่จุด Zusanli (足三里ST36), Neiguan (内关PC6), Hegu (合谷LI4), Qihai (气海CV6), Guanyuan (关元CV4), Sanyinjiao (三阴交SP6)เป็นต้น แต่ละจุดรมยาประมาณ 10 นาที
คลิกอ่านรายละเอียด - การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

2)   การรักษาด้วยวิธีแปะแผ่นสมุนไพร
ใช้แผ่นแปะอ้ายจิว หรือ แผ่นครีมอ้ายจิวหรือแผ่นแปะสมุนไพรอื่น แปะที่จุด Zusanli (足三里ST36), Neiguan (内关PC6) Qihai (气海CV6), Guanyuan (关元CV4) Feishu (肺俞BL13), Fengmen (风门BL12), Pishu (脾俞BL20), Dazhui (大椎GV14) เป็นต้น

3)  นวดทุยหนาตามเส้นลมปราณ
ใช้วิธีกดจุด (点) คลึง (揉) บีบนวด (按) นวดคลึง (揉按) ตบ (拍打) เคาะ (叩击) ที่เส้นลมปราณปอด เส้นลมปราณหัวใจบริเวณแขน และ ที่เส้นลมปราณม้าม เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร บริเวณใต้เข่าลงไป นวด 15-20 นาที ในแต่ละครั้ง จนรู้สึกหน่วงตึงที่บริเวณนั้นๆ
คลิกอ่านรายละเอียด - นวดทุยหนากดจุดแบบแพทย์แผนจีนเพิ่มภูมิต้านทานป้องกัน COVID-19

 

 

 

 

 

 

 
4)  การฝึกพลังแบบดั้งเดิม
เลือกการฝึกพลังแบบดั้งเดิมที่เหมาะสมกับการฟื้นฟูสภาพร่างกายของตนเอง เช่น อี้จินจิง(คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น易筋经)  รำไทเก๊ก (太极拳)  รำปาต้วนจิ่น (八段锦)  รำอู่ฉินซี่
(五禽戏)  เป็นต้น  ฝึกวันละครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที

 

 

5) ผ่อนคลายอารมณ์
ปรับสมดุลอารมณ์  ร่วมกับการใช้จุดฝังเข็มที่ใบหู การรมยา การนวดทุยหนา การใช้อาหารเป็นยา ชาสมุนไพร การอบสมุนไพร การฟังเพลง เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย คลายความวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
"จินจินฉา" หมอจีนแนะนำชาบำรุงสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกัน Jin Jin Chinese Herbal Drink (คลิกที่นี่เพื่อดูข้อมูลอย่างละเอียด)

 

 

6)  การแช่เท้า
เลือกใช้สมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณขับลมระบายร้อนขจัดเสียชี่ออกจากร่างกาย เช่น จิงเจี้ยะ (荆芥)  อ้ายเย่ (艾叶)  ป้อเหอ (薄荷)  อวี๋ซิงเฉ่า (鱼腥草)  ต้าชิงเย่ (大青叶)  เพ่ยหลาน

(佩兰)  สือชางผู่ (石菖蒲)  ล่าเหลียวเฉ่า (辣蓼草)  อวี้จิน (郁金)  ติงเซียง (丁香)  อย่างละ 15 กรัม  พิมเสน (冰片)  3 กรัม  นำยาสมุนไพรดังกล่าวมาต้มให้น้ำยาออก เทใส่ในอ่างสำหรับแช่เท้า เติมน้ำอุ่นในปริมาณที่เหมาะสม รอให้อุณหภูมิอยู่ที่ 38-45 องศาเซลเซียส แล้วนำมาแช่เท้าประมาณ 30 นาที 

แนวทางแนะนำฉบับนี้กำหนดโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากที่ประชุมศาสตร์ฝังเข็มรมยาแห่งชาติจีน(中国针灸学会 China Association of Acupuncture-Moxibustion)
ที่ปรึกษา : 石学敏 Shi Xuemin, 仝小林 Tong Xiaolin, 孙国杰 Sun Guojie 
ประธานคณะผู้เชี่ยวชาญ : 刘保延 Liu Baoyan, 王华 Wang Hua

คณะผู้เชี่ยวชาญ : 喻晓春 Yu Xiaochun, 吴焕渝 Wu Huanyu, 高树中 Gao Shuzhong, 王麟鹏 Wang Linpeng, 方剑桥 Fang Jianqiao, 余曙光 Yu Shuguang, 梁繁荣Liang Fanrong, 兾来喜 Ji Laixi,  景向红 Jing Xianghong, 周仲瑜 Zhou Zhongyu, 马俊 Ma Jun, 常小荣 Chang Xiaorong, 章薇 Zhang Wei, 杨骏 Yang Jun, 陈日新 Chen Rixin, 赵吉平 Zhao Jiping, 赵宏 Zhao Hong, 赵百孝 Zhao Baixiao, 王福春 Wang Fuchun, 梁凤霞 Liang Fengxia, 李晓东 Li Xiaodong, 杨毅 Yang Yi, 刘炜宏 Liu Weihong, 文碧玲 Wen Biling

แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีนโดยทีมแพทย์จีนแผนกฝังเข็ม คลินิกแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
1. แพทย์จีน ปณิตา กาสมสัน            
2. แพทย์จีน ปิยะมาศ เมืองไชย
3. แพทย์จีน รติกร อุดมไพบูลย์วงศ์
4. แพทย์จีน กนิษฐา ใจเย็น
5. แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้