นาฬิกาชีวิต เคล็ดลับการดูแลสุขภาพตามหลักการเวลาธรรมชาติ

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  63226 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นาฬิกาชีวิต เคล็ดลับการดูแลสุขภาพตามหลักการเวลาธรรมชาติ

แพทย์แผนจีนเชื่อว่าธรรมชาติและมนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ธรรมชาติมี ปี ฤดู วัน เวลา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับร่างกายมนุษย์ ร่างกายของคนเรามีเส้นลมปราณหลายเส้น แต่ละเส้นมีชื่อและคุณสมบัติเฉพาะ มีจังหวะเวลาที่แน่นอน เปรียบเสมือนการอยู่เวรยาม ในเวลาที่ต่างกันของแต่ละวัน ชี่และเลือด ไหลไปยังเส้นลมปราณรวมถึงอวัยวะที่แตกต่างกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและเกิดโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากเข้าใจกฎนาฬิกาชีวิตหย่างเซิงสุขภาพ ก็จะช่วยดูแลสุขภาพและปรับวิถีชีวิตตนเองได้นั่นเอง



ชาวจีนสมัยโบราณ แบ่งเวลา 1 วันออกเป็น 12 ชั่วยาม ชั่วยามละ 2 ชั่วโมง

⏰ 5 ทุ่ม ถึง ตี 1 - ยามจื่อ 子时 Zi -> เส้นลมปราณถุงน้ำดี
⏰ ตี 1 ถึง ตี 3 - ยามโฉ่ว 丑时 Chǒu -> เส้นลมปราณตับ
⏰ ตี 3 ถึง ตี 5 - ยามอิ๋น 寅时 Yín -> เส้นลมปราณปอด
⏰ ตี 5 ถึง 7 โมงเช้า - ยามเหม่า 卯时 Mǎo -> เส้นลมปราณลำไส้ใหญ่
⏰ 7 โมงเช้า ถึง 9 โมง - ยามเฉิน 辰时 Chén -> เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร
⏰ 9 โมง ถึง 11 โมง - ยามซื่อ巳时 Sì -> เส้นลมปราณม้าม
⏰ 11 โมง ถึง บ่ายโมง - ยามอู่ 午时 Wǔ -> เส้นลมปราณหัวใจ
⏰ บ่ายโมง ถึง บ่าย 3 - ยามเว่ย 未时 Wèi -> เส้นลมปราณลำไส้เล็ก
⏰ บ่าย 3 ถึง 5 โมงเย็น - ยามเซิน 申时 Shēn -> เส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ
⏰ 5 โมงเย็น ถึง 1 ทุ่ม - ยามโหย่ว 酉时 Yǒu -> เส้นลมปราณไต
⏰1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม - ยามซวี 戌时 Xū -> เส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ
⏰ 3 ทุ่ม ถึง 5 ทุ่ม - ยามไฮ่ 亥时 Hài -> เส้นลมปราณซานเจียว
.
1. ยามจื่อ 子时 (5 ทุ่ม ถึง ตี 1) ก่อนยามจื่อต้องเข้านอน
เป็นเวลาเส้นลมปราณถุงน้ำดีทำหน้าที่ ถุงน้ำดีเก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก ทฤษฏีการแพทย์แผนจีนเชื่อว่าถุงมีน้ำดีทำหน้าที่ในการตัดสินใจ ในช่วงยามจื่อไขกระดูกเริ่มต้นสร้างเลือด และซ่อมแซมร่างกาย อวัยวะทั้งหมดในร่างกายจำต้องพึ่งพาการทำงานของถุงน้ำดี ยามจื่อเป็นเวลาที่ควรนอนหลับ การหลั่งของน้ำดีมีผลทำให้สมอง โล่งปลอดโปร่ง แจ่มใส ถ้าในยามจื่อนอนหลับเพียงพอ เส้นลมปราณถุงน้ำดีก็จะมีพลังเต็มที่ ตอนเช้าตื่นขึ้นมาสมองก็จะปลอดโปร่ง แจ่มใส ใต้ตาไม่คล้ำ ตรงกันข้ามถ้าไม่สามารถเข้านอนในยามจื่อ จะทำให้ไฟถุงมีน้ำดีย้อนขึ้นบน(胆火上逆) เกิดอาการนอนไม่หลับ ปวดศรีษะ คิดมาก กังวล ตื่นเช้าจะรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน งัวเงีย มึนงงไม่แจ่มใส ใต้ตาดำคล้ำ ขณะเดียวกันหากไม่นอนการหลั่งน้ำดีจะไม่ปกติง่ายต่อการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี
.
2. ยามโฉ่ว 丑时 (ตี 1 ถึง ตี 3) ต้องนอนให้หลับสนิท
เป็นเวลาเส้นลมปราณตับทำหน้าที่กำจัดสารพิษในร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยนำมาสังเคราะห์และเก็บสะสมในรูปไกลโคเจน และสร้างน้ำดีมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดีการแพทย์แผนจีนเชื่อว่าตับเก็บกักเลือด เวลาคนเรานอนเลือดจะเก็บที่ตับ ในเวลานอนหลับสนิทเลือดไหลเวียนมาที่ตับสามารถเพิ่มพลังชี่ของตับได้ เวลา 2.00น ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินได้สูงสุด ถ้ายามโฉ่วนอนไม่หลับตับก็ยังคงทำงาน ไม่สามารถเผาผลาญพลังงานและกำจัดพิษได้ตามปกติ ทำให้สีหน้าหมองคล้ำ เกิดกระ จุดด่างดำ อารมณ์ ร้อน โกรธง่าย และอาจนำไปสู่โรคตับ โดยเฉพาะถ้าเวลานี้ดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อตับ
.
3. ยามอิ่น 寅时 (ตี 3 ถึง ตี 5) เป็นเวลาเส้นลมปราณปอดทำหน้าที่ ควรตื่นนอน สูดอากาศบริสุทธิ์ ปอดเป็นจุดเริ่มต้นและรวบรวมพลังชี่และเลือด ตับเก็บกักเลือด สลายเซลล์เม็ดเลือดแดง นำเลือดใหม่ส่งไปปอด รวมหลอดเลือดนับร้อยแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนผ่านปอดส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เป็นจุดที่พลังชี่และเลือดเคลื่อนตัว เพื่อให้ระบบหายใจได้ทำงานได้เต็มที่ และเซลล์ต่างๆ ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ทำให้ตื่นเช้าหน้าจะมีสีเลือดฝาด สดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า
.
ในช่วง 4.00 - 5.00 น เป็นช่วงที่อุณหภูมิของร่างกาย ความดัน การเต้นของชีพจร การหายใจลดลงต่ำสุด เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าปกติ ร่างกายควรได้รับความอบอุ่น หลีกเลี่ยงสภาวะอากาศเย็น ช่วงนี้จึงเหมาะต่อการตื่นนอนเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์และออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น สำหรับคนที่ระบบหายใจหรือปอดมีปัญหา หายใจติดขัด ไอ จาม มีน้ำมูก โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบต้องระวังสุขภาพ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่อาการกำเริบได้ง่าย ในช่วงเวลานี้ทำงานจะต้องระวังเกิดการผิดพลาดหรือบาดเจ็บ ผู้ป่วยอาการหนักมักจะทรุดลงในยามอิ๋น สมองที่ได้รับออกซิเจนน้อยหรือไม่เพียงพอจะมีผลความจำของคนเราเสื่อมลงได้
.
4. ยามเหม่า 卯时 (ตี 5 ถึง 7 โมงเช้า) เหมาะแก่เวลาของการขับถ่าย ควรดื่มน้ำอุ่นช่วยขับถ่ายอุจจาระ เป็นเวลาเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่ ปอดและลำไส้ใหญ่สัมพันธ์กัน ปอดส่งเลือดใหม่ไปเลี้ยงร่างกายแล้ว ทำให้เกิดการกระตุ้นลำไส้ใหญ่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย รับกากอาหาร ดูดซึมน้ำและถ่ายอุจจาระ และมีการหลั่ง cortisol เพื่อช่วยให้ร่างกายกระปรี่กระเปร่า ถ้าลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัวดี การขับถ่ายอุจจาระก็จะดี ยามเหม่าพลังชี่และเลือดรวมอยู่ลำไส้ใหญ่ ดังนั้นเวลานี้ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
.
5. ยามเฉิน 辰时 (7 โมงเข้า ถึง 9 โมง) เวลาอาหารเช้า เป็นเวลาเส้นลมปราณกระเพาะอาหารทำหน้าที่ย่อยและการดูดซึมอาหาร เป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบทางเดินอาหาร ในเวลา 7 โมงเข้า ถึง 9 โมงทาน การได้ทานอาหารเช้า การย่อยและดูดซึมจะดีที่สุด บางคนไม่ทานอาหารเช้า กระเพาะอยู่ในช่วงอดอาหารมาตลอดทั้งคืน จะทำให้เกิดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปเสี่ยงต่อโรคกระเพาะ แผลในกระเพาะอาหาร อาหารมื้อเช้าเป็นการเติมพลังงานให้กับสมองและหัวใจให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งวัน หากไม่ทานอาหารเช้าเป็นระยะเวลานานทำให้ร่างกายไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า อ่อนเพลีย เชื่องช้า หลงลืม ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ การทานอาหารเช้ายังช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ และป้องกันโรคอ้วนได้อีกด้วย
.
6. ยามซื่อ 巳时 (9 โมง ถึง 11 โมง) ขยับตัวเล็กน้อย
เป็นเวลาเส้นลมปราณม้ามทำหน้าที่ ม้ามควบคุมการขนส่ง ควบคุมเลือด ควบคุมการย่อยการดูดซึมและกระจายสารอาหารและน้ำไปยังอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพ พลังชี่และเลือดมาจากการทำงานของม้ามและกระเพาะจากอาหารที่รับประทาน ยามซื่อนี้ร่างกายมีความตื่นตัวมาก จึงเป็นช่วงที่เหมาะต่อการ ทำงาน ทำกิจกรรม ควรออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวเล็กน้อยและ ดื่มน้ำ จะช่วยทำให้ม้ามกระจายสารอาหาร และน้ำไปยังอวัยวะสำคัญของร่างกาย
.
7. ยามอู่ 午时 (11 โมง ถึง บ่ายโมง) ควรนอนพักกลางวันสักงีบ เป็นเวลาเส้นลมปราณหัวใจทำหน้าที่ หัวใจควบคุมจิตใจ ตอนเที่ยงควรนอนกลางวันเพื่อบำรุงหัวใจ ยามอู่เป็นเวลาที่หยางชี่มากที่สุดอินชี่น้อยที่สุด ยามจื่อ 子时อินชี่มากที่สุดหยางชี่น้อยที่สุด เรียกได้ว่าจื่ออู่เป็นเวลาที่อินหยางสลับเวรกัน เป็นเวลาที่เหมาะกับการบำรุงอินบำรุงหยาง ด้วยการนอนในเวลาจื่อและอู่ กลางวันควรนอน 15-30 นาทีพักร่างกายและสมอง เพื่อความสมดุลของร่างกายทำให้ร่างกายสดชื่น
.
8. ยามเว่ย 未时 (บ่ายโมง ถึง บ่าย 3) เวลาแห่งการย่อยและการดูดซึม เป็นเวลาเส้นลมปราณลำไส้เล็กทำหน้าที่ ยามเว่ยเป็นเวลาที่ลำไส้เล็กดูดซึมสารอาหารและน้ำ จากนั้นอาศัยม้ามส่งไปหัวใจและปอดเลี้ยงร่างกาย กากอาหารจะถูกส่งต่อไปลำไส้ใหญ่ น้ำจะดูดซึมและขับออกไปที่กระเพาะปัสสาวะ ยามเว่ยเป็นเวลาที่ลำไส้เล็กทำงานดีที่สุด ฉะนั้นมื้อกลางวันไม่ควรทานเกิน 13.00 น. เพราะตั้งแต่ 13.00-15.00น.เป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับย่อยและการดูดซึม
.
9. ยามเซิน 申时(บ่าย 3 ถึง 5 โมงเย็น) ยามเซินดื่มน้ำช่วยขับปัสสาวะ เป็นเวลาเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่ เก็บสะสมปัสสาวะและขับถ่ายปัสสาวะ ยามเซินเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดื่มน้ำและขับถ่ายปัสสาวะในเวลานี้ โดยช่วง 17.00 น. เป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรง จึงเหมาะต่อการออกกำลังกาย แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักๆจะทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ สามารถเดินช้าๆหรือรำไทเก็ก
.
10. ยามโหย่ว 酉时(5 โมงเย็น ถึง 1 ทุ่ม) เป็นเวลาเส้นลมปราณไตทำหน้าที่ ไตเก็บสะสมสารจำเป็น (จิงชี่) เป็นสารที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่เก็บไว้ที่ไตมีมาแต่กำเนิด เรียกว่า “สารจำเป็นแต่กำเนิด” สารจิงควบคุมการเจริญเติบโตและความสามารถในการสืบพันธุ์ ยามโหย่วเป็นเวลาที่ของเส้นลมปราณไต หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ควรทานอาหารรสจืด
.
11. ยามซวี 戌时 (1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม) ยามซวีต้องอารมณ์ดี
เป็นเวลาเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจทำหน้าที่ เยื่อหุ้มหัวใจเป็นเนื้อเยื่อบางๆที่ห่อหุ้มหัวใจทำหน้าที่ปกป้องหัวใจ ปกป้องการรุกรานจากภายนอก ยามซวีเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจและเส้นประสาทสมองทำงานดีที่สุด อาหารเย็นไม่ควรกินอิ่ม หลังอาหารเป็นเวลาพักผ่อน ควรรักษาอารมณ์ให้ดีผ่อนคลาย สามารถฟังเพลง ยามซวีเป็นเวลาที่อ่านหนังสือจะมีสมาธิที่สุด เป็นเวลาเพื่อการพักผ่อนและเตรียมตัวสำหรับการนอนหลับ
.
12. ยามไฮ่ 亥时(3 ทุ่ม ถึง 5 ทุ่ม) ควรทำร่างกายให้อบอุ่น นอนพักผ่อน เป็นเวลาเส้นลมปราณซานเจียวทำหน้าที่ ซานเจียว ได้แก่ ซ่างเจียวคือส่วนบนมีระบบหายใจ (หัวใจ-ปอด) จงเจียวคือส่วนกลางมีระบบย่อยอาหาร (กระเพาะ อาหาร ม้าม ตับ) และเซี่ยเจียคือส่วนล่างมีระบบขับถ่าย(ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก) ซานเจียวทำหน้าที่เป็นทางผ่านของชี่และเลือด และเป็นทางลำเลียงผ่านของสารอาหารและน้ำ ซานเจียวเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เป็นช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความร้อนและเป็นช่วงที่อุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆ ลดลง ร่างกายจะเริ่มหลั่งเมลาโทนิน ยามไฮ่ควรเตรียมตัวสำหรับการนอนพักผ่อน ซานเจียวได้พักผ่อนทำให้สุขภาพแข็งแรง เวลานี้แช่เท้าด้วยน้ำอุ่นประมาน 20 นาที ให้เหงื่อออกนิดๆช่วยให้ชี่และเลือดของซ่างเจียว จงเจียว เซี่ยเจียว ไหลเวียนสะดวก ทำให้ร่างกายที่ทำงานหนักมาทั้งวันได้รับการพักผ่อน ช่วยการนอนหลับอย่างเต็มที่
.
* สรุปช่วงเวลา ระบบที่เกี่ยวข้อง ข้อควรปฏิบัติ *
23.00 - 01.00 น. ยามจื่อ [ถุงน้ำดี] เตรียมเข้านอน
01.00 - 03.00 น. ยามโฉ่ว [ตับ] นอนให้หลับสนิท
03.00 - 05.00 น. ยามอิ่น [ปอด] ตื่นนอน สูดอากาศบริสุทธ์
05.00 - 07.00 น. ยามเหม่า [ลำใส้ใหญ่] ดื่มน้ำอุ่นช่วยขับถ่ายอุจจาระ
07.00 - 09.00 น. ยามเฉิน [กระเพาะอาหาร] กินอาหารเช้า
09.00 - 11.00 น. ยามซื่อ [ม้าม] ควรเคลื่อนไหวเล็กน้อย ทำงาน ทำกิจกรรม
11.00 - 13.00 น. ยามอู่ [หัวใจ] หลีกเลี่ยงความเครียดทั้งปวง นอนพักกลางวัน
13.00 - 15.00 น.ยามเว่ย [ลำไส้เล็ก] เป็นเวลาย่อยและการดูดซึม งดกินอาหารทุกประเภท
15.00 - 17.00 น. ยามเซิน [กระเพาะปัสสาวะ] ดื่มน้ำช่วยขับปัสสาวะ ออกกำลังกายทำให้เหงื่อออก
17.00 - 19.00 น. ยามโหย่ว [ไต] หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม
19.00 - 21.00 น. ยามซวี [เยื่อหุ้มหัวใจ] อารมณ์ดี สวดมนต์ ทำสมาธิ
21.00 - 23.00 น. ยามไฮ่ [ซานเจียว] ทำร่างกายให้ อบอุ่น นอนพักผ่อน
.
.
.

.
ที่มา :
1.Basic Traditional Chinese Medicine
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
2.十二时辰养生秘诀
เคล็ดลับการดูแลสุขภาพตามนาฬิกาชีวิต

ดาวโหลด "หนังสือหย่างเซิงสุขภาพ"  ได้ ที่นี่ 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้