Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 12183 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดท้อง อาจไม่ได้เป็นเพียงโรคกระเพาะอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ ในช่องท้องของคนเรานั้นมีอวัยวะต่างๆอยู่ภายใน อาการปวดท้องอาจเกิดได้จากหลายโรคหลายสาเหตุอย่าได้นิ่งนอนใจเป็นอันขาด
ปวดท้อง คือ มีอาการปวดบริเวณช่องท้องครอบคลุมตั้งแต่ลิ้นปี่ลงไปและบริเวณหัวหน่าวขึ้นมา ซึ่งอาการปวดท้องนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ปวดท้องแบบเฉียบพลันและปวดท้องเรื้อรัง
1. อาการปวดท้องเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้บ่อย ระยะการเกิดโรคเร็ว อาการของโรคค่อนข้างหนักและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โรคที่พบได้บ่อยเช่น อาหารเป็นพิษ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในท่อทางเดินปัสสาวะ ท้องนอกมดลูก กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นต้น
2. อาการปวดท้องเรื้อรัง คืออาการปวดท้องไม่รุนแรง เป็นๆหายๆ เรื้อรังระยะเวลามากกว่า 6 เดือน หรือ มีอาการปวดท้องเฉียบพลันโดยเป็นบ่อยครั้ง รวมถึงโรคที่พบได้บ่อยเช่น โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือโรคทางเดินอาหารโดยหน้าที่ (FGID) มะเร็งในช่องท้อง เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น
การแบ่งอาการปวดท้องตามบริเวณที่มีอาการปวด
1. ปวดบริเวณท้องส่วนบนด้านขวา อาจพิจารณาได้ถึงโรคเกี่ยวกับตับและถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่
2. ปวดบริเวณท้องส่วนบนด้านซ้าย อาจพิจารณาได้ถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับตับอ่อนและม้าม เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มะเร็งตับอ่อน ม้ามโต เป็นต้น
3. ปวดบริเวณท้องส่วนบนตรงกลาง อาจพิจารณาได้ถึงโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ กรดไหลย้อน มะเร็งกระเพาะ มะเร็งหลอดเลือดใหญ่บริเวณช่องท้อง เป็นต้น
4. ปวดบริเวณท้องส่วนล่างด้านขวา อาจพิจารณาได้ถึงโรคไส้ติ่งอักเสบ วัณโรคลำไส้ มะเร็งลำไส้ อีกทั้งโรคทางสูตินารีเวชและโรคระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
5. ปวดบริเวณท้องส่วนล่างด้านซ้าย อาจพิจารณาได้ถึงโรคลำไส้ส่วนล่างและไส้ตรง เช่น มะเร็งไส้ตรง การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน โรคระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
6. ปวดท้องเป็นบริเวณกว้างไม่มีจุดแน่นอน อาจพิจารณาได้ถึงโรควัณโรคเยื่อบุช่องท้อง ลำไส้ขาดเลือด ลำไส้อุดตัน เป็นต้น
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
อาการปวดท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบภายในช่องท้องทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อารมณ์แปรปรวน ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ ทำให้เกิดเลือดและชี่ติดขัดทำให้เกิดอาการปวด หรือเลือดและชี่ไม่เพียงพอไปเลี้ยงอวัยวะทำให้เกิดอาการปวด
การวินิจฉัยกลุ่มอาการ
1. กลุ่มความเย็นอุดกั้น
อาการ มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน ปวดท้องมาก เมื่อกระทบความเย็นอาการเพิ่มขึ้น กลัวหนาว อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น ปากจืดไม่กระหายน้ำ ปัสสาวะใสและปริมาณมาก อุจจาระปกติ ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรลึก ตึง เย็น
วิธีการรักษา อุ่นภายใน สลายความเย็น ปรับชี่ให้ไหลเวียน แก้อาการปวด
2. กลุ่มความร้อนชื้นอุดกั้น
อาการ ปวดแน่นท้อง ท้องอืด ปฏิเสธการกด เมื่อถูกความร้อนกระทบ อาการจะเป็นมากขึ้น หากได้รับความเย็นอาการจะดีขึ้น กระหายน้ำ ชอบดื่มน้ำเย็น ท้องผูก หรือถ่ายเหลวแต่ไม่สุด ตัวร้อนเหงื่อออกมาก ปัสสาวะเข้ม ฝ้าลิ้นเหลืองแห้งหรือเหนียวเหลือง ชีพจรลื่นเร็ว
วิธีการรักษา ปรับอวัยวะกลวงให้โล่ง ระบายความร้อน ปรับชี่ให้ไหลเวียน ทะลวงการอุดกั้น
3. อาหารตกค้าง
อาการ ปวดแน่นท้อง ปวดท้อง ปฏิเสธการกด เรอเปรี้ยว เวลาเรอมีกลิ่นเหม็น เบื่ออาหาร ปวดท้องเหมือนท้องเสีย พอหลังถ่ายอาการปวดท้องลดลง อุจจาระกลิ่นเหม็น หรือบางรายจะท้องผูก ฝ้าลิ้นหนาเหนียว ชีพจรลื่น เมื่อซักประวัติเกี่ยวกับการรับประทานอาหารจะพบว่ามีการรับประทานที่ไม่ถูกสุขวิธี
วิธีการรักษา ช่วยย่อยอาหาร ระบายอาหารที่ตกค้าง
4. กลุ่มชี่ไหลเวียนติดขัด
อาการ ปวดท้อง ท้องอืด ไม่สบายท้อง ปวดร้าวไปสีข้างลำตัว บางครั้งปวดบางครั้งหาย ปวดเสียดย้ายตำแหน่งไม่แน่นอน เมื่อได้เรอออกมา หรือผายลมอาการจะดีขึ้น หากมีเรื่องให้กลุ้มหรือมีภาวะเครียดอาการจะเกิดมากขึ้น ฝ้าลิ้นบาง ชีพจรตึง
วิธีการรักษา ระบายกระจายชี่ตับ คลายกังวล ปรับการไหลเวียนของชี่ แก้อาการปวด
5. เลือดคั่งอุดกั้น
อาการ ปวดท้องเหมือนเข็มทิ่มแทง อาการปวดค่อนข้างรุนแรง อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง บริเวณที่ปวดระบุได้ชัดเจน ไม่ชอบให้กด มักจะมีประวัติการปวดมานาน ลิ้นสีม่วงคล้ำหรือมีรอยจ้ำ ชีพจรเล็กฝืด
วิธีการรักษา เพิ่มการไหลเวียนโลหิต สลายเลือดคั่ง ปรับให้ชี่ไหลเวียน แก้อาการปวด
6. กลุ่มอาการของจงเจียวเกิดภาวะเย็นแบบพร่อง
อาการ ปวดท้องแบบเป็นๆหายๆจนรู้สึกรำคาญ อาการปวดชอบกด ชอบร้อน แต่กลัวเย็น ได้รับความอบอุ่นจะรู้สึกสบาย หิวหรือเหนื่อยทำให้อาการมากขึ้น ได้รับประทานอาหารหรือพักผ่อนอาการจะทุเลา มักอ่อนเพลีย หายใจสั้น ไม่อยากพูดคุย ตัวเย็น มือเท้าเย็น เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว สีหน้าไม่สดชื่น ลิ้นซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรจมเล็ก
วิธีการรักษา อุ่นจงเจียว บำรุงพร่อง แก้อาการปวด
ตัวอย่างกรณีการรักษา
ผู้ป่วยอาการปวดท้องที่มารับการรักษากับแพทย์จีนอายุรกรรม
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาศรีราชา
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN0002XX
ชื่อ : นายนิพ XXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 25 ธันวาคม 2561
เพศ : ชาย
อายุ : 44 ปี
ประวัติการเจ็บป่วย (History taking)
อาการสำคัญ (Chief complaint)
ปวดท้องบริเวณด้านบนขวา (บริเวณตับ) ระยะเวลาของอาการ 3 เดือน
ประวัติปัจจุบัน
(Present illness)
- ปวดท้องบริเวณด้านบนขวา (บริเวณตับ) เป็นเวลา3เดือน
- ปวดแสบร้อนกลางหลัง บริเวณสีข้างด้านขวาปวดแน่น ท้องอืด
- การย่อยอาหารไม่ดี ปากแห้งคอแห้ง
- บางครั้งมีอาหารเหมือนมีอะไรติดคอ
- บางครั้งมีอาการเรอเปรี้ยว กลัวหนาว อ่อนเพลียง่าย
- เหงื่อออกมากบริเวณศีรษะ
- นอนหลับไม่สนิท
- ทานอาหารปกติ
- การขับถ่ายได้ทุกวันแต่รู้สึกไม่สุด
ประวัติอดีต
(Past history)
- ปฏิเสธประวัติแพ้ยา
- ปฏิเสธประวัติแพ้อาหาร
- ปฏิเสธประวัติผ่าตัด
- โรคประจำตัว เบาหวาน
การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
· การตรวจโดยการเคาะและคลำบริเวณท้องไม่พบความผิดปกติ
· การตรวจโดยการเคาะหลังบริเวณตับมีอาการปวดจุกเล็กน้อย
· ลิ้นสีชมพูฝ้าขาวบาง
· ชีพจรเล็กตึง
แพทย์จีนได้แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์แผนปัจจุบัน
ผลการวินิจฉัยโรค (Diagnosis)
ปวดท้อง
วิธีการรักษา
(Treatment)
รักษาโดยการจัดตำรับยาจีนที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย
ผลการรักษา
(Progression note)
- ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2561
- การรักษาครั้งที่สองอาการปวดท้องดีขึ้น
- อาการแสบร้อนกลางหลังดีขึ้น
- อาการขี้หนาวลดลง เหงื่อออกลดลง คอมีเสมหะเล็กน้อย
- ยังมีอาการปากแห้ง อ่อนเพลีย
- รับประทานอาหารปกติ นอนหลับดีขึ้น
- การขับถ่ายยังถ่ายไม่สุด
- ลิ้นสีชมพูฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็ก
- ครั้งที่ 4 อาการปวดท้องหายดี อาการอื่นๆดี
แพทย์จีนจัดยาให้รับประทานยาจีนต่ออีก 1 สัปดาห์เพื่อสังเกตอาการ
- ครั้งที่ 5 ผู้ป่วยไม่พบอาการผิดปกติ อาการอื่นๆโดยรวมดี
- ไม่ต้องรับประทานยาจีนต่อ
* การรักษาควรอยู่ในการกำกับดูแลโดยแพทย์จีนที่ได้มาตรฐานมีใบประกอบโรคศิลปะ (พจ.) เพื่อความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบกับสุขภาพ
แพทย์จีนผู้ทำการรักษาและบันทึกผล
แพทย์จีนศิริขวัญ ก้าวสัมพันธ์ (สวี่ ถาน ลี่)
คลินิกอายุรกรรม
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
LINE@ : @huachiewtcm
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพท์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีนใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
注意 :这份文件的版权和知识产权属于华侨中医院,仅对外宣传和传播科普知识所用。
禁止擅自用于任何形式的商业谋利。
Attention : The copyright and intellectual assets are belonged to the Hua Chiew (TCM) Clinic for public knowledge only. It is prohibit to copy for commercial purposes in all cases without permission.
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567