Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 36884 จำนวนผู้เข้าชม |
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง Atopic Dermatitis 四弯风∕特应性皮炎
เป็นโรคผิวหนังที่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีค่าโปรตีน IgE สูงผิดปกติ และคนในครอบครัวมักมีประวัติกลุ่มโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด ลมพิษ เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผื่นผิวหนังอักเสบตั้งแต่ทารกและไม่หายขาด โดยปกติแล้วในทางคลินิกจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่
ช่วงวัยทารก มักแสดงอาการหลังอายุ 2 เดือนเป็นต้นไป ผื่นส่วนใหญ่เกิดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะแก้มทั้งสองข้าง บางรายที่เป็นหนักอาจมีผื่นที่หนังศีรษะและลำตัว ทารก บางส่วนอาการอาจดีขึ้นได้เองภายในอายุ 2 ขวบ แต่บางส่วนอาจมีอาการเป็นๆหายๆไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ช่วงวัยเด็ก ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่อาการดีขึ้นจากช่วงวัยทารกได้ 1-2 ปี จะกลับเป็นซ้ำอีกครั้ง ส่วนน้อยที่จะเป็นจากช่วงวัยทารกต่อเนื่องมาจนถึงวัยเด็ก และบางส่วนอาจพึ่งปรากฏอาการในวัยนี้ โดยจะมีลักษณะผื่นแบบระยะกึ่งเฉียบพลันหรือระยะเรื้อรัง ตำแหน่งผื่นมักเกิดบริเวณข้อพับแขนขาทั้งสองข้าง ลักษณะผื่นแห้ง พบรอยเกา ผิวแห้งลอก อาจมีสะเก็ดแผล การดำเนินโรคเป็นไปอย่างช้าๆ
ช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเป็นๆหายๆในช่วงทารกต่อเนื่องมา ส่วนน้อยที่จะปรากฏอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่ โดยผื่นมักขึ้นบริเวณลำคอ แขนขา รอบดวงตา มีขอบเขตบริเวณกว้าง ผิวหยาบแห้ง หนาสาก อาจมีผิวลอก และอาการคันรุนแรง
ในมุมมองแพทย์แผนจีน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว ยังมองถึงทุนต้นกำเนิดที่พร่องไป และอาจมีความเกี่ยวข้องขณะมารดาตั้งครรภ์ที่มีสภาวะร้อน หรือเกิดจากอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงส่งผลให้ม้ามพร่องและเกิดเป็นความชื้นสะสมในร่างกาย หรืออาจเกิดจากอาหารที่คั่งค้างจนเกิดความร้อนสะสมทำให้ร่างกายมีสภาวะม้ามกระเพาะร้อนชื้น หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่น ลม ความร้อน ความชื้น และก่อให้เกิดโรค
การแยกแยะภาวะกลุ่มอาการและโรค
1. ผื่นผิวหนังอักเสบ Eczema
พบได้ทุกเพศทุกวัย ลักษณะและตำแหน่งของรอยโรคไม่มีความสัมพันธ์กับช่วงอายุที่ชัดเจน ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ของคนในครอบครัว ต่อมไขมันอักเสบในเด็กทารก
2. Seborrheic dermatitis
ไม่พบประวัติคนในครอบครัวมีโรคภูมิแพ้ มักแสดงอาการ ลังกำเนิดในสัปดาห์ที่ 3-4 รอยโรค พบบริเวณหนังศีรษะ ระหว่างคิ้ว แก้ม ร่องจมูกเป็นต้น พบสะเก็ดลักษณะมันสีเทาเหลืองหรือสีน้ำตาล อาการคันไม่รุนแรงหรืออาจไม่คัน หลังจากหายแล้วมักไม่กลับเป็นซ้ำ
3. Neurodermatitis
ส่วนใหญ่จะพบในวัยผู้ใหญ่ รอยโรคมักพบบริเวณลำคอ ข้อศอก หนังตาบน กระเบนเหน็บ ลักษณะผิวหนาหยาบ (lichenification) ชัดเจน ไม่พบประวัติภูมิแพ้ของคนในครอบครัว
การวินิจฉัยแบ่งกลุ่มอาการในมุมมองแพทย์จีน
1. ภาวะ / กลุ่มอาการลมร้อนชื้นสะสม(风湿热蕴证)
พบกลุ่มอาการนี้ในช่วงวัยทารก มักเกิดในทารกช่วงอายุต่ำกว่า 1 ขวบ และเกิดอาการหลังจากคลอดได้ไม่กี่เดือน ผื่นมักเริ่มขึ้นที่บริเวณใบหน้า หน้าผาก ผื่นจะมีสีแดง บนผื่นมีผดสีแดงขนาดเล็กใหญ่ อาจมีตุ่มน้ำขนาดเล็กเกาะกลุ่ม เมื่อแตกจะมีน้ำใส-น้ำเหลืองไหลซึม ทารกมักท้องผูก เบื่ออาหาร ร้องไห้งอแง นอนหลับยาก
หลักการรักษา : ระบายลมและความร้อน บำรุงม้ามขับความชื้น
2. ภาวะ / กลุ่มอาการกลุ่มม้ามพร่อง ความชื้นแกร่ง(脾虚湿困证)
พบในช่วงวัยเด็ก โดยมากในเด็กอายุ 2-10 ขวบ อาการทางคลินิกส่วนใหญ่จะพบผื่นแดง ตุ่มน้ำขนาดเล็ก บริเวณข้อพับ อาจมีน้ำซึมและมีสะเก็ด หรือมีลักษณะเป็นผื่นปื้นหนาสีเข้ม อุจจาระตอนต้นแห้ง ตอนท้ายนิ่ม หรืออุจจาระเหลว ทานอาหารไม่เป็นเวลา ชอบรับประทานขนมขบเคี้ยว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ลิ้นซีดบวม ฝ้าขาวเหนียว
หลักการรักษา : บำรุงม้ามขับความชื้น ระงับอาการคัน
3. ภาวะ/กลุ่มอาการกลุ่มเลือดพร่องร่วมกับลมแห้ง(血虚风燥证)
พบมากในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นเรื้อรังมานาน ผิวหนังขาดการหล่อเลี้ยง บริเวณศีรษะ ใบหน้า แขนขา ลำตัวจะมีผิวหนังที่แห้งลอกเป็นบริเวณกว้าง สีผิวเข้มโดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขนขาและลำคอจะมีผิวหนังที่หนา อาจพบรอยเกาและสะเก็ดแผล มีอาการคันเป็นระยะ เมื่อเจอความร้อนหรือหลังอาบน้ำจะมีอาการคันมากยิ่งขึ้น กลางคืนอาการคันมากขึ้น อาจมีอาการท้องอืดร่วมด้วย ลิ้นซีด
หลักการรักษา : บำรุงม้ามบำรุงเลือด ให้ความชุ่มชื้นผิว ระบายลม ระงับอาการคัน
ตัวอย่างกรณีศึกษา (Case Study) การรักษาผู้ป่วย
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis- 特应性皮炎)
ผู้ป่วย : เพศหญิง ชาวไต้หวัน อายุ 2 ปี 5 เดือน
วันที่เข้ารับการรักษา : 17 ตุลาคม 2561
HN : ***
การตรวจร่างกายเบื้องต้น : อุณหภูมิร่างกายปกติ (37.3℃) น้ำหนัก 10 kg
ผู้ป่วยมาด้วยอาการมีผื่นแดงคันตามตัว โดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขน-ขา อาการเป็นๆหายๆเป็นระยะเวลา 1 ปี และมีอาการรุนแรงมากขึ้นประมาณ 3 สัปดาห์ อาการคันมักเป็นมากขึ้นในเวลากลางคืน มารดาจึงพามาปรึกษาแพทย์แผนจีนเพื่อทำการรักษา ผู้ป่วยเคยรักษาด้วยการทายาปฏิชีวนะชนิดใช้เฉพาะที่ Mupirocin 0.2% บริเวณผื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหารและเลือกบริโภค โดยปกติรับประทานผักผลไม้น้อย ร่วมกับมีอาการท้องผูกขับถ่าย 3-4 วันต่อครั้ง ลักษณะอุจจาระค่อนข้างแห้งแข็ง นอนหลับไม่สนิท
ประวัติการเจ็บป่วยครอบครัว : บิดามีประวัติโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อ ฝ้าขาว บาง ตรวจชีพจรพบชีพจรซ้ายและขวาค่อนข้างเร็ว
วินิจฉัย : ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง(四弯风 ∕ 特应性皮炎)
กลุ่มอาการ : ลมร้อนชื้นสะสม(风湿热蕴证)
การรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ขับลมระบายร้อน ขับความชื้น
ปริมาณยาที่ใช้ : 4 วัน รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมกับยาสมุนไพรจีนใช้ภายนอก ในการต้มอาบและครีมสมุนไพรจีนทาบริเวณรอยผื่น
คำแนะนำ : หลีกเลี่ยงการเกา งดอาหารแสลง อาหารทะเล หรืออาหารที่ทานแล้วผื่นมีอาการเห่อคันมากยิ่งขึ้น รับประทานผักผลไม้ให้มาก ควรขับถ่ายให้ได้ทุกวัน
ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 1 : วันที่ 20 ตุลาคม 2561
มารดาผู้ป่วยเล่าว่า หลังรับประทานยาจีนไป ผื่นผิวหนังตามบริเวณต่างๆจางลง แต่ยังคงแห้งและมีอาการคันอยู่ ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ปกติ อาการเบื่ออาหารน้อยลง ยังคงมีอาการท้องผูกขับถ่าย 3 วันต่อครั้งและถ่ายแข็งแห้ง การนอนหลับยังคงหลับได้ไม่สนิท ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อฝ้าขาวบาง ตรวจชีพจรพบชีพจรซ้ายและขวาค่อนข้างเร็ว
การรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ บำรุงม้ามกระเพาะอาหารขับชื้น
ปริมาณยาที่ใช้ : 6 วัน รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมกับยาสมุนไพรจีนในการต้มอาบและครีมสมุนไพรจีนทาบริเวณรอยผื่น
ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 2 : วันที่ 26 ตุลาคม 2561
มารดาผู้ป่วยเล่าว่า หลังรับประทานยาจีนไปรอบที่ผ่านมา ผื่นตามตัวหายเกือบเป็นผิวปกติ และไม่มีอาการคันแต่เนื่องจาก 2 วันก่อนมาพบ ผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ระวังทำให้ผื่นตามบริเวณเดิมนั้นมีอาการกำเริบเห่อแดงและมีอาการคันมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ปกติ อาการเบื่ออาหารน้อยลงกว่าเดิม การนอนหลับยังคงหลับได้ไม่สนิท ขับถ่าย 1-3 วันต่อครั้ง
ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อ ฝ้าขาวบาง ตรวจชีพจรพบชีพจร ปกติ
การรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ บำรุงม้ามกระเพาะอาหารและบำรุงเลือด
ปริมาณยาที่ใช้ : 6 วัน รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมกับยาสมุนไพรจีนในการต้มอาบและครีมสมุนไพรจีนทาบริเวณรอยผื่นตามอาการ
สรุปผลการรักษา จากกรณีตัวอย่างนี้ การรักษาด้วยยาสมุนไพรจีนทั้งภายในและภายนอก สามารถลดผื่นและอาการคันได้ นอกจากนี้ยังกระตุ้นระบบย่อยช่วยในการเจริญอาหารขึ้น
หมายเหตุ :
การรักษาด้วยยาจีน คือ การนำสมุนไพรซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรจีนจากประเทศจีนมาปรุงเป็นยารักษาโรค โดยสกัดเอาส่วนผสมที่มีสรรพคุณในการบำบัดอาการที่ต้องการรักษาออกมาจากสมุนไพรชนิดต่างๆที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วนำมาผสมกัน ใช้ชงดื่มเป็นยาต้ม หรือ ยาผง ยาเม็ด ยาจีนบางตำรับประกอบด้วยสมุนไพรกว่า 10 ชนิด
จุดเด่นของยาจีนคือผู้ที่ป่วยโรคเดียวกัน หรือ มีอาการเหมือนกัน อาจได้รับการจ่ายยาต่างตำรับกัน ทั้งนี้ เพราะแพทย์จีนผู้ทำการรักษาจะวิเคราะห์สภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อระบุกลุ่มอาการของโรคตามสภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยก่อน จากนั้นจะเลือกวิธีบำบัดรักษาที่เหมาะสม และเมื่อติดตามอาการดูแล้วเห็นว่าดีขึ้น หรือ ไม่ดีขึ้น แพทย์จีนที่ทำการรักษาจะปรับเปลี่ยนยาตำรับใหม่ให้ตามความเหมาะสมกับอาการในช่วงเวลานั้นๆด้วย
ในการทานยาทุกชนิด ทุกประเภท ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับประทานยาจีนนั้น การตรวจวินิจฉัยร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อที่แพทย์จีนจะวิเคราะห์หาสาเหตุ และประเมินผู้ป่วยในการจัดตำรับยาที่ตรงกับพยาธิสภาพของผู้ป่วย เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการรักษา
ยาจีนเป็นวิธีบำบัดโรควิธีหลักสำคัญของการแพทย์แผนจีน การที่จะใช้ยาจีนบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผลนั้น แพทย์จีนจะต้องรู้ลักษณะโครงสร้างของโรคอย่างถ่องแท้ จึงจะจัดตำรับยาจีนที่เหมาะสมกับอาการของโรคและภาวะร่างกายของผู้ป่วยเป็นคนๆไป แม้ว่าคนป่วยจะมีอาการเหมือนกัน แต่ยาจีนจะแสดงผลต่างกันไปในแต่ละคน
หลักสำคัญในการเลือกตำรับยาจีนให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน คือการวินิจฉัย วิเคราะห์ว่าอาการป่วยนั้นเกิดจากสาเหตุพยาธิสภาพภายนอกของโรคที่แสดงปฏิกิริยารุนแรง หรือ เกิดจากประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งพร่อง ถดถอย
สมุนไพรจีนแต่ละชนิดที่ผสมอยู่ในยาจีนนั้นมีบทบาทแตกต่างกันออกไป ในยา 1 ตำรับจะประกอบด้วย
- สมุนไพรที่ทำหน้าที่เป็นตัวหลัก
- สมุนไพรที่เป็นตัวประกอบ
- สมุนไพรที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบในร่างกาย
- สมุนไพรที่เป็นตัวยาเสริม ทำหน้าที่ปรับสมดุล
แพทย์จีนผู้ทำการรักษาและบันทึกผล
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร (หวง เหม่ย ชิง)
คลินิกอายุรกรรมผิวหนัง
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
LINE@ : @huachiewtcm
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพท์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีนใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
注意 :这份文件的版权和知识产权属于华侨中医院,仅对外宣传和传播科普知识所用。禁止擅自用于任何形式的商业谋利。
Attention : The copyright and intellectual assets are belonged to the Hua Chiew (TCM) Clinic for public knowledge only. It is prohibit to copy for commercial purposes in all cases without permission.
6 ธ.ค. 2567
15 พ.ย. 2567
15 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567