Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 79336 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคหมอนรองกระดูกเอวทับเส้นประสาท คือ หลังจากหมอนรองกระดูกเกิดการเสื่อม สภาพแล้ว ได้รับแรงกดทับทำให้ fibrous ring เกิดการแตก Nucleus pulposus ก็ไหลออกมากดทับไขสันหลัง , Caudaequina , เส้นเลือด หรือ รากประสาท (nerve roots) ทำให้เกิดอาการปวดเอวและขา มักพบในผู้ที่มีอายุประมาณ 30-50 ปี ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ใช้แรงงานจะพบได้บ่อย ตำแหน่งมีมักพบเห็นได้บ่อยคือ L4-5 , L5 - S1
Cr.Photo : health.163.com
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
เมื่อมีอายุที่มากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการเสื่อมสภาพ Nucleus pulposus มีส่วนประกอบของน้ำค่อยๆ ลดลง สูญเสียความยืดหยุ่น ระยะห่างระหว่างกระดูกสันหลังแคบลง ligament รอบๆ กระดูกสันหลังเกิดการหย่อน กระดูกสันหลังสูญเสียความคงตัว สาเหตุเหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ถ้าหมอนรับอุบัติเหตุ fibrous ring เกิดการแตก Nucleus pulposus จะไหลออกมาตามแนวรอยแตกและกดทับรากประสาท เมื่อรากประสาทถูกกดทับจนแบน
จากนั้นจะเกิดการอักเสบ บวม และเปลี่ยนรูปร่าง เกิดความผิดปกติไปตามแนวเส้นประสาทนั้น ๆ มีผู้ป่วยบางส่วนเมื่อเอวได้รับความเย็นมากระทบ จะทำให้กล้ามเนื้อเอวหดเกร็ง ทำให้ความดันภายในหมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลัง แล้วแสดงอาการออกมาทางระบบประสาท
หลังจากที่หมอนรองกระดูกสันหลังยื่นออกมาทับรากประสาทบริเวณ L4-5 ,L5-S1 เป็นหลัก มักมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท sciatic nerve ในรายที่มีการยื่นออกมาทางด้านหลังและเฉียงออกด้านข้าง มักจะมีอาการปัญหาเพียงด้านเดียว แบบยื่นออกมาตรงกลางจะกดทับ Cauda equina ในรายที่เป็นหนักจะมีการกดทับรากประสาททั้งสองข้าง จากนั้นก็จะมีปัญหาที่ข้อต่อของกระดูกสันหลังตามมาคือ มีระยะห่างระหว่างกระดูกสันหลังแคบลง ligament รอบๆ กระดูกสันหลังเกิดการหย่อน และข้อต่างๆ เกิดการขัดกัน ถ้ามีการป่วยเป็นเวลานานจะทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมมากขึ้น ทำให้อาการปวดเอวและขาปวดหนักมายิ่งขึ้น
พยาธิสภาพของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
1. ทฤษฎีอธิบายเชิงกายภาพและการระคายเคือง
Mixte rและ Barr เสนอความคิดว่า กลไกลของการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากไขกระดูกโพล่ออกมาทับเส้นประสาท ทำให้บริเวณนั้นขาดเลือด บวม อักเสบ เส้นประสาทถูกกดทับ
2. ทฤษฎีโคนรากประสาทอักเสบจากสารเคมี
Muvpby ได้มีการศึกษาทางเคมีของเส้นประสาทที่อักเสบว่าการอักเสบเกิดจากหมอนรองกระดูกเกิดการเปลี่ยนแปลง ปมประสาทถูกกระตุ้นทางเคมีอย่างมาก
3. ทฤษฎีภูมิคุ้มกันโรค
Borechko1960 ได้เสนอว่าก่อนที่ไขกระดูกจะโพล่ออกมาภูมิคุ้มกันของร่างกายกับสิ่งแปลกปลอมภายนอกเกิดการต่อสู้กัน ต่อมาเมื่อไขกระดูกโผล่ออกมา เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนอง จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้น
การตรวจวินิจฉัย
1. ประวัติการเจ็บป่วย เคยมีประวัติการได้รับบาดเจ็บบริเวณเอว หรือ เคยโดนลมเย็นเข้ามากระทบ
2. อาการ มีอาการปวดเอวและปวดร้าวลงขา ข้างเดียวหรือสองข้าง เคลื่อนไหวเอวติดขัด เมื่อมีการเคลื่อนไหวเอว ก้มศีรษะ ไอ หรือจามอาการปวดเพิ่มมากขึ้น
3. physical signs กล้ามเนื้อเอวตึง พบกระดูกสันหลังเอียงข้าง มีจุดกดเจ็บด้านข้างกระดูกสันหลังและมีอาการร้าวลงขา มีความรู้สึกที่ขาลดลง กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง รีเฟล็กซ์ที่เอ็นข้อขาลดลง การทดสอบ Straight –leg-raising test positive , Lasegue’s sign positive,Prone knee-bending test positive , Lindner’s sign positive
อาการทางคลินิก
1. ปวดเอวร่วมกับปวดร้าวลงขาเป็นหลัก ก่อนการเกิดโรคมักมีประวัติการได้รับบาดเจ็บที่แตกต่างกัน มีผู้ป่วยบางส่วนโดนลมเย็นแล้วแสดงอาการ เมื่อมีอาการไอ จาม หรือออกแรงเบ่งอุจจาระ หรือก้มตัวลง จะมีอาการหนักขึ้น ผู้ที่ป่วยเป็นระยะเวลานาน บริเวณที่มีอาการปวดร้าวลงไปจะมีอาการชาและอ่อนแรง ถ้ามีการยื่นมากดทับCauda equinaจะมีอาการชาบริเวณ Perineum หรือ ปวดเหมือนเข็มแทง การขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะมีปัญหา มีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือขาทั้ง 2 ข้างเป็นอัมพาตเป็นต้น มีผู้ป่วยบางราย มีแต่อาการปวดขาแต่ไม่ปวดเอว
2. กล้ามเนื้อบริเวณเอว ตึง หดเกร็ง ความโค้งตามสรีรวิทยาของกระดูกสันหลังซึ่งควรแอ่น ลดลงหรือหายไป การเคลื่อนไหวติดขัด และมีระดับการเอียงข้างของกระดูกสันหลังไม่เท่ากัน มีจุดกดเจ็บและเคาะเจ็บในแนวกระดูกสันหลังและด้านข้าง ด้านหลังต้นขา ด้านหลังและด้านข้างของน่องขา และเท้าด้านนอก
3. หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทแต่ละเส้น จะมีความแตกต่างที่ความรู้สึกที่ผิวลดลง แรงของกล้ามเนื้อลดลง และรีเฟล็กซ์ก็ลดลงที่ไม่เหมือนกัน
- ถ้ามีการกดทับที่ L3-4 หมอนรองกระดูกจะกดทับเส้นประสาทเอวเส้นที่ 4 ทำให้มีความรู้สึกที่น่องด้านในมีความรู้สึกผิดปกติ
- ถ้ามีการกดทับที่ L4-5 หมอนรองกระดูกจะกดทับเส้นประสาทเอวเส้นที่ 5 ทำให้มีความรู้สึกที่ท่อนขาด้านหน้าและด้านข้างหลังเท้าด้านในมีความรู้สึกลดลง
- ถ้ามีการกดทับที่ L5-S1 หมอนรองกระดูกจะกดทับเส้นประสาทกระเบนเหน็บเส้นที่ 1 ทำให้มีความรู้สึกที่ท่อนด้านหลังและด้านนอก หลังเท้าด้านนอกและฝ่าเท้ามีความรู้สึกลดลง
- ถ้ากดทับ Cauda equina จะทำให้มีอาการชาบริเวณPerineum กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณกระเพาะปัสสาวะและรูทวารหนักทำงานมีปัญหา
- ถ้าเส้นประสาทเอวเส้นที่ 4 ถูกกดทับ ทำให้แรงกล้ามเนื้อในการกระดกข้อเท้าขึ้นลดลง กล้ามเนื้อฝ่อ
- เส้นประสาทเอวเส้นที่ 5 ถูกกดทับ ทำให้แรงกล้ามเนื้อในการกระดกนิ้วหัวแม่เท้าลดลง
- เส้นประสาทกระเบนเหน็บเส้นที่ 1 ถูกกดทับ ทำให้แรงกล้ามเนื้อในการงุ้มหัวแม่เท้าลดลง
- เส้นประสาทเอวเส้นที่ 4 ถูกกดทับ รีเฟล็กซ์ที่หัวเข่าลดลง
- เส้นประสาทกระเบนเหน็บเส้นที่ 1 ถูกกดทับ รีเฟล็กซ์ที่เอ็นข้อเท้าลดลง
4. หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ข้อที่ L4-5 ,L5-S1 ทำ Straight –leg-raising test positive , Lasegue’s sign positive. ข้อ L3-4 Prone knee-bending test positive , Lindner’s sign positive
หลักการแยกแยะวิเคราะห์โรคและการรักษา
หลังการตรวจทางคลินิกและใช้ผล MRI มากำหนดวิธีการรักษา เช่น ในระยะ acute ต้องนอนพัก ใช้ยาทานและยาภายนอกเป็นหลัก ในระยะเรื้อรังใช้การนวด การดึง การอบสมุนไพร การฉีดยาเข้าที่ epidural เป็นต้น กรณีที่รักษาแบบประคับประคองไม่ได้ แนะนำให้ผ่าตัดเป็นหลัก
การแบ่งระยะของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
มีนักวิชาการกล่าวถึงกรณีที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดรักษาหมอนรองกระดูก แบ่งเป็น 3 ระยะ
1. Small type
fibrous ring ด้านในเกิดการแตก Nucleus pulposus ก็ไหลออกมาด้านหลัง อาการทางคลินิกแสดงออกไม่หนักมาก เพียงแค่นอนพักผ่อน รักษาด้วยการนวด การรักษาด้วยยา เป็นต้น จะสามารถช่วยให้อาการของโรคไม่กำเริบและหายได้ในที่สุด
2. Transitional type
fibrous ring ในและนอกปริแตก ผนังชั้นนอกของหมอนรองกระดูกเริ่มเสียความยืดหยุ่น ทำให้อาการทางคลินิกแสดงออกเหมือนเดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย
3. mature type
fibrous ring และผนังเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกถูกทำลาย ไขกระดูกปลิ้นออกมาทางทางเดินของเส้นประสาท และหลอดเลือด ทำให้เกิดการยึดติด จึงเกิดการยึดติด ทำให้เกิดอาการปวดตลอดเวลา สถิติของการผ่าตัด 80 % ของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไม่จำเป็นต้องผ่าตัดก็สามารถรักษาให้หายได้ นอกจากนั้นมีเพียง 10% ที่ต้องผ่าตัด
บทความโดย แพทย์จีน หลี่ ฮั่น เฉิง
แปลภาษาไทย โดย แพทย์จีน ศศิพัทธ์ อิทธิชัยโฆษิตกุล
ข้อมูลเพื่อประกอบการรักษา
1. การนวดรักษาโรคด้วยการทุยหนา (Tuina)
2. รักษาอาการปวดจากพังผืดกล้ามเนื้อ
3. ต้นทางแห่งความปวด ทำไมจึงปวด ?
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
Hotline : 095-884-3518
LINE@ : @huachiewtcm
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
เปิดให้บริการการรักษาแก่ประชาชน 3 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค
1. กรุงเทพฯ โทร. 02-223-1111 ต่อ 102
2. โคราช โทร. 044-258-555 , 085-325-1555
3. ศรีราชา โทร.038-199-000 , 098-163-9898
ดูแผนที่การเดินทางของทุกสาขา
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567