Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 32195 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะนิ่วในถุงน้ำดีและถุงน้ำดีอักเสบ พบได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สองภาวะนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และก่อให้เกิดอีกภาวะหนึ่งได้ นิ่วในถุงน้ำดีก่อให้เกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง และภาวะการอักเสบของถุงน้ำดีก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะทั้งสองมักพบร่วมกันได้บ่อยและมีอาการคล้ายกันหลายอย่าง เช่น อาการปวดมักปวดบริเวณท้องด้านขวาแถวชายโครงหรือใต้ซี่โครง และมักปวดร้าวไปบริเวณสะบักขวา หากเป็นภาวะนิ่วในถุงน้ำดีจะมีอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ ได้ จะปวดหลังทานอาหารมันปริมาณมากเข้าไป
นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบในน้ำดี ซึ่งเมื่อมีนิ่วเกิดขึ้นแล้ว อาจมีอาการตั้งแต่ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บางครั้งนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดี ทำให้มีอาการปวดแบบปวดดิ้น หรือถ้านิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่ จะทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
ในบางรายอาจตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีแต่ไม่มีอาการได้เช่นกัน แต่อาการดังกล่าวข้างต้นจะเกิดเมื่อใดก็ได้ ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดี พบว่ามีนิ่วร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่ นิ่วในถุงน้ำดี ไม่สามารถรักษาได้โดยใช้เครื่องสลายนิ่ว การรักษาโดยใช้ยาละลายนิ่วใช้ได้เฉพาะนิ่วบางชนิดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน และเมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก อีกทั้งนิ่วของคนไทยส่วนมากมักไม่ละลายโดยใช้ยา ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุด คือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ซึ่งการตัดถุงน้ำดี ไม่มีผลต่อการย่อยอาหาร เพราะน้ำดีสร้างมาจากตับ ถุงน้ำดีเป็นเพียงที่เก็บพักน้ำดีเท่านั้น
อาการแสดง
ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี อาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการบางอย่าง ดังต่อไปนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ได้แก่
- ท้องอืด
- แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันมาก
- ปวดท้องใต้ชายโครงขวาเป็นครั้งคราว
- ปวดท้องรุนแรง และปวดร้าวไปถึงสะบักด้านขาว
- ไข้สูงเฉียบพลัน ถ้ามีการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม
วิธีที่ใช้วินิจฉัยว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี คือการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์
การรักษาในแนวทางของแพทย์แผนปัจจุบัน
การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร เพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นได้อีกต่อไป และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่าง ๆ การผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 วิธี
1. ผ่าตัดแบบเดิม โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) ปัจจุบันจะเลือกใช้ในการผ่าตัดถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง
2. ผ่าตัดภายใต้กล้อง โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง (Laparoscopic Cholecystec-tomy) ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน สามารถทำได้สำเร็จถึงร้อยละ 95 ถ้าถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้สำเร็จจะน้อยลง
- วิธีการผ่าตัดภายใต้กล้อง
- เจาะรูเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้อง 4 แห่ง ด้วยเครื่องมือที่ออกแบบเฉพาะสำหรับการเจาะหน้าท้องอย่างปลอดภัย ขนาดของรูประมาณ 0.5 ซม. 3 ตำแหน่ง และขนาด 1 ซม.ที่สะดืออีก 1 ตำแหน่ง
- ใส่กล้องที่มีก้านยาว ๆ และเครื่องมือต่าง ๆ ผ่านรูที่ผนังหน้าท้องลงไป ศัลยแพทย์จะสามารถมองเห็นถุงน้ำดีและอวัยวะต่าง ๆ จากจอโทรทัศน์ซึ่งกล้องส่งสัญญาณภาพมา
- ศัลยแพทย์สามารถเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับ และใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผลก่อนตัดขั้วของถุงน้ำดี แล้วเลาะส่วนที่เหลือให้หลุดออก
- เมื่อตัดถุงน้ำดีได้แล้ว บรรจุใส่ถุงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ แล้วดึงออกจากร่างกาย
บริเวณรูสะดือ จากนั้น ศัลยแพทย์จะสำรวจความเรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนดึง
เครื่องมือและกล้องออกแล้วเย็บปิดแผล
- ในผู้ป่วยบางรายถ้ามีการอักเสบมาก อาจต้องมีการใส่ท่อระบายไว้ 2-3 วัน
- ผลดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีภายใต้กล้อง
- อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่า
- อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 1 - 2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเดิม อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 7 - 10 วัน
- การพักฟื้นหลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้กลับไปทำงานตามปกติได้เร็วกว่า ถ้าผ่าตัดแบบเดิม ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน
- แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่า และมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลขนาดใหญ่
- เมื่อแผลหายจะเป็นรอยเล็ก ๆ บนหน้าท้องเท่านั้น
สาเหตุในทางศาสตร์การแพทย์แผนจีน คือ จากอารมณ์ซึมเศร้า ไม่สามารถปรับร่าง กายตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รับประทานอาหารไม่เหมาะสม โดยเฉพาะทานอาหารมันเป็นปริมาณมากเกินไป หรือเสียชี่ภายนอกรุกราน รวมทั้งการสะสมตกค้างของความร้อนชื้น หรือแม้กระทั่งจากพยาธิ ซึ่งจะก่อให้เกิดการขัดขวางการไหลเวียนของชี่และเลือดของตับและถุงน้ำดี เป็นเหตุให้หน้าที่ของตับและถุงน้ำดีถูกรบกวนและเสียหน้าที่ไป
การรักษาในแนวทางการแพทย์แผนจีน
หลักการรักษา : อายุรกรรมตำรับยาจีน ที่ช่วยปรับสมดุลและหน้าที่ของชี่ของถุงน้ำดี ควบคุมการทำงานของกระเพาะอาหารและจงเจียว กรณีการฝังเข็ม แพทย์จีนจะเลือกจุดบนเส้นเท้าเจวี๋ยอิน เส้นเท้าหยางหมิงและเส้นเท้าเซ่าหยางเพื่อรักษา โดยเทคนิคการฝังเข็มพิเศษ ทั้งจุดหลัก จุดเสริม จุดกดเจ็บ จุดระบาย รวมทั้งการนวดกดจุดเสริมด้วย เป็นต้น
หมายเหตุ : การฝังเข็มได้ผลเป็นที่น่าพอใจพอสมควร ในการขับนิ่วจากถุงน้ำดี โดยใช้การรักษา 1 – 4 รอบการรักษา และหากขนาดของก้อนนิ่วน้อยกว่า 8 มิลลิเมตร และเป็นนิ่วก้อนเดียว ไม่มีหลายเม็ด จะได้ผลน่าพอใจมากขึ้น แต่หากขนาดของก้อนนิ่วมากกว่า 12 มิลลิเมตรการขับนิ่วจะยากมาก นิ่วที่มีองค์ประกอบของน้ำดีและไขมัน (bile pigment calculus and bile pigment cholesterol) จะพบได้ถึง 2 ใน 3 ของนิ่วที่หลุดออกมาจากการรักษาด้วยการฝังเข็ม แนะนำให้ตรวจหาก้อนนิ่วในอุจจาระเพื่อพิจารณาผลของการรักษา
ถุงน้ำดีอักเสบ ( Cholecystitis : 胆囊炎)
ถุงน้ำดีอักเสบ มีได้ทั้งการอักเสบแบบฉับพลันหรือเรื้อรัง สาเหตุส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับนิ่วในถุงน้ำดี หรือรับประทานอาหารไม่เหมาะสม
ถุงน้ำดีอักเสบฉับพลัน จะมีอาการปวดมากทันทีบริเวณท้องด้านขวาใต้ชายโครง และอาการปวดกำเริบมากขึ้นเป็นช่วง ๆ และปวดร้าวไปไหล่ขวาและหลังได้ มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและไข้ร่วมด้วย ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงวัยกลางคนร่วมกับการรับประทานอาหารมัน ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันสามารถพบได้ในภาวะถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง อาการจะเป็นเช่นเดียวกับการอักเสบเฉียบพลันของถุงน้ำดี ในช่วงโรคสงบของถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการเด่นชัด คือ หลังทานอาหารจะรู้สึกแน่นอึดอัดท้องช่วงบน เรอ กลัวอาหารมัน มักมีอาการปวดร้าวไปไหล่ขวา และหลังร่วมด้วย อาการจะเป็นมากขึ้น เมื่อยืนขึ้น เคลื่อนไหว หรืออาบน้ำเย็น
ถุงน้ำดีอักเสบ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีอุดตันทางเดินของท่อน้ำดี ทำให้เกิดการคั่งของน้ำดี ท่อน้ำดีบวม เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา ส่วนใหญ่เป็นเชื้อ E. coli และกลุ่มเชื้อ Bacteroides และเกิดการอักเสบของผนังของถุงน้ำดี เกิดการขาดเลือดเน่าตายและฉีกขาด มีการลุกลามของเชื้อโรคไปสู่อวัยวะข้างเคียง เช่น ลำไส้และกระบังลม สาเหตุส่วนน้อยเกิดจากการอักเสบโดยไม่มีนิ่วในถุงน้ำดี มักพบในผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ
นิ่วในถุงน้ำดี เมื่อเกิดการอุดตันจะก่อให้เกิดการปวดท้องกะทันหัน ในกรณีที่เป็นถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง มักจะเกิดการอักเสบที่ไม่รุนแรง โดยผนังของถุงน้ำดีจากหนาตัวขึ้นมาก
อาการและการแสดง
มักจะมีอาการปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบนด้านขวา อาการปวดจะปวดรุนแรงตลอดเวลา ในระยะแรก อาจมีอาการปวดบริเวณสะบักขวาซึ่งเป็น referred pain ได้ อาการเหล่านี้อาจเกิดได้หลังจากทานอาหารทอด หรืออาหารมัน และจะมีไข้ต่ำ ๆ ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน เม็ดเลือดขาวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจมีอาการเจ็บปวดที่ถุงน้ำดี หากอาการรุนแรงมากขึ้น จะมีไข้สูงขึ้น ตัวตาเหลืองหรือช็อคหมดสติ เป็นภาวะที่มีการติดเชื้อเป็นหนองที่ถุงน้ำดี หรือถุงน้ำดีแตกทะลุ อีกภาวะที่เกิดขึ้นได้คือการอุดตันของลำไส้เล็ก ที่เกิดจากการแตกทะลุของถุงน้ำดีเข้าไปในลำไส้เล็กที่อยู่ข้างเคียง
ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการแสดงออกที่ไม่เฉพาะ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้องไม่ชัดเจน เรอ และท้องเดิน
การวินิจฉัย
โดยการซักประวัติได้ ดังที่กล่าวมาร่วมกับการตรวจพบ ดังนี้
1) ไข้ มักมีไข้ต่ำ ๆ ในกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นใด
2) ปวดท้องบริเวณช่องท้องขวาส่วนบน อาจพบหรือไม่พบ Murphy’s sign
3) Ortner’s sign เมื่อกดบริเวณชายโครงด้านขวาจะรู้สึกเจ็บ
4) Georgievskiy – Myussi’s sign (phrenic nerve sign) เมื่อกดระหว่างขอบของกล้ามเนื้อ sternocleidomastoid จะรู้สึกปวด
5) Boas’s sign มีความรู้สึกระคายเคืองเพิ่มขึ้นบริเวณขอบล่างของสะบักขวา ซึ่งเกิดจากการระคายเคือง phrenic nerve
การตรวจทางห้องปฏิบัติการและภาพรังสีต่าง ๆ สามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยและคัดสาเหตุอื่นออกไป การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่วยยืนยันและแยกโรคได้
การวินิจฉัยแยกโรค
1. แผลกระเพาะอาหารทะลุ
2. แผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นกำเริบ
3. ฝีในตับจากเชื้อ amoebic
4. การอักเสบของตับและลำไส้ส่วน colon จากเชื้อ amoebic
5. ตับอ่อนอักเสบฉับพลัน
6. ลำไส้อุดตันฉับพลัน
7. นิ่วในไต
8. ไส้ติ่งอักเสบฉับพลัน ชนิด retro-colic
ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ง่าย ต้องแยกอาการจากโรคเหล่านี้
1. แผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น
2. Hiatus Hernia
3. ลำไส้ส่วน colon อักเสบ
4. Functional Bowel Syndrome
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
1. การตรวจเลือด
จะพบการเพิ่มขึ้นของ alkaline phosphatase จากการเพิ่มขึ้นของ bilirubin (ต้องแยกจากนิ่วในถุงน้ำดี) อาจพบการเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาว, CRP (C-reactive protein) สูงขึ้น ความผิดปกติของการตรวจเหล่านี้ จะสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค แต่ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรังจะพบว่า การตรวจเลือดจะค่อนข้างปกติเป็นส่วนใหญ่
2. การตรวจทางรังสี
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจที่ถือเป็นมาตรฐาน เนื่องจากมีความไวและจำเพาะสูง โดยมีความไวเฉลี่ยร้อยละ 88 และความจำเพาะร้อยละ 80 โดยมีเกณฑ์หลัก 2 ข้อ คือ ตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี และตรวจ Murphy’s sign ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ได้ผลบวก เกณฑ์รอง 3 ข้อคือ ผนังถุงน้ำดีหนาตั้งแต่ 3 มิลลิเมตรขึ้นไป ตรวจพบของเหลวรอบๆถุงน้ำดี และถุงน้ำดีขยายตัว
การตรวจด้วยเครื่อง CT scan มีความแม่นยำร้อยละ 90 – 95 สามารถบอกได้ถึงการอักเสบของถุงน้ำดีและเนื้อเยื่อข้างเคียง บอกถึงนิ่วที่อยู่นอกถุงน้ำดี ตำแหน่งของหนองหรือแก๊สรอบ ๆ ถุงน้ำดีได้ แต่ไม่สามารถตรวจพบนิ่วที่ตรวจด้วยรังสีไม่ได้ และตรวจ Murphy’s sign เหมือนเครื่องอัลตร้าซาวด์ไม่ได้
การรักษา
การรักษาที่เป็นมาตรฐาน คือ การผ่าตัดถุงน้ำดีออก ในระหว่างเตรียมการผ่าตัด แพทย์อาจให้น้ำเกลือหรือสารน้ำอื่นเพื่อชดเชยการขาดสารน้ำ และให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อได้กว้าง การผ่าตัด มีทั้งการผ่าตัดเปิดช่องท้อง หรือผ่าตัดผ่านกล้อง Laparoscope ปัจจุบันนิยมผ่าตัดผ่านกล้อง Laparoscope เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและลดระยะเวลาการนอนรักษาที่โรงพยาบาลลงได้มากกว่า ส่วนการผ่าตัดเปิดช่องท้องจะใช้ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนของโรคมาก หรือเป็นผู้ป่วยที่เคยมีผ่าตัดในบริเวณนี้มาก่อน หรือการผ่าตัดด้วยกล้อง Laparoscope ทำได้ยากหรือทำไม่ได้
ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดถุงน้ำดี
1) น้ำดีรั่ว (biloma)
2) บาดเจ็บต่อท่อน้ำดี
3) อักเสบเป็นหนอง
4) แผลผ่าตัดติดเชื้อ
5) เสียเลือด (ผิวเนื้อของตับและหลอดเลือด cystic ถูกทำลาย)
6) Hernia
7) การบาดเจ็บต่ออวัยวะอื่น
8) การอุดตันในหลอดเลือดดำใหญ่ (deep vein thrombosis)
9) การดูดซึมกรดไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมันผิดปกติไป
การแพทย์แผนจีน จัดภาวะถุงน้ำดีอักเสบ อยู่ในกลุ่ม XieTong (hypochondriac pain) มีสาเหตุจากความร้อนชื้นทั้งจากภายนอกหรือภายใน ก่อให้เกิดความชื้นและร้อนในถุงน้ำดีและตับ ก่อให้เกิดผลตามมาด้วยการทำงานไม่ประสานกันของม้ามและกระเพาะอาหาร
การรักษา
ถุงน้ำดีอักเสบ แบ่งตามสาเหตุได้เป็น 2 ชนิด คือ ความร้อนชื้นในตับและถุงน้ำดี และ ชี่ของถุงน้ำดีและตับติดขัด เลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณตับและถุงน้ำดีเพื่อการรักษา
1. ความร้อนชื้นในตับและถุงน้ำดี
อาการ : อาการปวดเกิดขึ้นแบบทันทีในบริเวณใต้ชายโครงขวา เบื่ออาหาร ขมปาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ปัสสาวะเหลืองมากขึ้น มีไข้
ลิ้น แดง ฝ้าเหลืองเหนียว ; ชีพจร ตึง-เร็ว (Xian-ShuMai)
หลักการรักษา : ขจัดความร้อนชื้น ปรับชี่ตับให้สมดุล รักษาหน้าที่ของถุงน้ำดี
2. ชี่ของถุงน้ำดีและตับติดขัด
อาการ : ปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา อาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวา รู้สึกไม่สบายในท้อง เบื่ออาหาร เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ อาการเป็นมากขึ้นเมื่อโกรธ หรือทานอาหารมัน
ลิ้น แดง ฝ้าเหลือง ; ชีพจร ตึง (XianMai)
หลักการรักษา: ลดการติดขัดของชี่ตับ ปรับการทำงานของถุงน้ำดี
2. รมยาที่จุดพิเศษ
ข้อบ่งใช้ : การอักเสบแบบเฉียบพลันของภาวะถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง ที่มีอาการปวด
เสียดชายโครงด้านขวา การรมยาจะใช้แท่งโกฐสมุนไพรอ้ายเย่ จุดไฟแล้วนำมาจ่อที่บริเวณเหนือสะดือราว 1 – 2 ชุ่น และหมุนแท่งโกฐฯ วนรอบจุดช้า ๆ หลังจากรมยาได้ราว 15 นาที ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกร้อนบริเวณสะดือและรอบ ๆ ให้ร้อนเท่าที่ผู้ป่วยทนได้ โดยทั่วไปในระหว่างที่รมยาหรือเมื่อครบเวลาการรมยาผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นอย่างมาก
3. การฝังเข็มหู ใช้การปักและกระตุ้นจุดด้วยวิธีมาตรฐานของการฝังเข็มที่หู
ความคิดเห็นและข้อมูลประสบการณ์การรักษาที่ผ่านมาของแพทย์จีน : การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มและรมยา เป็นวิธีที่ได้ผลดีในการรักษาอาการของถุงน้ำดีอักเสบ โดยเฉพาะอาการปวดเสียดชายโครง อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปกับการฝังเข็มรมยาจะช่วยเสริมให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อ่านข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
1. ฝังเข็มเจ็บไหม-อันตรายหรือไม่
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. เตรียมตัวอย่างไรก่อนมาฝังเข็ม
5. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
6. การรักษาด้วยยาจีน
7. กินยาจีนอย่างไรให้ได้ผลดี
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
Hotline : 095-884-3518
LINE@ : @huachiewtcm
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
เปิดให้บริการการรักษาแก่ประชาชน 3 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค
1. กรุงเทพฯ โทร. 02-223-1111 ต่อ 102
2. โคราช โทร. 044-258-555 , 085-325-1555
3. ศรีราชา โทร.038-199-000 , 098-163-9898
ดูแผนที่การเดินทางของทุกสาขา
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567