Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 10592 จำนวนผู้เข้าชม |
การแพทย์แผนจีนนอกจากศาสตร์การฝังเข็มและยาจีนแล้ว ยังมีอีกศาสตร์หนึ่งคือ “การนวดทุยหนา” การนวดทุยหนา คือ การนวดสำหรับรักษา ข้อ เอ็นกล้ามเนื้อ โรคกระดูกบางกรณี นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคเด็ก ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาสมุนไพรหรือการฝังเข็มได้อีกด้วย
การนวดทุยหนาเด็ก มีประวัติการรักษามาอย่างยาวนาน พร้อมๆกับการนวดเพื่อรักษาอาการปวดโดยทั่วไป วิธีการนวดทุยหนาในเด็กจะอาศัยหลักการของแพทย์แผนจีนโบราณทั้งทฤษฎีการตรวจแยกแยะวิเคราะห์โรค เปี้ยนเจิ้งลุ่นจื้อ (辨证论治) และการรักษาแบบองค์รวม เจิ่งถี่กวานเนี่ยน(整体观念)นำมาเป็นพื้นฐานสำคัญในการตรวจรักษา ประกอบกับ ทฤษฎีอิน - หยาง , ปัญจธาตุ อวัยวะทั้ง 5
การนวดทุยหนาในเด็ก มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ในสมัยโบราณ
1. ยุคราชวงศ์ฉิน-ฮั่น ค.ศ.220 มีตำราการแพทย์แผนจีนเล่มแรกอู่ฉือเอ้อปิ้งฝาง 《五十二病方》เกี่ยวกับการนวดรักษาโรคลมชักในเด็ก
2. ยุคราชวงศ์ซุย - ถัง ค.ศ.581-907 ยุคที่ทุยหนาเด็กมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนมีการจัดตั้งแพทย์เฉพาะทางขึ้นในสำนักหมอหลวง
3. ยุคราชวงศ์ซ่ง - หยวน ค.ศ.960-1368 มีการคิดค้นท่าจิก (掐法) เกี่ยวกับการรักษาโรคบาดทะยักในเด็ก
4. ยุคราชวงศ์หมิงชิง ค.ศ.1368-1911 เป็นยุคที่มีเจริญรุ่งเรืองที่สุดของทุยหนาเด็กมีการคิดค้นวิธีการวินิจฉัย ท่านวดการรักษาโรคในเด็ก และรวบรวมตำรับยาที่สามารถรักษาเด็กได้อีกด้วย
5. ยุคใหม่ ค.ศ. 1956 มีการจัดตั้งแผนกนวดทุยหนาและคณะทุยหนาในมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนครั้งแรกที่มหานครเซี่ยงไฮ้ ทำให้การนวดทุยหนาเด็กพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนมีหนังสือแบบเรียนทุยหนาเด็กที่ใช้จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน นิยมใช้การนวดทุยหนาเด็กในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร
การนวดทุยหนาในเด็ก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การนวดทุยหนาเพื่อรักษาโรค ได้แก่ หอบหืด อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาวะรดที่นอน สายตาสั้น สมาธิสั้น เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ คอเอียง ลมชัก
2. การนวดทุยหนาเพื่อการบำรุง เพื่อให้ระบบอวัยวะภายในของเด็กแข็งแรงและกระตุ้นให้ระบบพัฒนาการของเด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ ทั้งพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ เช่น
2.1 บำรุงไตเพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้เจริญเติบโตเพิ่มความจำ เนื่องจากไตเป็นอวัยวะพื้นฐานในการเจริญเติบโตก่อนกำเนิด หากไตพร่องในเด็กจะทำให้กระดูก สมอง ผม หูและฟันมีการเจริญเติบโตที่ช้าลง ส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้น ความจำไม่ดี เป็นต้น
2.2 เพิ่มความแข็งแรงให้ม้ามเพื่อบำรุงกระเพาะอาหาร เนื่องจากม้ามเป็นอวัยวะพื้นฐานในการเจริญเติบโตหลังกำเนิด หากม้ามอ่อนแอจะทำให้กระเพาะอาหารเสียสมดุลตามไปด้วย ส่งผลให้เด็ก ระบบการย่อยดูดซึมไม่ปกติขาดสารอาหาร ท้องผูกท้องเสียง่าย
2.3 กระจายชี่ปอดเพื่อป้องกันเสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) จากภายนอก เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่ควบคุมการหายใจ หากปอดอ่อนแอจะทำให้เสียชี่จากภายนอกมากระทบต่อปอดทำให้เด็กเป็นหวัด เกิดหอบหืดได้ง่าย
2.4 ระงับใจสงบเสิน (จิตสมาธิ) เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะที่ควบคุมหลอดเลือดและเสิน หากหัวใจอ่อนแอจะส่งผลให้เด็กขี้ตกใจง่าย อาจจะมีปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน สมาธิสั้น
2.5 บำรุงตับเพิ่มความแข็งแรง ให้เอ็นกล้ามเนื้อร่างกายให้คงเจริญเติบโตตามเกณฑ์
การนวดแบบศาสตร์แพทย์แผนจีนสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ โดยยึดหลักปรับสมดุลร่างกายของอินหยาง ธาตุทั้ง 5 อวัยวะภายใน "จิงลั่ว" เป็นต้น เพื่อช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเลือดลมที่ดีป้องกันการเกิดโรคเน้น "หลักการของการรักษาภายนอกเป็นหลักการของการรักษาเข้าสู่ภายใน" เป็นการนวด คลึง ถู กดจุดตามจุดฝังเข็ม สามารถรักษาโรคได้หลากหลาย เช่น โรคท้องเสีย อาเจียน ตานขโมย เบื่ออาหาร ท้องผูก มีไข้ ไอ หอบหืด ปัสสาวะรดที่นอน ลมชัก เด็กที่มีพัฒนาการช้า เป็นต้น
เมื่อแพทย์จีนตรวจวินิจฉัยอย่างรอบคอบแล้ว ก็จะทำการใช้นิ้วมือนวดคลึงไปยังจุดต่างๆ บนตัวเด็ก การนวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยทะลวงชี่ (Qi) กระตุ้นการไหลเวียนเลือดและชี่ ทำให้มีการปรับสมดุลของอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานเป็นปกติ ถ้าทำติดต่อกันเป็นประจำยังช่วยให้เด็กสมบูรณ์แข็งแรงยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นยุคที่แพทย์แผนจีนกำลังแพร่หลายเป็นอย่างมาก ในขณะนั้นวิชากุมารเวชศาสตร์แพทย์แผนจีนได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก การรักษาในตอนนั้นคือการรักษาโรคลมชักในเด็กโดยวิธีการทุยหนา จาก ตำราอู่ฉือเออร์ปิ้งฟาง 《五十二病方》 เป็นตำราที่พูดถึงการรักษาโรคลมชักในเด็ก โดยใช้ช้อนอาหารเป็นอุปกรณ์ในการทุยหนาเด็กเพื่อรักษาโรคลมชัก ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายเป็นวิธีการกัวซาในปัจจุบัน
เด็กมีพัฒนาการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่หากไม่ได้เติบโตอย่างแข็งแรง เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่อวัยวะกลวงและอวัยวะตันยังอ่อนแอ โดยเฉพาะปอด ม้ามและไต ซึ่งอวัยวะทั้ง 3 นี้ ปอดจะเป็นอวัยวะอ่อนแอที่สุด ส่งผลให้เด็กป่วย ไม่สบายบ่อย เมื่อปอดอ่อนแอ ทำให้ม้ามและไตอ่อนแอตามไปด้วย การนวดทุยหนาในเด็ก จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของอวัยวะกลวงและตัน ช่วยบำรุงส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันการเกิดโรคในเด็กได้เป็นอย่างดี
ข้อห้ามหรือข้อควรระวังในการนวดทุยหนา
1. ผู้ป่วยกระดูกหัก หรือ กระดูกพรุน
2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ หรือมีไข้สูง
3. ผู้ป่วยโรคผิวหนังต่างๆ หรือมีบาดแผลบนร่างกาย
4. ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือ เนื้องอกที่ยังไม่สามารถระบุชนิดได้
5. ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย
6. ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงมีประจำเดือน ต้องหลีกเลี่ยงการนวดบริเวณเอว
7. ผู้ป่วยวัณโรคกระดูก
การเตรียมตัวและข้อควรทราบในการรักษาด้วยวิธีทุยหนา
1. ก่อนรับการรักษา ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
2. สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม เพื่อความสะดวกและผ่อนคลายขณะทำการรักษา
3. ควรรับประทานอาหารก่อนรับการรักษาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 1 ชั่วโมง
4. หากมีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาแผนปัจจุบันเป็นประจำควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษา
5. ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย หรือเป็นโรคผิวหนังบางชนิด โรคมะเร็ง วัณโรค หญิงตั้งครรภ์ ไม่เหมาะกับการรักษาด้วยทุยหนา
อาการที่อาจเกิดขึ้น หลังจากการรักษาด้วยวิธีนวดทุยหนา
1. มีอาการปวดตึงหรือเมื่อสัมผัสที่บริเวณที่มีการนวดแล้วรู้สึกระบมเล็กน้อย หลังการนวดทุยหนา
2. มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออกตามตัว มือเท้าเย็น คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น มักมีอาการในผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย
3. มีรอยเขียวเป็นจ้ำ ๆ ตามบริเวณที่นวด มักเกิดในผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านเกร็ดเลือด แข็งตัวหรือมีภาวะเกร็ดเลือดต่ำ
*** ในการรักษาด้วยวิธีนวดทุยหนาสำหรับเด็ก ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์จีนที่ได้มาตรฐาน มีใบประกอบโรคศิลปะตรวจสอบได้ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา ***
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
Hotline : 095-884-3518
LINE@ : @huachiewtcm
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
เปิดให้บริการการรักษาแก่ประชาชน 3 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค
1. กรุงเทพฯ โทร. 02-223-1111 ต่อ 102
2. โคราช โทร. 044-258-555 , 085-325-1555
3. ศรีราชา โทร.038-199-000 , 098-163-9898
ดูแผนที่การเดินทางของทุกสาขา
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567