Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 22954 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคเบาหวาน (เซียวเข่อ : 消渴) เป็นโรคที่มีอาการสำคัญทางคลินิกคือ อาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย ร่างกายซูบผอม หรือปัสสาวะมีรสหวาน สาเหตุที่สำคัญคือ พันธุกรรม การ พร่องของอินเเละสารน้ำ ความแห้งและความร้อนแกร่ง และยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอาการเลือคั่งอีกด้วย
โรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อย เป็นโรคที่ทำลายสุขภาพประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดโรคนี้มีแนวโน้มสูงมากขึ้นทุกปี การรักษาโรคนี้ด้วยการแพทย์แผนจีนนี้สามารถช่วยลดและป้องกันอาการข้าง เคียงต่าง ๆ ที่เกิดร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การวินิจฉัยโรคโดยวิธีแพทย์แผนจีน
อาการกระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย ร่างกายซูบผอม หรือค่าน้ำตาลในเลือดสูง เป็นหลักในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดังกล่าวข้างต้นไม่เด่นชัด แต่เมื่อถึงวัยกลางคนจะเริ่มมีอาการชัดเจน ร่วมกับมักชอบกินอาหารมันและรสจัด มีสภาพร่างกายอ้วน จนกระทั่งอาจพบมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น วัณโรค บวมน้ำ เวียนศีรษะ เจ็บแน่นหน้าอก โรคหลอดเลือดสมอง ตาบอด เป็นฝี เป็นต้น หรือในทางกลับกัน ถ้าพบโรคเหล่านี้ควรสันนิฐานว่าอาจจะมีโรคเบาหวานร่วมด้วย
หลักการรักษาโดยวิธีแพทย์แผนจีน
หลักสำคัญ คือการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ผู้ที่มีรูปร่างอ้วนหรือน้ำหนักเกินจัดอยู่ในกลุ่มเสมหะปฏิกูล ผู้ที่มีรูปร่างสันทัดหรือซูบผอมจัดอยู่ในกลุ่มอินพร่อง กลุ่มเสมหะปฏิกูล เน้นการสลายเสมหะเป็นหลัก กลุ่มชี่ติดขัดเสมหะอุดกั้น ต้องปรับการไหลเวียนชี่และสลายเสมหะ กลุ่มม้ามพร่องเสมหะชื้น ต้องบำรุงม้ามสลายเสมหะ กลุ่มที่แปรสภาพเป็นความร้อนต้องขจัดร้อน กลุ่มอินพร่องชี่ติดขัดต้องบำรุงอิน ปรับการไหลเวียนชี่ สำหรับผู้ที่มีร่างกายผอม ต้องไม่ลืมบำรุงอิน
โรคนี้มักทำให้การไหลเวียนของเลือดติดขัด จนเกิดอินพร่อง และหยางพร่องในที่สุด ทำให้เกิดแผลเบาหวานที่เท้า โรคตา ไอเรื้อรัง เป็นต้น เมื่อรักษาให้คำนึงถึงสุขภาพองค์รวม และเลือกใช้ยาเพิ่มการไหลเวียนและสลายเลือดคั่งอย่างเหมาะสม ขจัดพิษร้อน บำรุงม้ามเสริมชี่ เสริมบำรุงอินไต และเสริมความอุ่นให้หยางไต เป็นต้น
การรักษาตามการวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการโรค
โดยวิธีการใช้ตำรับยาจีนที่เหมาะสมตามกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการปอดร้อน สารน้ำถูกทำลาย
หลักการรักษา : ขจัดความร้อนในปอด เพิ่มสารน้ำแก้กระหาย บำรุงอินให้ความชุ่มชื้นไต บำรุงชี่สร้างสารน้ำ
2. กลุ่มอาการความร้อนกระเพาะอาหารสะสม
หลักการรักษา : ขจัดระบายไฟในกระเพาะอาหาร บำรุงอินเพิ่มสารน้ำ บำรุงอิน เพิ่มสารน้ำ ดับกระหายลดอาการหงุดหงิด บำรุงชี่ ปรับสมดุลจงเจียว
3. กลุ่มอาการชี่และอินพร่อง
หลักการรักษา : เสริมม้ามบำรุงชี่ สร้างสารน้ำ บำรุงกระเพาะอาหาร บำรุงชี่ เสริมอิน บำรุงม้ามและไต
4. กลุ่มอาการอินไตพร่อง
หลักการรักษา : บำรุงอินไต เสริมหน้าที่การเหนี่ยวรั้งของไต บำรุงอิน เสริมไต สร้างสารน้ำดับกระหาย
5. กลุ่มอาการอินและหยางพร่อง
หลักการรักษา : บำรุงอิน เสริมไต บำรุงหยาง เสริมหน้าที่การเหนี่ยวรั้งและดึงกลับของไต อบอุ่นหยางของไต ปรับการไหลเวียนของชี่และน้ำ
การรักษาด้วยการฝังเข็ม
โรคเบาหวานเกี่ยวข้องกับปอด กระเพาะอาหารและไต โดยเฉพาะสำคัญที่สุด คือ ไต ดังนั้น แนวทางในการรักษาโดยวิธีฝังเข็ม แพทย์จีนจะเลือกจุดฝังเข็มที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วนนี้
การรมยา (อ่านต่อ - การรมยาคืออะไร ? รักษาโรคได้อย่างไร)
หลักการและวิธีการ : การรักษาด้วยการรมยาเน้นที่จุดบนเส้นลมปราณมือไท่อินปอด เส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม เส้นลมปราณเท้าเส้าอินไตรวมไปถึงจุดตามแนวสันหลัง โดยใช้วิธีรมยาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น วิธีรมยาแบบพออุ่น (温和灸) วิธีรมยาโดยมีวัสดุคั่น (隔药灸) และวิธีฝังเข็มอุ่น (温针灸) เป็นต้น
วิธีรักษาอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบฝังเข็มใต้ผิวหนัง ฝังเข็มหู การทุยหนา การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม การฝึก ชี่กง การแช่เท้าด้วยยาจีน การใช้ยาจีนแบบภายนอก การใช้วิธีไอออนโตฟอรีซีส(Iontophoresis) ด้วยยาจีน การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
โรคเบาหวาน เป็นโรคของระบบเมตะบอลิซึมที่มีระดับน้ำตาลสูงในเลือดเป็นสำคัญ ในทางคลินิกมักมีรูปแบบอาการ คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักตัวลด อาจพบว่าไม่มีเรี่ยวแรงร่างกายผ่ายผอม เมื่อมีอาการนานเรื้อรังจะพบโรคแทรกซ้อนมากมาย
แม้การแพทย์แผนจีนจะไม่มีโรคที่ชื่อว่า “เบาหวาน” แต่จากบันทึกในคัมภีร์แพทย์แผนจีน พบว่า อาการที่กล่าวข้างต้นนี้ตรงกับโรคทางแพทย์แผนจีนโบราณ ที่เรียกว่า “เซียวเข่อ (消渴)” โดยทั่วไปกลไกของโรคมีสาเหตุจากอินพร่องเป็นพื้นฐาน ความร้อนและความแห้งเป็นอาการที่แสดงออก โรคมีผลกระทบต่ออวัยวะปอด กระเพาะอาหารและไต หลักการรักษามักจะเน้นที่ไตเป็นหลัก โดยการบำรุงอินไต ขจัดร้อน สร้างสารน้ำดับกระหาย
สาเหตุของโรค เกิดจากพันธุกรรม อวัยวะตันทั้งห้าอ่อนแอ อินของไตพร่อง รับประทานอาหารหวานและมันมากเกินไป อารมณ์ไม่สมดุล นั่งนานเคลื่อนไหวน้อย ออกกำลังกายน้อย ทำงานตรากตรำหรือสุขสบายมากเกินไป เป็นต้น
สอบถามข้อมูลหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ท่านสามารถแอดไลน์ เพื่อพูดคุย หรือสอบถามแนวทางการรักษาเบื้องต้น
LINE@ ได้ที่ : @huachiewtcm (พิมพ์ @ ด้วยนะคะ)
ตอบคำถาม 24 ชั่วโมง
HOTLINE : 095-884-3518
ข้อมูลประกอบบทความ : การฝังเข็มรมยา เล่ม 5
การรักษากลุ่มอาการเมตาบอลิกและโรคที่เกี่ยวข้องด้วยการฝังเข็มและยาจีน
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีน
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567