โรคอ้วนลงพุง

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  20770 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคอ้วนลงพุง

Metabolic syndrome หรือ กลุ่มอาการเมตาบอลิก หรือเป็นที่กล่าวถึงในภาษาไทยโดยทั่วไปว่า “โรคอ้วนลงพุง” อันเป็นลักษณะที่เด่นชัดอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการเมตาบอลิก ซึ่งประกอบด้วย ภาวะอ้วนลงพุง ระดับไขมันผิดปกติในเลือด ความดันโลหิตสูง และระดับน้ำตาลสูงในเลือด อย่างไรก็ตามกลุ่มอาการนี้ ยังไม่มีชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการ จึงใช้ทับศัพท์ว่า “กลุ่มอาการเมตาบอลิก”



ความชุกของกลุ่มอาการเมตาบอลิกขึ้นกับอายุ เชื้อชาติ และเพศ ประมาณว่าประชากรโลกวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 20 - 25 ป่วยด้วยกลุ่มอาการเมตาบอลิก และมีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตจากกลุ่มอาการนี้ประมาณ 2 เท่าของประชากรทั่วไป จากการศึกษากลุ่มอาการเมตาบอลิกในประชากรไทย ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 5,091 ราย โดยใช้เกณฑ์ของ NCEP/ATPIII (National Cholesterol Education Program/ Adult Treatment Panel III) พบความชุกร้อยละ 29.3 และจากการศึกษาในประชากรทหารไทยและครอบครัว อายุ 18 - 60 ปี จำนวน 15,375 ราย


เมื่อปี พ.ศ. 2550 พบความชุกร้อยละ 24.4 - 30.1 โดยเพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย กลุ่มอาการเมตาบอลิกเป็นกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดส่วนปลายของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ตลอดจนเพิ่มอัตราความพิการและการเสียชีวิต โดยพบว่าอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้น 1.5 - 3.5 เท่า ของประชากรทั่วไป ในสภาพสังคมเมืองปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินชีวิตและการบริโภคอาหารมีความสะดวกสบาย และมีสุขอนามัยที่ดีแตกต่างไปจากสังคมในอดีตอย่างมาก แต่กลุ่มอาการเมตาบอลิกกลับเพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพในสังคมยุคใหม่ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง

 

ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงชัดเจนมักไม่มีปัญหาในการวินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิก อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในภายหลังพบว่า การวินิจฉัยและให้การบำบัดกลุ่มอาการนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สามารถลดอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนและโรคที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีนัยสำคัญ เกณฑ์การวินิจฉัยในระยะหลัง จึงได้ปรับปรุงให้วินิจฉัยได้เร็วกว่าเดิม

คำจำกัดความและเกณฑ์การวินิจฉัย

เนื่องจากกลุ่มอาการเมตาบอลิกเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหม่ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลใหม่จากการศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คำจำกัดความและเกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิก จึงได้มีการประชุมปรับปรุงกันเรื่อยมา จากหลายองค์กรทางการแพทย์ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ค.ศ. 1999, European Group for the Study of Insulin Resistance (EGIR) ค.ศ. 1999, American Association of Clinical Endocrinologists (AACE) ค.ศ. 2003, NCEP/ATPIII ค.ศ. 2003 และ International Diabetes Federation (IDF) ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่นิยมใช้และเป็นเกณฑ์ที่ American Heart Association (AHA) และ National Heart, Lung and Blood Institute ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิกในกลุ่มประชากรเอเชียของ IDF แสดงไว้ใน ตารางที่ 1 โดยการวินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิก ต้องมีภาวะอ้วนลงพุง (central obesity) โดยการวัดรอบเอวได้มากกว่าเกณฑ์ หรือใช้ดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) มากกว่า 30 กก./ม.2 เป็นข้อหลัก ร่วมกับอย่างน้อย 2 ข้อขึ้นไป ใน 4 ข้อของเกณฑ์ร่วม ได้แก่ 

  • 1) ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงในเลือด
  • 2) ระดับ HDL-cholesterol ต่ำในเลือด
  • 3) ความดันโลหิตสูง
  • 4) ระดับน้ำตาลสูงในเลือดขณะอดอาหาร (raised fasting plasma glucose: FPG)

สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่จากการศึกษาผู้ป่วยจำนวนมากพบว่า มีปัจจัยที่สำคัญเด่นชัดร่วมกัน 2 ประการ คือ ภาวะอ้วนลงพุง (abdominal or central obesity) และ ภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) นอกจากนี้ยังพบปัจจัยอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดกลุ่มอาการนี้อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ พันธุกรรม เชื้อชาติ ความเฉื่อยเนือยในการเคลื่อนไหว อายุที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการหลั่งสารเคมีต่าง ๆ ภายในร่างกาย


ภาวะดื้ออินซูลิน
เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ตับ กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อไขมันตอบสนองน้อยลง หรือไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์เบต้าของตับอ่อน ทำให้กลูโคสซึ่งเป็นน้ำตาลในเลือดไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ได้ ภาวะนี้กระตุ้นให้ร่างกายต้องสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น จนเกิดภาวะอินซูลินสูงในเลือด (hyperinsulinaemia) ทำให้เกิดผลเสียต่อการทำงานของร่างกาย และมีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น เมื่อถึงระยะหนึ่งซึ่งเซลล์เบต้าไม่สามารถสร้างอินซูลินให้เพียงพอได้อีกต่อไป ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ภาวะอ้วนลงพุงมีความสัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลินและกลุ่มอาการเมตาบอลิก โรคอ้วนทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมทั้งโรคอ้วนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ตารางที่ 1 เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิก
ทุกรายที่วินิจฉัย กลุ่มอาการเมตาบอลิก ต้องมี :
- ภาวะอ้วนลงพุง (central obesity) โดยการวัดรอบเอว* ³  90 ซม.ในเพศชายและ ³ 80 ซม.ในเพศหญิง (เกณฑ์รอบเอวสำหรับชาวเอเชีย)ร่วมกับอย่างน้อย 2 ข้อ ใน 4 ข้อ ต่อไปนี้
1
ระดับไตกลีเซอไรด์สูง³ 150 mg/dL (1.7 mmol/L)
หรือได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับความผิดปกติของไขมันชนิดนี้
2
ระดับ HDL-cholesterol ต่ำ< 40 mg/dL (1.03 mmol/L) ในเพศชาย
< 50 mg/dL (1.29 mmol/L) ในเพศหญิง
หรือได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับความผิดปกติของไขมันชนิดนี้
3
ความดันโลหิตสูงsystolic BP ³ 130 หรือ diastolic BP ³ 85 mmHg
หรือได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงซึ่งได้วินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้
4
ระดับน้ำตาลสูงในเลือดขณะออาหาร (raised fasting plasma glucose: FPG)FPG ³ 100 mg/DL (5.6 mmol/L)
หรือได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก่อนหน้านี้
*ถ้าดัชนีมวลกาย > 30 kg/m2 ให้ถือเป็นเกณฑ์ของภาวะอ้วนลงพุงได้ โดยไม่จำเป็นต้องวัดรอบเอว


การรักษา
เมื่อวินิจฉัยเป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิกแล้ว ควรดำเนินการจัดการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่อนดำเนินการรักษาต้องประเมินสถานะของโรคและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังแสดงไว้ในตารางที่ 2 ซึ่งบางปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการเมตาบอลิกด้วย

ตารางที่ 2 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
1
ความดันโลหิตสูง
2
ชายอายุมากกว่า 55 ปี หญิงอายุมากกว่า 65 ปี
3
สูบบุหรี่
4
ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ได้แก่
-        Total cholesterol > 190 มก./ดล. หรือ
-        LDL-C > 115 มก./ดล. หรือ
-        HDL-C < 40 มก./ดล. ในชาย และ < 46 มก./ดล.ในหญิง หรือ
Triglyceride > 150 มก./ดล.
5
โรคเบาหวาน หรือ fasting plasma glucose > 100 มก./ดล. หรือ glucose tolerance test ผิดปกติ
6
ประวัติการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในบิดา มารดา หรือพี่น้อง ก่อนวัยอันควร ได้แก่ ชายเกิดโรคก่อนอายุ 55 ปี หญิงเกิดโรคก่อนอายุ 65 ปี
7
อ้วนลงพุง เส้นรอบเอว ³  90 ซม. ในเพศชาย และ ³  80 ซม. ³ ในเพศหญิง

 

การรักษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การรักษาปฐมภูมิ และการรักษาทุติยภูมิ
การรักษาปฐมภูมิ คือ การปรับเปลี่ยนพื้นฐานสุขภาพเข้าสู่วิถีแห่งสุขภาพ คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต (lifestyle) จากที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อส่งเสริมสุขภาพ การดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน ได้แก่ พฤติกรรมการบริโภค การทำงาน การออกกำลังกาย การพักผ่อน กิจวัตรและกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงเจตคติและสุขภาพจิตด้วย


โดยทั่วไป มักแนะนำให้ปรับลดแคลอรี่ที่ได้รับจากอาหาร ปรับส่วนประกอบของอาหารให้ถูกสัดส่วนและเหมาะสมกับโรคที่เป็น และเพิ่มกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีรายงานการศึกษาในผู้ป่วยโรคอ้วน โดยการลดแคลอรี่จากอาหารที่รับประทานต่อวันลงจากเดิม 500 – 1000 แคลอรี่ และลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 5 - 10 ของน้ำหนักเดิมในช่วงปีแรก สามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของโรคหัวใจและหลอดเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที ก็ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน


ผู้ป่วยที่วินิจฉัยเป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิก ต้องได้รับการรักษาปฐมภูมิทุกราย อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่แนะนำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักถามหายารักษาโรคมากกว่าที่จะคิดเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยเกิดจิตสำนึกจากภายในก่อน แพทย์ควรให้เวลาในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย กิจกรรมแต่ละอย่างในการดำเนินชีวิต ควรให้ผู้ป่วยได้พิจารณาและวิจารณ์ถึงผลกระทบต่อสุขภาพและผลที่จะติดตามมาในระยะยาว เมื่อเกิดจิตสำนึกในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตแล้ว จึงพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเอง


ในการแพทย์แผนจีน มีทฤษฎี ปัจเจกสุขภาพ หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานสุขภาพองค์รวม ที่เกิดจากการหล่อหลอม จากปัจจัยที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์ ร่วมกับปัจจัยแวดล้อมทั้งมวลหลังถือกำเนิด เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสุขภาพทั้งร่างกายและจิตที่เฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งใช้อธิบายความแตกต่างของสุขภาพในแต่ละบุคคล รวมถึงประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการประเมินสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และให้การบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐานที่แตกต่างกันในแต่ละราย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิกได้ด้วย เนื้อหาของทฤษฎีนี้ ได้บรรยายไว้โดยละเอียดในบทที่ 6 ของตำราเล่มนี้

การรักษาทุติยภูมิ คือ การรักษาโรคและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ให้การรักษาปฐมภูมิ หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอหรือไม่สามารถรักษาได้ รวมถึงการรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษากลุ่มอาการเมตาบอลิกโดยตรง การรักษาด้วยยา จึงมีเป้าหมายที่การรักษาโรค หรือปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของกลุ่มอาการ ได้แก่ ระดับไขมันผิดปกติในเลือด ความดันโลหิตสูง ภาวะดื้ออินซูลินและระดับน้ำตาลสูงในเลือด
ระดับไขมันผิดปกติในเลือด (dyslipidaemia)
เป้าหมาย
- ระดับ ไตรกลีเซอไรด์ ลดลง
- ระดับ HDL-c เพิ่มขึ้น
- ระดับ LDL-c ลดลง
ตัวเลือก

  • 1) ยากลุ่ม Fibrates (PPAR alpha agonist) มีการศึกษายืนยันว่าช่วยทำให้ระดับไขมันในเลือดทุกชนิดที่ผิดปกติมีระดับดีขึ้น และสามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิกได้
  • 2) ยากลุ่ม Statins มีการศึกษาจำนวนมาก ยืนยันผลการรักษาที่ดีของยากลุ่มนี้ ทั้งในการรักษาระดับไขมันที่ผิดปกติและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • 3) การใช้ยากลุ่ม Fibrates ร่วมกับ Statins สามารถใช้ได้ แต่อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพิ่มขึ้น จึงควรพิจารณาใช้อย่างระมัดระวัง

ความดันโลหิตสูง
การพิจารณาให้ยา โดยทั่วไปใช้เกณฑ์ความดันโลหิตค่าบน ³ 140 หรือค่าล่าง ³ 90 mmHg 
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ใช้เกณฑ์ความดันโลหิตค่าบน ³ 130 หรือค่าล่าง ³ 80 mmHg
ตัวเลือก

  • 1) ยากลุ่ม ACEI (angiotensin converting enzyme inhibitors) และกลุ่ม ARB (angiotensin receptor blockers) เป็นยาที่ดีในการรักษาความดันโลหิตสูง รวมทั้งมีผลวิจัยบางรายงานพบว่าการใช้ในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยเบาหวาน ให้ผลการรักษาที่ดีกว่ายาลดความดันกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตามการศึกษาในระยะหลังส่วนใหญ่พบว่า ผลการรักษาที่ดี ขึ้นกับความสามารถในการลดระดับความดันโลหิตของยาแต่ละชนิด มากกว่าชนิดของยา
  • 2) ยาลดความดันกลุ่มอื่น ยังไม่มีรายงานผลการศึกษาในผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิกโดยตรงภาวะดื้ออินซูลินและระดับน้ำตาลสูงในเลือด

ปัจจุบัน มีความพยายามที่จะศึกษายาที่สามารถลดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งอาจจะป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานในผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิกได้ ยา metformin ซึ่งมีรายงานการใช้ยาในผู้ที่อยู่ในภาวะก่อนเกิดโรคเบาหวาน (prediabetes) พบว่ายานี้ช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้ ยาอื่น ๆ ที่มีรายงานการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้ ในผู้ป่วยที่มี impaired glucose tolerance (IGT) ได้แก่ ยากลุ่ม thiazolidinediones   ยา acarbose และยา orlistat

เมื่อพิจารณาถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการเมตาบอลิก เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติในเลือด เบาหวาน และโรคอ้วน  โดยใช้มุมมองในการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนปัจจุบัน จะพบว่าเป็นกลุ่มโรคที่มีความสัมพันธ์กัน

การใช้ยาจีนในการรักษากลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการเมตาบอลิก เป็นวิธีการรักษาที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลดี ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของการแพทย์แผนจีน

ข้อมูลประกอบบทความ
1. การฝังเข็มรมยา เล่ม 5
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-616-11-1591-3


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้