นอนไม่หลับ หลับไม่ลึก ตื่นมาแล้วเพลีย ไม่สดชื่น

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  36485 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นอนไม่หลับ หลับไม่ลึก ตื่นมาแล้วเพลีย ไม่สดชื่น

นอนไม่หลับ คือ อาการที่ไม่สามารถหลับได้ตามเวลานอนปกติ หลับไม่ลึก ตื่นมาแล้วเพลีย ไม่สดชื่น อาการนอนไม่หลับมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการเบื้องต้นธรรมดาอย่างนอนหลับๆตื่นๆ หรือตื่นขึ้นมาแล้วนอนหลับต่ออีกไม่ได้ ตาค้าง นอนไม่หลับทั้งคืนจนสว่าง กระทบต่อการดำเนินชีวิต เนื่องจากแทนที่ร่างกายจะได้พักผ่อนตามเวลาก็ไม่สามารถทำได้

สาเหตุอันเป็นที่มาของอาการนอนไม่หลับนั้น มีผลมาจากหลายประการ เช่น การป่วยเรื้อรัง การทำงานมากเกินไป ใช้สมอง ใช้พลังกายใจมาก คิดมากเกินไป อารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะดีใจมากหรือเศร้าเสียใจมาก อารมณ์กระทบกระเทือนไปถึงภายในอวัยวะข้างใน เกิดความร้อนในร่างกาย  ภาวะเครียด โรคของคนทำงาน ออฟฟิศซินโดรม โรคกระดูกคอเคลื่อน ม่านตาอักเสบ รวมไปถึงโรคความดันโลหิตสูง และอาการเจ็บปวดต่าง ๆ ทั้ง ปวดเอว ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน หรือแม้กระทั่งการเป็นหวัด ไปจนถึงอาการปวดกระเพาะ ภาวะอาการเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุแห่งภาวะการนอนไม่หลับ หลับไม่ลึก หลับๆตื่นๆ

คนที่โชคดีและน่าอิจฉามากที่สุดก็คงจะเป็นคนที่นอนหลับได้ง่ายโดยไม่ต้องพยายามทำอะไร เพียงแค่หัวถึงหมอนปุ๊บก็หลับได้ทันที  แถมยังหลับสนิทอีกด้วย แต่ทำไมกับเรา ทั้งพลิกซ้ายก็แล้ว พลิกขวาก็แล้ว นับแกะ นับแพะ อะไรก็แล้ว ก็ยังนอนไม่หลับทำอย่างไรดี ?

การได้นอนหลับอย่างสบาย ไม่ฝันเยอะ หลับยาวถึงเช้า 
ตื่นมาด้วยความรู้สึกสดชื่น พลังงานดี ไม่อ่อนเพลีย
นั่นคือที่สุดแห่งความมีสุขภาพที่ดีแล้ว

"อาการนอนไม่หลับ (Insomnia)"
ไม่ว่าจะนอนไม่หลับทั้งคืน หรือตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วนอนหลับต่อไม่ได้ หลับต่อยาก หลับไม่สนิท หลับแล้วตื่นง่าย หรือจะเป็นอาการหลับๆ ตื่นๆ ก็ไม่ควรนิ่งดูดาย หรือมัวแต่นอนนับแกะนับแพะอยู่ หรือคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อเรานอนไม่หลับ มันย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเราเกือบจะทั้งหมด อีกทั้งยังทำให้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย โดยเฉพาะสมองของเราหย่อนสมรรถภาพลง นั่นเป็นเพราะแทนที่ร่างกายของเราจะได้พักผ่อนในเวลาที่ควรพัก แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะนอนไม่หลับ ทำให้ในตอนเช้าจึงรู้สึกอิดโรย ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า ขอบตาดำ ใบหน้าหมองคล้ำ ดูแก่ก่อนวัย คิดอะไรไม่ค่อยออก ยิ่งในเวลาทำงาน ก็มักจะมีอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เสมอ ส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพอีกด้วย

อาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวเดียวของผลที่จะเกิดขึ้นของอาการนอนไม่หลับของตัวเองและยังคงคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่า ยิ่งเราปล่อยให้อาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันนานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการทำลายอวัยวะภายในร่างกายของเราให้เสื่อมลงเร็วมากขึ้นเท่านั้น นั่นก็เพราะว่า การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุดของอวัยวะภายในร่างกายของเรา

ดังนั้น อาการนอนไม่หลับ จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่องปกติที่เราจะสามารถมองข้ามหรือปล่อยปละละเลย โดยไม่หาทางแก้ไขรักษา แต่ทั้งนี้เชื่อว่ามีใครหลาย ๆ คนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ อาจจะกำลังรักษาโดยการใช้ยานอนหลับอยู่ก็ได้ เพราะคิดว่าการใช้ยานอนหลับเป็นวิธีการที่สามารถช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับได้ดีกว่าวิธีอื่น ๆ

แต่รู้หรือไม่ว่า การที่เราพึ่งพายานอนหลับเพื่อช่วยให้เรานอนหลับ มันแย่ยิ่งกว่าการที่เรานิ่งดูดายหรือมองเรื่องการนอนไม่หลับเป็นเรื่องปกติเสียอีก นั่นเพราะในตัวยาบางตัวของยานอนหลับบางชนิด มีสารออกฤทธิ์ที่อันตรายถึงขั้นทำให้สูญเสียความทรงจำหรือร้ายแรงไปถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี หากมีการใช้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน 

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรจะหาวิธีการรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยวิธีที่ได้ผลและมีความปลอดภัยแทนการใช้ยานอนหลับจะดีกว่า ซึ่งก็นับว่าเป็นข่าวดี ที่ทางองค์การอนามัยโลกได้ออกมาสรุปถึงผลงานวิจัย และจัดแบ่งโรคหรือกลุ่มอาการที่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม ออกเป็น 4 กลุ่มโรค โดยอาการนอนไม่หลับ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 นั่นคือ กลุ่มโรคหรืออาการที่ใช้การฝังเข็ม รักษาแล้วได้ผลดี นั้นหมายความว่า อาการนอนไม่หลับสามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม ซึ่งการฝังเข็มถือเป็นศาสตร์ด้านการรักษาโรคและอาการต่าง ๆ แขนงหนึ่งของการแพทย์แผนจีนที่ได้รับการยอมรับ และยกให้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคควบคู่ไปกับแพทย์แผนตะวันตก

อาการนอนไม่หลับ กับวิธีการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นศาสตร์ในด้านการรักษาที่มีทฤษฎีและหลักการวินิจฉัยรักษาโรคที่แตกต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยถือว่า มนุษย์มีความเป็นเอกภาพกับธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อฤดูกาล เวลา สถานที่ มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีผลกระทบต่อร่างกาย จึงส่งผลทำให้เกิดโรคและอาการต่างๆ ขึ้น



ศาสตร์การแพทย์แผนจีนจะมีหลักในการวินิจฉัยโรคหรืออาการต่าง ๆ อยู่ 4 ประการ คือ การดู การฟังและการดมกลิ่น การถาม และการคลำ โดยลักษณะเด่นพิเศษของการตรวจวินิจฉัยของการแพทย์แผนจีน คือ การดูลิ้นและการแมะ (การจับชีพจร) ทั้งนี้ สำหรับอาการนอนไม่หลับ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนจะเรียกว่า "Shimian" ซึ่งมีสาเหตุและกลไกการเกิดโรค มาจากการทำงานที่ผิดปกติของ หัวใจ ม้าม ไต อินพร่อง และการทำงานของหยางตับมากเกินไป โดยการรักษาอาการนอนไม่หลับ หมอจีนจะทำการวินิจฉัยโดยการวิเคราะห์ตามกลุ่มอาการ ดังนี้


1. ไฟหัวใจและไฟตับมากเกิน
อาการ: หลับแล้วตื่นง่าย ฝันมาก จิตใจว้าวุ่น โกรธง่าย วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะแบบขยายออก เจ็บเสียดที่หน้าอก มีรสขมในปาก หิวน้ำ ปัสสาวะสีเข้มและอุจจาระแข็ง

ลักษณะลิ้น: ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง
ลักษณะชีพจร: ชีพจรตึง - เร็ว (Xian-ShuMai)

2. เสมหะร้อนกระทบหัวใจ
อาการ:
กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะแบบหนัก ๆ แน่นหน้าอกและลิ้นปี่ หรืออาเจียนเป็นเสมหะเหนียว มีรสขมในปาก และรู้สึกเหนียวในปาก

ลักษณะลิ้น: ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว
ลักษณะชีพจร: ชีพจรลื่น - เร็ว (Hua-ShuMai)

3. ชี่ติดขัดและเลือดคั่ง

อาการ: นอนไม่หลับเรื้อรัง จิตใจหดหู่ ปวดเจ็บเหมือนเข็มแทงหน้าอก เรอบ่อย สีหน้าหมองคล้ำ
ลักษณะลิ้น: มีสีคล้ำม่วง
ลักษณะชีพจร: ชีพจรฝืด (SeMai)

4. หัวใจและม้ามพร่อง

อาการ: หลับยาก ฝันมาก ตื่นงาย ใจสั่น ขี้หลงขี้ลืม อ่อนเพลียง่าย ไม่อยากอาหาร หน้าซีด
ลักษณะลิ้น: ลิ้นซีด ฝ้าบาง
ลักษณะชีพจร: ชีพจรจมอ่อน - เล็ก (Xi-RuoMai)

5. หัวใจและไตทำงานไม่ประสานกัน

อาการ: มีอาการนอนไม่หลับ  วิงเวียนศีรษะ มีเสียงในหู ปากแห้ง ใจสั่น ร้อนที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหน้าอก ปวดหลังและเข่าอ่อนไม่มีแรง ขี้หลงขี้ลืม ในเพศชายอาจมีอสุจิเคลื่อน
ลักษณะลิ้น: ลิ้นแดง
ลักษณะชีพจร: ชีพจรเล็ก - เร็ว (Xi-ShuMai)

ภาวะการนอนไม่หลับกับภูมิปัญญาของการแพทย์แผนจีน
การนอนไม่หลับแม้จะเกี่ยวพันกับอวัยวะกลวงทั้ง 5 และอวัยวะตันทั้ง 6 แต่ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการไหลเวียนของชี่เลือดไม่ปกติ เพราะภาวะการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิทมักมีสาเหตุหลักจากจิตประสาท เพราะการนอนไม่หลับยิ่งทำให้จิตประสาทแปรปรวนมากยิ่งขึ้น เมื่อชี่เลือดขาดสมดุล การรักษาจึงควรใช้วิธีปรับชี่เลือดของอวัยวะภายในให้โปร่งโล่ง ตับทำหน้าที่ควบคุมจิตใจ เกี่ยวพันกับการระบาย การปรับอวัยวะในส่วนนี้จึงมีความสำคัญกับการรักษา



การรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยการฝังเข็ม
หลังจากที่แพทย์จีนทำการตรวจวินิจฉัยโดยการวิเคราะห์ตามกลุ่มอาการแล้ว จะใช้เข็มที่ทำด้วยสแตนเลสขนาดเล็ก ที่มีความยาวประมาณ 1 - 10 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความหนาบางของบริเวณที่จะลงเข็มลงไปตามจุดฝังเข็ม เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ ดังนี้ 

  • การฝังเข็มตามแนวเส้นลมปราณ การรักษาอาการนอนไม่หลับในแต่ละครั้ง แพทย์จีนจะเลือกจุดฝังเข็ม 3 - 5 จุด เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับที่มีสาเหตุมาจากไฟหัวใจและไฟตับมากเกิน เสมหะร้อนกระทบหัวใจ ส่วนอาการนอนไม่หลับที่มีสาเหตุมาจากชี่ติดขัดและเลือดคั่งหมอจีนจะฝังเข็มกระตุ้นระบาย และอาการนอนไม่หลับที่มีสาเหตุมาจากหัวใจและม้ามพร่อง หมอจีนจะฝังเข็มกระตุ้นเพื่อบำรุงหรืออาจใช้รมยาที่จุดด้านหลังด้วย
 
  • การฝังเข็มหู  เลือกใช้จุดฝังเข็ม 2 - 3 จุด กระตุ้นความแรงระดับกลาง โดยคาเข็มไว้ 20 นาที หรือใช้เม็ดหวังปู้หลิวสิงติดตามจุดที่เลือก ก่อนนอนกระตุ้น 2- 3 นาที

 

ในการรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยการฝังเข็ม ควรทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จึงจะเห็นผล ซึ่งจำนวนครั้งของการเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มนั้น จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการนอนไม่หลับในแต่ละคน ทั้งนี้ การฝังเข็มยังสามารถช่วยให้ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยทางด้านจิตใจได้อีกทางหนึ่งด้วย

การรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยการนวดทุยหนา (Tuina)
สำหรับการแก้ไข รักษาภาวะการนอนไม่หลับด้วยวิธีการนวดทุยหนานั้น หลักการใหญ่ของการนวดทุยหนารักษาอาการนี้คือ การปรับสมดุล อิน-หยาง เนื่องจากภาวะนี้เกิดมาจากความไม่สมดุล การเสียความสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ  การปรับร่างกายก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานสุขภาพของแต่ละคน เช่น บางคนอาจเป็นเพราะอาการเจ็บป่วยเรื้อรังก็ต้องปรับแบบหนึ่ง หรือ นอนไม่หลับเพราะทำงานหนักเกิน จิตใจเคร่งเครียดเกินไปก็ต้องปรับการรักษาอีกแบบ เป็นต้น ซึ่งเมื่อแพทย์จีนตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก็สามารถประเมินการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละรายได้

สำหรับหลักการสำคัญของการนวดทุยหนาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ จะเป็นการปรับสมดุลยภาพระหว่าง อิน - หยาง (Yin - Yang) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการแพทย์แผนจีน เพราะการนอนไม่หลับเกิดจากอิน (Yin) - หยาง (Yang) เสียสมดุล ดังนั้นจึงต้องทำการปรับความสมดุลระหว่างกายกับจิตให้กลับคืนสู่สภาวะเดิม แต่ทั้งนี้ ในการปรับสมดุลเพื่อแก้ไขและรักษาอาการนอนไม่หลับ ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานอาการของแต่ละคนด้วย เช่น ในบางคนที่มีอาการนอนไม่หลับก็อาจจะเกิดมาจากอาการเจ็บป่วยที่ตนเองเป็นมาอยู่ก่อนแล้ว หรือในบางคนที่มีอาการนอนไม่หลับก็อาจจะเป็นเพราะทำงานหนักเกินไป เคร่งเครียดมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งเมื่อหมอจีนได้ทำการวินิจฉัยอย่างชัดเจนแล้วว่า อาการนอนไม่หลับนั้น เกิดมาจากสาเหตุอะไร ก็จะรักษาที่ต้นเหตุนั้น ๆ ต่อไป

การนวดทุยหนา ถือเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนอีกแขนงหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาได้ไม่แพ้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนแขนงอื่นๆ






การรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยหลักการหย่างเซิงสุขภาพ
เทคนิควิธีการกิน-ดื่ม-ออกกำลัง
ตามความเหมาะสมของร่างกาย
หลักการของแพทย์แผนจีนคือการแก้จุดบกร่องในร่างกายด้วยอาหาร อาหารมีสรรพคุณในการบำบัดรักษาความผิดปกติในร่างกายเช่นเดียวกับยา นอกจากอาหารจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและเพิ่มพลังในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติแล้ว ยังมีความสำคัญในแง่เป็นยาด้วย อาหารที่ดีมีสรรพคุณในการฟื้นฟูร่างกาย เช่น เมื่อรู้สึกไม่ค่อยสบาย เหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย ฯลฯ ดังนั้น การรักษาสุขภาพด้วยการกินอาหารอย่างเหมาะสม สมดุล ทุกวันจะช่วยบำบัดอาการบกพร่องในร่างกายให้ดีขึ้น

การออกกำลังกายและการใช้แรงในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานในร่างกาย หากไม่เคลื่อนไหวร่างกายเลยก็จะทำให้เลือดและลมปราณเดินไม่สะดวก ระบบต่างๆในร่างกาย อวัยวะหย่อนสมรรถภาพ สิ่งสำคัญคือ ต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย พยายามรักษาสมดุลเข้าไว้


สอบถามข้อมูลและแนวทางการรักษาในเบื้องต้น
LINE Official : @huachiewtcm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้