ไหล่ติด

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  18614 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไหล่ติด

Frozen shoulder หรือ Adhesive capsulitis หมายถึง ข้อไหล่เคลื่อนไหวติดขัด ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเอง หรือจับให้เคลื่อนไหวโดยผู้อื่น สาเหตุของข้อไหล่ติดเกิดจาก การอักเสบ การเกิดแผลเป็น การหนาตัว การหดรั้งของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบข้อไหล่ เช่น Bursitis/Rotator cuff tendinitis, Calcific tendinitis, Periarthritis of shoulder

ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้มีปัญหาข้อไหล่อักเสบเรื้อรัง ผู้มีประวัติผ่าตัดทรวงอกหรือเต้านม หรือการไม่ได้เคลื่อนไหวข้อไหล่เป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดข้อไหล่ติดมากขึ้น

 
อาการและอาการแสดงทางคลินิก

อาการและอาการแสดงของข้อไหล่ติดขึ้นกับระยะของโรค

1) Painful/Freezing Stage: เป็นช่วงที่มีอาการปวดข้อไหล่มากที่สุด ปวดมากขึ้นเมื่อนอนทับไหล่ข้างที่มีอาการ ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้จำกัด แต่เคลื่อนไหวได้มากกว่าช่วง frozen stage ช่วงนี้กินเวลาประมาณ 6 - 12 สัปดาห์

2) Frozen Stage: ช่วงอาการปวดไหล่จะลดลง แต่ไหล่จะติดมากขึ้น ช่วงนี้กินเวลาประมาณ 4 - 6 เดือน

3) Thawing Stage: เป็นช่วงที่อาการข้อติดค่อย ๆ ดีขึ้น สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้มากขึ้น ช่วงนี้ใช้ระยะเวลาเป็นมากกว่า1 ปี

 การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจภาพรังสี

การวินิจฉัยไหล่ติดสามารถทำได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจภาพรังสีมักไม่พบความผิดปกติ แต่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น วัณโรคกระดูกบริเวณหัวไหล่ เนื้องอก หรือกระดูกหัก เป็นต้น

 ไหล่ติดในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน อธิบายว่า รอยโรคเกิดขึ้นที่เส้นทางเดินลมปราณและเส้นเอ็น มักเกิดในช่วงอายุห้าสิบปี เจิ้งชี่ไม่พอ จิงเว่ยพร่อง ไหล่มีการกระทบลมเย็น หรือมักนอนตะแคง เมื่อทางไหลเวียนของเส้นลมปราณถูกกดทับเป็นระยะเวลานาน ทำให้เลือดลมติดขัดก่อให้เกิดอาการปวดหรือชา การปวดไหล่นานเลือดลมไหลติดขัดหรือไม่คล่อง เกิดการคั่งทำให้เกิดการบวมติด จนไหล่เคลื่อนไหวลดลงในที่สุด ตำแหน่งปวดช่วยบอกตำแหน่งโรค

- ปวดบริเวณจุด ZhongFu (LU 1) ยกแขนไปด้านหลังแล้วปวด โรคอยู่ที่เส้นไท่อิน

 - ปวดบริเวณจุด JianYu (LI 15), JianLiao (TE 14) กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหัวไหล่  (deltoid) กางแขนออกแล้วปวด โรคอยู่ที่เส้นหยางหมิง  และเส้นเส้าหยาง

- ปวดบริเวณจุด JianZhen (SI 9), NaoShu (SI 10) หุบแขนเข้าแล้วปวด โรคอยู่ที่เส้นไท่หยาง

 
การรักษา

1. การฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ

หลักการรักษา: ขับเคลื่อนเอ็นและจิงลั่วให้ไหลเวียนคล่อง เลือดและชี่ไหลเวียนดี

วิธีการ:

- จุดใกล้  ฝังเข็ม กระตุ้นระบาย แล้วตามด้วยรมยา เพื่อขับลม ขจัดเย็น กระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนคล่องขึ้น

- จุดไกล กระตุ้นระบาย YangLingQuan ( GB 34) เป็นจุดอิทธิพลต่อเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นและลั่วขับเคลื่อนคล่อง ลมปราณไหลเวียนดี ลดอาการปวด และจุด ZhongPing (EX-LE 17) ซึ่งเป็นจุดประสบการณ์ที่ใช้รักษาอาการปวดไหล่แล้วได้ผลดี

จุดเสริม : ใช้จุดเสริมตามตำแหน่งโรคในเส้นลมปราณ

- บริเวณที่ปวด ลักษณะปวดแบบเย็น ให้เพิ่มรมโกฐจุฬาลำพาร่วมด้วย

- บริเวณไหล่หลังปักเข็มสามารถเพิ่มการครอบกระปุกหรือนวดด้วยครอบกระปุก

- ให้ผู้ป่วยขยับไหล่ข้างที่มีอาการร่วมด้วยในขณะที่ปักกระตุ้นจุดไกล

 2. การฝังเข็มร่างกายโดยใช้ไฟฟ้ากระตุ้น

3. การฝังเข็มหู

 
การฝังเข็มจากการศึกษาทางคลินิก
ตัวอย่างผู้ป่วย
ผู้ป่วยชาย อายุ 43 ปี มีอาการปวดไหล่ขวามา 10 เดือน เมื่ออาการปวดกำเริบจะร้าวไปที่แขนและข้อมือ อากาศเย็นอาการปวดจะเป็นมากขึ้น ไหล่ขวาเคลื่อนไหวติดขัด ไม่ว่าจะวางแขน หุบแขนหรือไพล่หลัง ไม่สามารถทำได้ปกติ รับประทานยาแล้วอาการไม่ทุเลา ได้รับการรักษาด้วยการฝังเข็มโดยเลือกจุด JianLiao (TE 14),  WaiGuan (TE 5),  ZhongZhu (TE 3), YangLinQuan (SP 6) ปักเข็มร่วมกับกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หลังรักษา 12 ครั้ง อาการปวดทุเลาและสามารถเคลื่อนไหวไหล่ขวาได้คล่อง

 ข้อสังเกตและคำแนะนำ

การรักษาไหล่ติดด้วยการฝังเข็มผลค่อนข้างดี แต่ขึ้นกับระยะของโรคด้วย  ถ้ามารักษาในช่วงแรกมักจะตอบสนองเร็วกว่ามาในระยะเรื้อรัง และตัวผู้ป่วยเองต้องให้ความร่วมมือในการออกกำลังกายเสริม เช่น การไต่กำแพงทุกวัน วันละ 2 - 3 ครั้ง และควรดูแลไหล่ข้างที่มีอาการไม่ให้กระทบลมเย็น




เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้