บริหารร่างกายยามเช้าสไตล์หย่างเซิง

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  15093 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บริหารร่างกายยามเช้าสไตล์หย่างเซิง

หย่างเซิง คือ การรู้จักวิถีของธรรมชาติและสรีระการทำงานของมนุษย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันการเกิดโรค และอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง มีอายุที่ยืนยาว

แต่ในสังคมปัจจุบันที่มีความสะดวกสบายมากขึ้นกว่าสมัยก่อน รวมถึงลักษณะการทำงานของผู้คนส่วนใหญ่ ที่ต้องนั่งทำงานอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบจะทั้งวัน ทำให้มนุษย์ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกายสักเท่าไหร่ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม หากร่างกายเรามีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนสะดวก ทำให้กระดูกและเส้นเอ็นแข็งแรง ทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายไหลลื่น อวัยวะภายในร่างกายก็จะแข็งแรงขึ้น เราก็จะมีจิตใจที่แจ่มใส และมีอายุที่ยืนยาว

ท่าบริหารเพื่อบำรุงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตามสไตล์หย่างเซิง

ท่าบริหารบริเวณศีรษะ

  • วดคลึงหนังศีรษะ โดยใช้นิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว กด นวดและคลึงวนเบา ๆ ให้ทั่วบริเวณศรีษะ นานประมาณ 2- 3 าที จนรู้สึกสบายหนังศีรษะ
  • บำรุงลมปาณทั้ง 5 โดยใช้มือข้างใดข้างหนึ่งวางคว่ำลงบนศีรษะ โดยหันปลายนิ้วโป้งไปทางท้ายทอย แล้วใช้นิ้วกางวางอยู่กลางศีรษะ และใช้ฝ่ามือถูขึ้นลงเป็นแนวขวางนานประมาณ 1 - 2 นาที ซึ่งท่านี้สามารถบำรุเส้นลมปราณตู เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร และเส้นลมปราณถุงน้ำดี
  • เสยผม โดยใช้มือทั้งสองข้างวางไว้ตรงกลางหน้าผาก กางนิ้วมือออกเล็กน้อย แล้วใช้นิ้วมือกดเบา ๆ ลากจากตรงกึ่งกลางหน้าผากออกไปทางด้านข้างศีรษะทำกลับไปกลับมาเป็นเวลา 3 นาทีจนรู้สึกว่าหนังศีรษะอุ่นขึ้น

ท่าบริหารบริเวณใบหน้า

  • ถูบริเวณใบหน้า โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างถูขึ้นลงบริเวณข้างแก้มเป็นเวลา 1 นาที จนรู้สึกว่าแก้มอุ่นขึ้น
  • ตบเบา ๆ บริเวณใบหน้า โดยใช้ปลายนิ้วมือ (ยกเว้นนิ้วโป้ง) ตบเบา ๆ บริเวณใบหน้าตั้งแต่หน้าผาก โหนกแก้ม ไล่มาจนถึงคาง และในขณะที่ใช้ปลายนิ้วมือตบเบา ๆ บริเวณใบหน้าจะต้องลืมตาไปด้วย โดยทำประมาณ 1 นาที จนสีผิวบริเวณใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน ๆ

ท่าบริหารบริเวณใบหู

  • กดคลึงรอบ ๆ ใบหู โดยใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้างกดคลึงวนรอบบริเวณใบหูเป็นเวลา 1 นาที
  • เสียงกลองแห่งสวรรค์ โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างวางครอบลงบริเวณใบหูโดยหันปลายนิ้วโป้งไปทางด้านท้ายทอยและวางลงบริเวณตำแหน่งของร่องท้ายทอย จากนั้นใช้แรงที่ฝ่ามือดันเข้า - ออก ประมาณ 40 ครั้ง

ท่าบริหารบริเวณดวงตา

  • กดลากรอบดวงตา โดยใช้บริเวณตำแหน่งด้านในของปลายนิ้วชี้ทั้งสองข้างวางทาบลงบริเวณเปลือกตาบนและหัวคิ้ว จากนั้นลากอออกมายังปลายคิ้ว ประมาณ 15 - 20 ครั้ง โดยให้ความเร็วสม่ำเสมอกัน จะทำให้รู้สึกเบาสบายบริเวณรอบดวงตามากขึ้น
  • ถูมือประคบดวงตา โดยให้ถูฝ่ามือทั้งสองข้างถูเข้าหากัน จนรู้สึกอุ่น จากนั้นให้นำฝ่ามือทั้งสองข้างวางทาบลงบนเปลือกตา เปลือกตาจะรู้สึกอุ่นเบาสบาย

ท่าบริหารบริเวณหัวไหล่

  • กำหมัดทุบไหล่ โดยกำมือข้างขวาวางไว้บนไหล่ด้านซ้าย จากนั้นนำมือด้านซ้ายจับที่ปลายข้อศอกด้านขวาให้ยกขึ้น มือข้างขวาที่กำทุบลงบริเวณหัวไหล่ เป็นเวลา 1 นาที ทำสลับเช่นเดียวกันอีกข้างหนึ่ง
  • ตบหัวไหล่ ใช้ฝ่ามือข้างขวาวางไว้บนหัวไหล่ด้านซ้าย จากนั้นนำมือด้านซ้ายจับที่ปลายข้อศอกด้านขวาให้ยกขึ้น ใช้ฝ่ามือข้างขวาตบบริเวณรอบๆหัวไหล่ เป็นเวลา 1 นาที ทำสลับเช่นเดียวกันอีกข้างหนึ่ง

ท่าบริหารบริเวณต้นแขน

  • บีบคลึงบริเวณต้นแขน โดยใช้นิ้วมือข้างขวาบีบจับบริเวณต้นแขนซ้ายด้านนอก โดยเริ่มจากบริเวณหัวไหล่บีบลงมาจนถึงข้อมือ ทำกลับไปกลับมาประมาณ 5 นาที จากนั้นสลับทำอีกข้างหนึ่ง
  • ดึงเค้นเส้นลมปราณบริเวณต้นแขน โดยหงายมือข้างซ้ายขึ้น ใช้นิ้วมือข้างขวาบีบจับบริเวณต้นแขนซ้ายด้านใน โดยวางนิ้วโป้งหันขึ้นข้างบน เริ่มกดเบา ๆ จากบริเวณต้นแขนด้านบนไล่ลงมาจนถึงข้อมือ ทำกลับไปกลับมาประมาณ 2 นาที จากนั้นสลับทำอีกข้างหนึ่ง

การนวดทรวงอก

บริเวณทรวงอกมีอวัยวะสำคัญ คือ หัวใจและปอด ตามทฤษฎีของศาสตร์การแพทย์แผนจีน หัวใจคืออวัยวะที่ควบคุมเลือด ส่วนปอดจะควบคุมพลังลมปราณ(ชี่) เลือด โดยพลังลมปราณ(ชี่)จะทำงานประสานกัน เมื่อมีเลือดและพลังลมปราณ(ชี่) ชีวิตจึงดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น การดูแลทรวงอกจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

  • การถูทรวงอก โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างทาบบนเนินหน้าอกในแนวนอน แล้วถูสลับซ้ายขวา จนรู้สึกอุ่นที่ทรวงอก ทำซ้ำประมาณ 2 - 3 ครั้ง
  • ถูเส้นลมปราณเริ่น โดยใช้ฝ่ามือทาบลงบนกลางลำตัวในแนวดิ่ง ถูขึ้นลงไปมาประมาณ 1 นาที ให้รู้สึกอุ่นสบาย

**เส้นลมปราณเริ่น คือ เส้นลมปราณที่ผ่านกึ่งกลางลำตัวจากล่างขึ้นบน ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของพลังอินในร่างกาย

การนวดเต้านม

เต้านม เป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญสำหรับผู้หญิง ในบางครั้งมักจะเกิดการเจ็บคัดบริเวณเต้านม หรือมีก้อนแข็ง และรู้สึกเจ็บ อาการเหล่านี้แสดงถึงความผิดปกติของเต้านม หรืออาจจะสะท้อนถึงองค์รวมของร่างกายได้ โดยศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้กำหนดบริเวณส่วนต่าง ๆ ของเต้านมไว้ คือ หัวนมสัมพันธ์กับตับ ถันนมสัมพันธ์กับกระเพาะอาหาร

  • ถูเต้านมขึ้น - ลง โดยใช้มือทั้งสองประสานกัน ทาบฝ่ามือลงบนเต้านม ถูขึ้นลงข้างละ 1-2 นาที จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดการเกิดก้อนแข็ง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้ และยังช่วยให้หน้าอกกระชับอีกด้วย

ข้อควรระวัง : ไม่ควรกดโดยลงน้ำหนักที่แรงจนเกินไป แต่ให้กดลงไปแค่ระดับผิวก็พอ

การนวดหน้าท้อง

ช่วงท้องเป็นบริเวณที่มีอวัยวะสำคัญอยู่หลายชนิด และยังเป็นบริเวณที่แสดงออกถึงรูปร่างความสวยงามอีกด้วย ซึ่งสามารถสังเกตได้เมื่อเริ่มลงพุง ก็มักจะมาพร้อมกับโรคต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การนวดหน้าท้องไม่เพียงแต่เพื่อลดพุง แต่ยังช่วยปรับการทำงานของม้าม กระเพาะอาหาร ตับ และถุงน้ำดีได้อีกด้วย

  • นวดวนหน้าท้อง โดยนวดวนบริเวณหน้าท้องตามเข็มนาฬิกาประมาณ 5 นาที ในขณะที่นวดให้ออกแรงกดที่ฝ่ามือลงเล็กน้อย แล้วค่อยผ่อนคลายข้อมือ การนวดในท่านี้จะช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร เพิ่มการเคลื่อนตัวของลำไส้ได้ดี
  • นวดบำรุงเส้นลมปราณ โดยทาบฝ่ามือทั้งสองข้างบริเวณหน้าท้อง ให้ปลายนิ้วชี้ลง มีเส้นลมปราณไหลผ่านหน้าท้องหลายเส้น ได้แก่ เส้นลมปราณเริ่น ผ่านกลางหน้าท้องในแนวดิ่ง, เส้นลมปราณไต ถัดจากเส้นกลางตัวไปครึ่งชุ่น, เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร ถัดจากเส้นกลางลำตัวไปสองชุ่น, เส้นลมปราณม้าม ถัดจากเส้นกลางลำตัวไปสี่ชุ่น
** หนึ่งชุ่น = หนึ่งข้อนิ้วโป้งของคน ๆ นั้น

การนวดเอว

  • นวดบำรุงเอว ยิ่งนวดเอวยิ่งอ่อนเยาว์ “เอวเปรียบเสมือนบ้านของไต” จุดสำคัญของเส้นลมปราณไต คือ จุดมิ่งเหมิน เปรียบเสมือนประตูแห่งชีวิต ซึ่งอยู่บริเวณเอว การกดนวดบริเวณเอว นอกจากจะช่วยลดอาการเมื่อยล้าแล้วยังช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย
  • ทุบเอว โดยกำมือทั้งสองข้างอ้อมไปด้านหลัง ออกแรงทุบเบา ๆ บริเวณเอวส่วนล่างให้รู้สึกอุ่นสบาย ประมาณ 1 นาที
  • ถูเอว โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างถูบริเวณเอวส่วนล่างในแนวนอน และถูกเข้า - ออกสลับกัน ประมาณ 1-2 นาที จนรู้สึกอุ่น

การนวดต้นขาและหัวเข่า

“คนจะแก่ เริ่มแก่ที่ขาก่อน” เมื่ออายุมากขึ้น ต้นขาจะเริ่มหย่อนคล้อย ซึ่งเป็นบริเวณที่สังเกตได้ง่ายพอ ๆ กับผิวหน้า แต่หากเราดูแลต้นขาเราทุกวัน จะช่วยให้เลือดลมปราณไหลเวียนดี ทำอะไรก็กระฉับกระเฉง

  • ถูต้นขา โดยนั่งกับพื้น งอเข่าเล็กน้อย ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างถูต้นขาด้านนอกขึ้นลงไปมา ทำสลับกันทั้งสองข้าง ข้างละประมาณ 1 นาที
  • บีบนวดต้นขา โดยนั่งกับพื้น งอเข่าเล็กน้อย ใช้มือทั้งสองข้างบีบนวดกล้ามเนื้อต้นขาด้านข้าง จากบนลงล่าง ให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกอุ่น ทำสลับกันทั้งสองข้าง ข้างละประมาณ 1 นาที
  • นวดบำรุงหัวเข่าและข้อเข่า ซึ่งเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย และต้องรับน้ำหนักมากที่สุด เคลื่อนไหวมากที่สุด ดังนั้น เราจึงควรดูแลข้อเข่าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยการนั่งลงกับพื้น แล้วงอเข่าเล็กน้อย ใช้ฝ่ามือทาบลงบนหัวเข่า นวดคลึงจนรู้สึกอุ่น ทำสลับกันทั้งสองข้าง ข้างละประมาณ 1 นาที
  • ถูหัวเข่า โดยนั่งลงกับพื้น แล้วงอเข่าเล็กน้อย ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างวางทาบลงบนหัวเข่าซ้ายขวา แล้วถูฝ่ามือขึ้น - ลง จนรู้สึกอุ่นบริเวณรอบ ๆ หัวเข่า ประมาณ 1 นาที

การนวดบำรุงข้อเท้า

สาว ๆ ที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน ๆ มักจะปวดข้อเท้า หรือเกิดอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าได้ หรือในบางครั้งข้อเท้าอาจพลิก เคล็ดขัดยอก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น เราจึงควรหันมาใส่ใจ ให้ความสำคัญ และดูแลข้อเท้าของเรา

  • นวดคลึงข้อเท้า โดยนั่งงอเข่าเล็กน้อย ใช้นิ้วมือนวดคลึงบริเวณข้อเท้า ตาตุ่มประมาณ 1-2 นาที ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความเมื่อยล้า ฟื้นฟูเส้นเอ็น
  • ถูข้อเท้า นั่งงอเข่าเล็กน้อย ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างแนบลงไปที่ข้อเท้าทั้งด้านนอกและด้านใน ถูขึ้นลงสลับกันจนรู้สึกอุ่น ประมาณ 1-2 นาที ทำซ้ายขวาสลับกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้