Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 57651 จำนวนผู้เข้าชม |
คัมภีร์本草求真 (เปิ่นเฉ่าฉิวเจิน) [1] กล่าวไว้ว่า อาหารทุกประเภทมีทั้งประโยชน์และโทษต่อการทำงานของอวัยวะภายใน หากเราทานอาหารได้ถูกต้องก็จะทำให้มีอายุยืน ร่างกายแข็งแรงสามารถต่อต้านโรคต่างๆได้ หากทานอาหารไม่ถูกต้องก็อาจมีผลต่อความแข็งแรงต่อร่างกาย และอาจทำให้อาการป่วยที่มีหนักขึ้นได้
"อาหารแสลง" หรือ "ของแสลง" ในภาษาจีนคือ “发物 (ฟาอู้)”
คำว่า “发 (ฟา)” ภาษาไทยแปลว่า ขยาย เจริญ กระจาย
แต่คำว่า “发 (ฟา)” จาก “发物 (ฟาอู้)” ในภาษาจีน มาจากคำว่า “诱发 (โย่วฟา)、引发 (อิ่นฟา)、助发 (จู้ฟา)” ที่แปลว่า ทำให้ประทุออก ก่อให้เกิด ช่วยให้เกิด
ส่วนคำว่า “物 (อู้)” แปลว่า สิ่งของ
โดยรวมแล้ว “发物 (ฟาอู้)” หรือ ของแสลง ก็คือ อาหารที่สามารถกระตุ้นอาการป่วย หรืออาจทำให้อาการป่วยนั้นมีอาการหนักขึ้น หรือบางรายที่มีอาการสงบอาจกระตุ้นอาการให้กลับมาเป็นอีก
โดยมุมมองทางแพทย์แผนจีนจะเน้นไปที่สภาพร่างกายของแต่ละคน เช่น คนที่มีภาวะหยางแกร่งจะมีภาวะร้อนในง่าย อาการที่มีฤทธิ์ร้อนจะถือเป็นของแสลงสำหรับคนๆนั้น
อาหารแสลงมีอะไรบ้าง ?
ตั้งแต่สมัยโบราณก็มีการเอ่ยถึงอาหารที่เป็นของแสลงในคำภีร์ 普济方 (ผู่จี้ฟาง) [2] ในช่วงสมัยราชวงศ์หมิงก็มีการพูดถึงอาหารแสลงเอาไว้แต่จำนวนยังไม่มากนัก เช่น เนื้อแกะ ลูกพีช ลูกพรุน เนื้อสัตว์ปีก เลือดสด ฯลฯ แต่ยุคปัจจุบันที่มีการวิจัยและเทคโนโลยีที่ก้าวไกลขึ้น ทำให้มีการแบ่งประเภทอาหารแสลงแตกต่างกันไป โดยมีการวิจัยแล้วว่าอาหารแสลงนั้นมีมากกว่า 80 ชนิด และพบว่าอาหารแสลงส่วนมากเป็นอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนและรสหวานรองลงมาคืออาหารที่มีรสเผ็ดร้อน โดยชนิดของอาหารที่พบบ่อยในของแสลงได้แก่ พวกอาหารทะเล ผักและผลไม้ นอกจากนี้อาหารที่แพ้ง่ายที่พบส่วนใหญ่จะเป็นอาหารทะเล ที่จะกล่าวถึงนี้ก็คือ ประเภทของอาหารแสลงแบบแบ่งตามประเภทของผลเสียที่เกิดขึ้น สามารถแบ่งเป็น 6 ประเภท
1. อาหารที่ทำให้เกิดความร้อน เช่น ขิง กระเทียม พริก พริกไทย เนื้อแกะ เนื้อวัว แอลกอฮอล์ บุหรี่ ของมัน ของทอด เนื่องจากเป็นอาหารประเภทที่ธาตุหยางสูง ไม่เหมาะกับผู้มีภาวะหยางแกร่งขึ้นสู่ส่วนบน ภาวะอินพร่องเกิดความร้อนภายใน ผู้ที่ร้อนในง่าย ท้องผูก กระหายน้ำบ่อย ไม่เหมาะที่จะทานมากในฤดูร้อน จะเหมาะกับผู้มีภาวะม้ามกระเพาะเย็นจากหยางพร่องหรือทานในฤดูหนาว
2. อาหารที่ทำให้เกิดความเย็น
เช่น สาลี่ แตงโม ลูกพลับ ฟัก ไช้เท้า น้ำเย็น น้ำแข็ง ไอศกรีม ถั่วฝักยาว ผักกาดหอมต้น เนื่องจากเป็นอาหารที่มีฤทธิ์เย็น หากทานมากเกินไปอาจกระทบต่อธาตุหยางส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่เหมาะกับผู้มีม้ามและกระเพาะเย็นจากหยางพร่องหรือมีร่างกายค่อนข้างเย็น แต่จะเหมาะกับผู้มีภาวะอินพร่องเกิดความร้อนภายในหรือทานในฤดูร้อนแต่ไม่ควรทานมากเกินไป
3. อาหารที่ทำให้เกิดความร้อนชื้น เช่น ข้าวเหนียว เผือก คาราเมล ข้าวหมาก อาหารที่มีไขมันมาก กะทิ ของหวาน แอลกอฮอล์
อาหารกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ย่อยยาก หากทานมากเกินไปอาจมีผลต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร จึงไม่เหมาะกับผู้มีม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอหรือมีภาวะเสมหะจากความชื้น ในบางกรณี เช่น ข้าวเหนียวและเผือกอาจไม่เหมาะกับผู้มีม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอแต่มีประโยชน์กับผู้มีอาการจงชี่พร่อง
4. อาหารที่ทำให้เกิดภาวะชี่อุดกั้น เช่น เผือก มัน ถั่วต่างๆ ลูกบัว เส้นโซบะ เส้นข้าวโอ้ต
อาหารในกลุ่มนี้ค่อนข้างแข็งย่อยยาก ทำให้เกิดภาวะชี่อุดกั้นได้ง่ายไม่เหมาะกับผู้มีม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ มีภาวะเลือดคั่งอุดกั้นอาหารไม่ย่อย
อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นกับชนิดของอาหาร เช่น ลูกบัว เป็นอาหารอาจทำให้เกิดภาวะชี่อุดกั้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นอาการที่ใช้บำรุงแก่ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอได้ทุกเพศทุกวัย
5. อาหารที่ทำให้เกิดภาวะเลือดไหลเวียนมากเกินไป เช่น พริก , พริกไทย , ลำไย , เนื้อแกะ , เนื้อสุนัข , เหล้าขาว , ผักโขม
อาหารกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีฤทธิ์ร้อน กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดมากเกินไป ไม่เหมาะกับผู้มีภาวะอินพร่องร้อนแกร่ง ผู้ที่เป็นผีหนอง มีก้อนเนื้อ (มะเร็ง) ประจำเดือนมามาก ริดสีดวง มีจ้ำเลือดใต้ผิวหรือมีการอักเสบชนิดต่างๆ
** หมายเหตุ
อาหารที่ทำให้เกิดภาวะเลือดไหลเวียนดีในผู้มีภาวะร่างกายเย็นแต่ทานมากเกินไปอาจมีผลกระทบด้านอื่น ไม่แนะนำให้ใช้เป็นวิธีการบำบัดโดยการใช้อาหาร
6. อาหารทำให้เกิดลม
อาหารทะเล กุ้ง ปู เนื้อหัวหมู มะเขือ ห่าน ต้นเซียงชุน ไข่
อาหารกลุ่มนี้ทานแล้วทำให้เกิดลมก่อให้เกิดภาวะเลือดไหลเวียนมากเกินไปและภาวะร้อนใน ไม่เหมาะกับ ผู้มีภาวะภูมิแพ้ แพ้ง่าย เช่น ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ ผื่นคัน หรือผู้ที่มีโรคเก๊าท์ อัมพฤกษ มีโรคที่เกิดจากลม
แต่อาหารทะเลมีโปรตีนสูงถือเป็นสารอาหารชั้นดีสำหรับคนที่ไม่แพ้ หอยเป๋าฮื้อ กระเพาะปลาถึงจะเป็นอาหารทะเล แต่มีเปอร์เซนต์แพ้ค่อนข้างน้อย
จะเห็นได้ว่าอาหารแต่ละอย่างอาจไม่ใช่ของแสลงเสมอไป คนที่มีร่างกายประเภทหนึ่งไม่อาจทานอาหารชนิดนั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันอาหารชนิดนั้นอาจเป็นประโยชน์ต่ออีกหนึ่งคน สิ่งหนึ่งที่เราควรรู้คือเรามีร่างกายหรือภาวะแบบใดจึงจะสามารถเลือกรับประทานอาหารหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่เหมาะสมกับร่างกายเราได้
** ข้อมูลที่กล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการทราบสภาพร่างกายของเราเป็นอย่างไรเหมาะที่จะรับประทานอะไรควรปรึกษาแพทย์จีนผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม **
อาหารที่ไม่ควรรับประทานในระหว่างช่วงรักษาและรับประทานยาสมุนไพรจีน
โดยทั่วไปผู้ป่วยทุกรายควรงดอาหารที่มีคุณสมบัติเย็นจัด อาหารมัน อาหารเหม็นคาว อาหารที่ระคายเคืองหรือมีฤทธิ์กระตุ้นรุนแรง ย่อยยาก รสจัด เป็นต้น
เพื่อให้การรักษาโดยวิธีการรับประทานยาจีน ส่งเสริมสรรพคุณของยาเพื่อรักษาอย่างเต็มที่ ดังนั้น ในช่วงระหว่างที่รับประทานยาจีนอยู่นั้น ควรงดเว้นอาหารบางชนิด เพื่อมิให้ยาถูกทำลายสรรพคุณ และร่างกายไม่ได้รับผลกระทบจากการทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
1. โรคร้อน ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด ของทอด อาหารที่มีไขมันมาก อาหารรสหวานจัด หรืออาหารที่ให้พลังงานมาก
2. โรคเย็น ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นหรืออาหารดิบ ผู้ป่วยที่มีเสมหะอุดกั้นในทรวง โรคหัวใจขาดเลือด ห้ามทานของมัน และควรงดการสูบบุหรี่และดื่มแอกกอฮอลล์
3. โรคหยางของตับขึ้นบน ทำให้เวียนศีรษะ ไม่ควรทานอาหารเผ็ดร้อน รสจัดจ้าน
4. โรคกระเพาะอาหารอ่อนแอ ไม่ควรทานอาหารเหนียวเหนอะ อาหารที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงรสสำเร็จรูป และของมันๆ
5. โรคผิวหนัง ที่มีอาการคันและแผลอักเสบเป็นหนอง ไม่ควรรับประทานอาหารทะเล เช่น ปลา ปู กุ้ง และอาหารเผ็ดๆ รวมทั้งเห็ดหอม หน่อไม้ เป็นต้น
6. โรคหอบหืด มีอาการไอ ลดการสูบบุหรี่ ไม่ควรทานอาหารรสเผ็ด อาหารมันเหนียวเหนอะ อาหารรสหวานมันจัด
7. ผู้ป่วยนอนหลับยาก ควรหลีกเลี่ยงรับประทานเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ ชากาแฟ
8. ผู้ป่วยหยางพร่อง หนาวง่าย พลังความร้อนของร่างกายไม่พอ ต้องหลีกเลี่ยงอาหาร ผักสด ผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น น้ำเย็น น้ำแข็ง
9. ผู้ป่วยอินพร่อง คอแห้ง ร่างกายแห้ง ขาดสารน้ำในร่างกาย ร้อนจากภาวะอินพร่อง (เซลล์แห้ง) ต้องหลีกเลี่ยงเหล้า อาหารเผ็ด ของทอด ของมัน เพราะจะเกิดเสมหะและความร้อนในร่างกายมากขึ้น
วิธีการรับประทานยาจีน
1. ยาจีนชนิดต้ม ควรทานขณะยายังอุ่นๆ โดยเฉพาะยาที่รักษากลุ่มอาการปวดทุกชนิด
2. ยาจีนชนิดเม็ด ควรทานยาพร้อมน้ำอุ่น เหมาะสมกว่าน้ำเย็นจัด
3. ยาจีนชนิดบำรุง ควรทานก่อนมื้ออาหาร 30 นาที
4. ยาจีนชนิดช่วยระบาย หรือ ยาจีนเพื่อขับพยาธิ ควรทานขณะท้องว่าง ก่อนมื้ออาหาร
5. ยาจีนชนิดบำรุงม้าม เสริมม้าม หรือยาจีนตำรับที่มีส่วนประกอบของชนิดยาที่อาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ควรทานยาหลังมื้ออาหาร 30 นาที
6. ยาจีนชนิดช่วยให้สงบ ส่งเสริมการนอนหลับ ควรทานยาก่อนนอน
7. กรณีมีการรับประทานยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาประเภทอื่นๆ ให้เว้นช่วงการทานยาแต่ละประเภท 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ยาแต่ละชนิดขัดแย้งทางสรรพคุณกัน
8. ไม่ควรทานยาร่วมกับน้ำชา กาแฟ หรือนม เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารเสียประสิทธิภาพการดูดซึมยา
9. ไม่ควรเติมน้ำตาล น้ำหวาน ลงในยาจีนเพื่อลดความขม เพราะจะทำให้ยาเสียสรรพคุณ
*** กรณีที่นอกเหนือจากนี้ เช่น รายละเอียดการรับประทานยาเฉพาะบุคคล ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป แพทย์จีนจะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วย
ข้อควรระวัง
ยาจีนที่ออกฤทธิ์ได้แรง ชัดเจน เช่น ยาจีนชนิดขับเหงื่อ ยาระบาย เมื่อทานยาจีนแล้วอาจมีเหงื่อออก จึงไม่ควรโดนความเย็น เช่น ลม หรือ อยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ส่วนยาชนิดระบาย เมื่อทานแล้วอาจจะรู้สึกเหมือนมีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อมิให้ร่างกายขาดน้ำ
อ้างอิง
[1] คัมภีร์本草求真 (เปิ่นเฉ่าฉิวเจิน) คือ คัมภีร์ที่เขียนโดย หวงกงซิ่ว(黄宫绣)ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยาในสมัยราชวงศ์ชิง เป็นคัมภีร์ที่บันทึกรายละเอียดของอาหารและยาทั้งหมด 520 ชนิด โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ ส่วนแรกบันทึกถึงลักษณะ รสชาติ คุณสมบัติ ใช้รักษาด้านไหน ไปจนกระทั่งข้อควรระวังของยาแต่ละชนิดอย่างละเอียด ในส่วนที่สองจะเป็นส่วนที่แบ่งประเภทยา จัดยาเป็นกลุ่มๆตามคุณสมบัติการเข้าสู่อวัยวะใด การรักษาตามปัจจัยก่อโรคภายนอกทั้ง6 และความหมาย (โบราณ) ของยา ถือเป็นคัมภีร์ที่ยกระดับความรู้เกี่ยวกับยาจากสมัยโบราณให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
[2] คำภีร์ 普济方 (ผู่จี้ฟาง) เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมใบสั่งยาหรือตำรับยาที่รักษาแล้วได้ผลดีในช่วงก่อนศตวรรษที่ 15 นอกจากนี้ยังบันทึกประสบการณ์ทางการแพทย์ตั้งแต่ยุคก่อนราชวงศ์หมิงจากบรรดาคัมภีร์ทางการแพทย์จากในอดีต และยังรวมถึงชีวประวัติ ทฤษฎีทั่วๆไป ไปจนกระทั่งเนื้อหาของลัทธิเต๋าและบันทึกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมความรู้ของแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนที่สูญหายไปไว้มากมาย