Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 40729 จำนวนผู้เข้าชม |
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เป็นวิธีการรักษาที่ใช้เข็มร่วมกับกระแสไฟฟ้าเพื่อการกระตุ้นจุดฝังเข็ม ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ใช้นั้นมีกำลังอ่อนๆขนาดใกล้เคียงกับกระแสไฟฟ้าที่ไหลอยู่ตามปกติในร่างกายมนุษย์ วิธีการรักษานี้ใช้รักษากลุ่มโรคปวดของเส้นประสาทและโรคบางโรคที่มีอาการอัมพาต(paralysis) เป็นหลัก
จุดเด่นของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
สามารถเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาโดยย่นระยะเวลาในการรักษาให้สั้นลง ปัจจุบันนี้นิยมใช้
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากึ่งตัวนำไฟฟ้า ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกับกระแสไฟฟ้าตรงและสลับ ซึ่งจะไม่ถูกจำกัดการใช้งานในแง่ของแหล่งพลังงานไฟฟ้า เครื่องดังกล่าวนี้จะมีอุปกรณ์ที่ควบคุมการสั่นและปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาเป็นจังหวะซึ่งเป็นคลื่นกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำในขนาดที่ใกล้เคียงกับกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ตามปกติ
ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยและสะดวกในการใช้งานสามารถควบคุมปรับขนาดได้ว่าจะให้กระตุ้นเบาหรือแรงตามที่ต้องการ
การกระตุ้นด้วยเครื่องกระตุนไฟฟ้าและการฝังเข็มมีคุณสมบัติเหมือนกัน สามารถปรับสมดุลอินหยางในร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เส้นลมปราณเดินได้สะดวก ในการทำให้เส้นลมปราณเดินได้สะดวกนั้น พบว่าเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้เข็มกระตุ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้ผลในการรักษาโรคที่มีอาการอัมพาตนั้นดียิ่งขึ้น สำหรับการเลือกใช้คลื่นแบบ dilatational wave ของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้านั้น สามารถเห็นประสิทธิผลในการระงับอาการปวดที่เกิดจากพยาธิสภาพของเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน
การกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้าเป็นการป้องกันและรักษาโรคแบบหนึ่ง โดยเมื่อฝังเข็มลงบนจุดจนเกิดการได้ชี่แล้ว จึงใช้สายไฟต่อจากเข็มไปยังเครื่องกระตุ้นกระแสไฟฟ้า แล้วเปิดไฟฟ้าในความถี่และรูปแบบตามข้อบ่งใช้
เครื่องกระตุ้นเข็มไฟฟ้า มีขนาดและรูปทรงแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน มีแรงดันไฟฟ้า อยู่ระหว่าง 40 – 80 โวลต์ และกระแสไฟฟ้าน้อยกว่า 1 มิลลิแอมแปร์ ใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสสลับ (AC: ไฟฟ้าภายในอาคาร) และไฟฟ้ากระแสตรง (DC: ไฟฟ้าจากถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่) เครื่องกระตุ้นเข็มไฟฟ้าถูกพัฒนาเพื่อใช้กระตุ้นเข็มร่วมกับการฝังเข็มโดยเฉพาะ มีความปลอดภัย สามารถควบคุมจังหวะและความแรงในการกระตุ้นได้ ใช้ทดแทนการกระตุ้นด้วยมือช่วยทุ่นแรงแพทย์
สรรพคุณและข้อบ่งใช้เครื่องกระตุ้นเข็มไฟฟ้า
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าที่เหมาะสม ผ่านเข็มที่คาอยู่ตามจุดต่าง ๆ ส่งผลต่อร่างกายในหลายด้าน ได้แก่ ช่วยปรับการทำหน้าที่ของอวัยวะภายใน บรรเทาปวด บรรเทาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ชักนำให้สงบง่วง (induce sedation) และเพิ่มการไหลเวียนเลือด ความถี่และรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าที่แตกต่างกันย่อมส่งผลในการรักษาที่ต่างกันด้วย คลื่นความถี่สูงระหว่าง 50 – 100 ครั้งต่อวินาที เรียกว่า “คลื่นถี่ หรือ dense wave” คลื่นความถี่ต่ำระหว่าง 2 – 5 ครั้งต่อวินาที เรียกว่า “คลื่นห่าง หรือ rarefaction wave”
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้ามีหลายรูปแบบ ได้แก่
คลื่นถี่แบบต่อเนื่อง (continuous dense wave)
คลื่นห่างแบบต่อเนื่อง (continuous rarefaction wave)
คลื่นห่างสลับคลื่นถี่ (rarefaction-dense wave)
กระตุ้นสลับหยุดเป็นช่วง (intermittent wave)
คลื่นรูปฟันเลื่อย (sawtooth wave)
ความถี่และรูปแบบคลื่นในการกระตุ้นขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพที่ต้องการรักษาเป็นสำคัญ
การกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้าสามารถใช้ได้ในทุกโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม โดยเฉพาะกลุ่มอาการทางจิตซึมเศร้าสลับคุ้มคลั่ง (manic-depressive psychosis) อาการปวดเส้นประสาท (neuralgia) อาการอันสืบเนื่องมาจากโรคหลอดเลือดสมอง อาการที่สืบเนื่องมาจากโรคโปลิโอ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย โรคระบบทางเดินอาหาร กลุ่มอาการปวดข้อ การระงับความรู้สึกหรือร่วมกับการดมยาผ่าตัด
ข้อควรระวังและข้อห้ามในการใช้เครื่องกระตุ้นเข็มไฟฟ้า
ผู้ที่มีโรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ และสตรีมีครรภ์ จะงดเว้นการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567