โรคกระดูกคอเสื่อม ในผู้สูงอายุ (Cervical Spondylosis in the Elderly)

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  476 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคกระดูกคอเสื่อม ในผู้สูงอายุ (Cervical Spondylosis in the Elderly)

โรคกระดูกคอเสื่อมในผู้สูงอายุ คือ กลุ่มอาการที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อมสภาพ รวมถึงกระดูกต้นคอมีกระดูกงอกขึ้นมา แล้วไปกระตุ้นหรือกดทับบริเวณใกล้ไขสันหลัง (Spinal Cord) รากประสาท (Nerve root) หลอดเลือด (Blood vessel) รวมทั้งเส้นประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nerve) และยังส่งผลทำให้เกิดอาการที่บริเวณคอ ไหล่ แขน สามารถเรียกได้ว่าเป็น โรคข้อกระดูกต้นคออักเสบ (Cervical Spine Osteoarthritis) หรือเรียกสั้นๆว่า "โรคกระดูกต้นคอ" อาการของโรคที่เกิดขึ้นบริเวณไขสันหลัง รากประสาทและระบบไหลเวียนเลือดที่ระดับคอ เนื่องจากการงอกของกระดูกคอ หมอนรองกระดูกกดทับ หรือการหนาตัวของแผ่นเส้นเอ็น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดบริเวณศีรษะ คอ หัวไหล่ แขน หรือหน้าอกได้ โดยโรคที่เกิดจากกระดูกคอ คือ บริเวณกระดูกคอ ข้อต่อหมอนรองกระดูก และบริเวณเนื้อเยื่อบาดเจ็บเสื่อมสภาพ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ บทความนี้จึงขอนำเสนอมุมมองของแพทย์แผนจีน สาเหตุและกลไกการเกิดโรค วิธีการรักษาที่เห็นผลของแพทย์แผนจีน เช่นการฝังเข็ม ทุยหนา ยาสมุนไพรจีนหรือกายบริหารต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรค และนำไปประยุกต์ต่อยอดในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุต่อไป

โรคกระดูกคอเสื่อมในผู้สูงอายุ คือ กลุ่มอาการที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อมสภาพ รวมถึงกระดูกต้นคอมีกระดูกงอกขึ้นมา แล้วไปกระตุ้นหรือกดทับบริเวณใกล้ไขสันหลัง (Spinal Cord) รากประสาท (Nerve root) หลอดเลือด (Blood vessel) รวมทั้งเส้นประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nerve) และยังส่งผลทำให้เกิดอาการที่บริเวณคอ ไหล่ แขน สามารถเรียกได้ว่าเป็น โรคข้อกระดูกต้นคออักเสบ (Cervical Spine Osteoarthritis)

กายวิภาคศาสตร์ของกระดูกสันหลังส่วนคอ
กระดูกสันหลังส่วนคอ (cervical vertebrae) มีทั้งหมด 7 ชิ้นโดยในแต่ละชิ้นในระดับที่ต่ำกว่า C2 ลงไป จะมีหมอนรองกระดูกสันหลังอยู่ระหว่างปล้องกระดูกระดับ C3, C4, C5 และ C6 ถือเป็น typical cervical vertebrae คือในtypical cervical vertebrae แต่ละชิ้นจะประกอบด้วย ส่วนของ body และ neuron arch และลักษณะเฉพาะของ typical cervical vertebrae คือที่ transverse process จะมีช่องที่เรียกว่า ฟอราเมน ทรานส์เวอร์สซาเรียม (foramen transversarium หรือ transverse foramen) ซึ่งภายในเป็นที่อยู่ของหลอดเลือดแดงเวอร์ทีบรัล (vertebral artery) ซึ่งนำเลือดขึ้นไปเลี้ยง บริเวณก้านสมองและไขสันหลังลัดษณะทั่วไปของกระดูกสันหลังส่วนคอจะค่อนข้างเล็ก รูปร่างของ body เมื่อมองจากด้านบนจะออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมซึ่งจะเว้าทางด้านบนแต่นูนออก ทางด้านล่าง vertebral foramen จะเป็นรูปสามเหลี่ยม มี spinous process ที่ส้นและแยกเป็นสองแฉก (bifid) กระดูกสันหลังส่วนคอที่มีลกัษณะเฉพาะคือชิ้นแรกและชิ้นที่สองซึ่งเรียกว่าแอตลาส (atlas) และ แอกซิส (axis) ตามลำดับ

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
เกิดจากการเสื่อมตัวไปตามอายุที่สูงขึ้นและการบาดเจ็บอย่างเฉียบพลันหรือ บาดเจ็บสะสมเรื้อรังจากการทำงาน แล้วค่อยๆ ทำให้ของเหลวในหมอนรองกระดูก (Nucleus pulposus) ไหลออกมาเสื่อมสภาพ พังผืดหุ้มหมอนรองกระดูก (Annulus fibrosus) ฉีกขาดปลิ้นออกมา ช่องว่างระหว่างกระดูกต้นคอแคบลง เอ็นที่ยึดกระดูกต้นคอเกิดความ เสียหาย หย่อนยาน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงของตัวกระดูกสันหลัง เมื่อเยื่อหุ้มกระดูก (periosteum) ถูกดึงยืดออกและกดทับ ก็จะทำให้เกิดเส้นเลือดฝอยในบริเวณนั้นแตกและมีเลือดออก ห้อเลือด และเกิดการสะสมตัวในบริเวณที่ห้อเลือด เกิดการสึกหรอ และมีหินปูนมาพอกตัวหนาขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็น Osteophyte (ปุ่มกระดูกงอก หรือ กระดูกงอก) หมอนรองกระดูกที่ยื่นออกมาและกระดูกงอกจะไปกระตุ้นหรือไปกดทับ บริเวณรากประสาทไขสันหลัง หลอดเลือดแดง หรือไขสันหลังทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เกิดปฏิกิริยาการซ่อมแซมตัวเอง เป็นต้น และเป็นผลทำให้เกิดอาการของโรคกระดูกต้นคอตามมาได้ 


โรคกระดูกคอเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของร่างกายที่เป็นไปตามวัย โดยมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-60 ปีขึ้นไป และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุการเกิดโรคมีดังนี้

1. ท่าทางหรือการใช้งานในชีวิตประจำวัน
- การอยู่ในอิริยาบทที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น นั่งในท่าคอยื่นไปด้านหน้าขณะนั่งทำงาน การนอนคว่ำอ่านหนังสือ การก้มคอเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือนอนหงายบนหมอนเตี้ยเป็นเวลานาน เป็นต้น
- การเคลื่อนไหวคอในท่าเดิมซ้ำ ๆ เช่น การใช้งานศีรษะในท่าก้ม เงย หรือหมุนคอบ่อย ๆ เช่น ช่างไฟ ช่างทาสี หรือการที่นำของหนัก ๆ มาแบกไว้ที่ศีรษะ

2. อุบัติเหตุหรือมีการกระแทกที่กระดูกสันหลังคอโดยตรง

3. การเล่นกีฬาที่มีการกระแทกหรือการปะทะกันบ่อย ๆ เช่น อเมริกันฟุตบอล หรือการเล่นโยคะในท่าหัวโหม่งพื้น

4. ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ โดยสารนิโคตินในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูกคอ หมอนรองกระดูกคอและกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถนำออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปเลี้ยงโครงสร้างดังกล่าวได้เต็มที่ เร่งให้เกิดกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอเสื่อมเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้แล้วการที่มีโพรงกระดูกต้นคอตีบแคบหรือมีรูปร่างผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ในคนสูงอายุที่หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพ มีการสึกหรอจากการทำงานหนัก ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น


ดังนั้นกลไกการเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมจะเริ่มจากการที่ข้อต่อกระดูกของกระดูกคอเคลื่อน บริเวณหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท เส้นเอ็นมีหินปูนเกาะหรือกระดูกงอก เนื้อเยื่อบริเวณข้างกระดูกบวมอักเสบ กล้ามเนื้อเกร็งหรือเป็นพังผืด 

การตรวจวินิจฉัย
1. ประเภทและอาการทางคลินิก ในทางคลินิกแบ่งโรคกระดูกต้นคอ ออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

-  ประเภทปวดต้นคอ ( 颈型 - Cervical Type)
ประเภทนี้พบได้บ่อยที่สุดในทางคลินิก มีสาเหตุเนื่องจากการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูก เป็นผลให้มีอาการปวดที่กระดูกต้นคอบริเวณนั้น หรือมีการปวดร้าวไปที่บริเวณศีรษะ คอ และไหล่ได้
อาการ
พบได้มากในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวทำงาน มีอาการปวดเมื่อย ตึงๆหนักๆรู้สึกไม่ค่อยสบายที่ บริเวณต้นคอ  บางครั้งจะปวดร้าวไปถึงบริเวณท้ายทอยไหล่และหลัง   การเคลื่อนไหวของคอติดขัดถ้าอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันนี้มักจะถูกเรียกว่า “อาการตกหมอน” สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดมักจะเกิดจากท่านอนหนุนหมอนที่ไม่เหมาะสม ได้รับความเย็น และมีอาการต้นคอเคล็ดเฉียบพลัน เป็นต้น

- ประเภทรากประสาทถูกกดทับ (神经根型 - Nerve Root Type)
ประเภทนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยในทางคลินิก เนื่องจากของเหลวในหมอนรองกระดูก (Nucleus pulposus) ยื่นออกมาข้างนอกทางด้านหลัง หรือมีกระดูกงอกยื่นเข้าไปในโพรงกระดูก บริเวณข้อต่อ Uncovertebral Joint (Luschka’s joint)  ทำให้ไปกระตุ้นหรือกดทับรากประสาท อาการเด่นทางคลินิกคือ มีอาการปวดตามรากประสาท และพลังหรือกำลังของกล้ามเนื้อ (Muscle power) ผิดปกติ เนื่องจากรากประสาทถูกกดทับ
อาการ
คอ ไหล่ แขนข้างหนึ่ง จะมีอาการปวด ชา เป็นๆหายๆบ่อยครั้ง อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อเงยหน้า หรือไอ มีอาการชาที่ปลายนิ้วมือ การเคลื่อนไหวไม่คล่องการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine movement) ค่อนข้างลำบาก ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิด มักเกิดจากการทำงานหนัก เหน็ดเหนื่อย ถูกอากาศหนาวเย็น การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือท่านอนไม่เหมาะสม

- ประเภทไขสันหลังถูกกดทับ (脊髓型 - Myeloid Type)
ประเภทนี้ในทาง แพทย์จีนจัดอยู่ในขอบเขตของ “กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง” ประเภทนี้ทางคลินิกค่อนข้างพบได้น้อย แต่อาการค่อนข้างหนัก พยาธิสภาพจะพบว่าหมอนรองกระดูกเคลื่อน ตัวออกมา หรือมีกระดูกงอกยื่นไปกดทับหรือไปกระตุ้นไขสันหลัง หรือหลอดเลือดที่ไป เลี้ยงบริเวณไขสันหลังนั้นถูกกดทับ ก็จะทำให้ไขสันหลังขาดเลือดไปเลี้ยง
สาเหตุ : โดยมากมักจะมีโพรงกระดูกต้นคอแคบที่เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital Stenosis of the Cervical Spinal Canal) เป็นพื้นฐาน หมอนรองกระดูกส่วนต้นคอยื่น ออกไปแนวกลางด้านหลัง หรือตัวกระดูกสันหลังส่วนคอด้านหลังมีปุ่มกระดูกงอกขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลให้การรับรู้ความรู้สึกและการเคลื่อนไหวทำงานผิดปกติ
อาการ : จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ชา โดยค่อยๆ เริ่มเป็นจากปลายมือปลายเท้าขึ้นมา ขาทั้งสองข้างจะรู้สึกตึง หนักๆ ท่าทางการเดินงุ่มง่ามผิดปกติ เดินขากะเผลก รู้สึกแน่นหน้าอก โดยปกติจะพบว่าจะเริ่มเป็นจากส่วนขาลามไปส่วนแขนสามารถแบ่งได้เป็น ชนิดกดทับแนวกลาง (Central type - ชนิดมีอาการเริ่มเป็นจากส่วนแขน), ชนิดกดทับโดยรอบ (Peripheral type - ชนิดมีอาการเริ่มเป็นจากส่วนขา) ชนิดกดทับเส้นเลือด
แนวกลาง (Central vessel type - ชนิดมีอาการทั้งส่วนแขนและขา)อาการในระยะทาย จะพบว่าจะมีความผิดปกติในการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ลักษณะทางกายภาพ : ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (muscle tension) เพิ่มมากขึ้น พบ Hyperreflexia ของรีเฟล็กซ์ของเอ็น หรือรีเฟล็กซ์เอ็นลึก (Deep tendon reflexes) รีเฟล็กซ์พยาธิสภาพ (Pathologic reflexes) ให้ผลเป็น positive การทดสอบ รีเฟล็กซ์ที่ข้อเท้าและสะบ้า (Patellar and Ankle Clonus reflex) ให้ผลเป็น positive การทดสอบให้งอพับต้นคอ (Linder’s Sign) ให้ผลเป็น positiveภาพถ่าย Plain Film X-Rays พบว่ากระดูกสันหลังแนวด้านหน้าและหลังมีปุ่มกระดูกงอกขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ช่องว่างหมอนรองกระดูกแคบลง แนวโค้งของกระดูกสันหลังเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ภาพถ่าย CT หรือ MRI พบว่าโพรงกระดูกส่วนคอมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลง, มักมีขนาด เล็กกว่า 14-12 มม.

- ประเภทเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงไขสันหลังถูกกดทับ (椎动脉型 – Vertebral artery Type)
ประเภทนี้ในทางแพทย์จีนจัดอยู่ในขอบเขตของ “จ้งเฟิง” “อาการวิงเวียน ศีรษะ” “มีเสียงในหู” เป็นต้น บริเวณกระดูกข้อต่อ Uncovertebral Joint (Luschka’s joint) มีกระดูกงอก และการที่ตัวกระดูกต้นคอไม่มนคงส่งผลให้ข้อต่อกระดูกหลวม ทำให้ช่องของTransverse foramen มีการเคลื่อนตัวและไปกระตุ้นหรือกดทับถูกเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงไขสันหลัง บริเวณนั้น เป็นผลให้เกิดการบีบตัว ตีบแคบ หรือบิดเบี้ยวไป
อาการเมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณไขสันหลังไม่เพียงพอ ทำให้พบอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ มีเสียงในหู หูหนวก เป็นต้น อาการปวดศีรษะมักจะปวดตุ๊บๆหรือปวดแบบเข็มทิ่มเพียงข้างเดียว หรือเรียก อีกอย่างว่า อาการปวดศีรษะจากกระดูกต้นคอ (Cervicogenic headache) เมื่อมีการ เคลื่อนไหวศีรษะอย่างฉับพลัน อาจจะทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะหรือจะเป็นลมได้ และ เมื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบทอาการต่างๆข้างต้นก็จะสามารถหายได้เอง
ลักษณะทางกายภาพ : อาจจะมีจุดกดเจ็บบริเวณเส้นเลือดที่มาเลี้ยงไขสันหลัง ภาพถ่าย Plain Film X-Raysพบว่า ข้อต่อกระดูกส่วนคอ Luschka’s joint มีกระดูกงอก โพรงกระดูกต้นคอ Intervertebral foramen แคบลง (Oblique Film) ภาพถ่ายเส้นเลือด ที่ไปเลี้ยงไขสันหลัง (Spinal arteriography) พบว่า เส้นเลือดแคบลงและมีการบิดเบี้ยว 

- ประเภทเส้นประสาทซิมพาเทติคถูกกดทับ (交感型 - Sympathetic Type)

เนื่องจากกระดูกต้นคอมีปุ่มกระดูกยื่นออกมากดทับหรือกระตุ้นเส้นประสาท Sympathetic ที่อยู่ด้านข้างกระดูกต้นคอ แล้วส่งผลให้เกิดอาการต่างๆเนื่องจากมีความผิดปกติของการ ทำงานของระบบประสาทAutonomic

2. การตรวจร่างกาย

- กระดูกคอผิดรูป (Cervical Deformity)  
ลักษณะทางกายภาพกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอจะตึง แข็ง ความโค้งของกระดูกคอลดลงหรือหายไป (loss of cervical lordosis) การเคลื่อนไหวติดขัดที่บริเวณข้างกระดูกต้นคอหรือกล้ามเนื้อข้างคอ (Sternocleidomastoid), กล้ามเนื้อสามเหลี่ยมหลังคอ (Trapezius) มีจุดกดเจ็บ ภาพถ่าย Plain Film X-Rays พบว่าแนวโค้งของกระดูกต้นคอเป็นแนวตรงโดยมีระดับการเสื่อมสภาพของกระดูกคอ อยู่ใน ระดับเบาและระดับกลาง

- การคลำ (Palpation) 
คลำดูความตึงตัวของกล้ามเนื้อว่าปกติหรือไม่ ถ้ามีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นแสดงว่ามีความผิดปกติบริเวณนั้น เช่น ถ้ามีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ sternocleidomastoid จะทำให้คอเอียง ( torticollis ) ขณะเดียวกันก็หาจุดกดเจ็บด้วย ตำแหน่งของกระดูกที่สามารถคลำได้มีความสำคัญมากที่จะบอกระดับหรือปล้องของกระดูกคอที่มีพยาธิสภาพ เช่น กระดูก hyoid ตรงกับ C3 vertebral body, กระดูก thyroid ตรงกับ C4 และ C5 vertebral bodies กระดูก cricoid อันแรกจะอยู่ด้านหน้าต่อ C6 vertebral body พอดี ต่อม thyroid ซึ่งอยู่บนกระดูก thyroid ก็จะอยู่ในแนวกลางของ C4 – C5 vertebral bodies


- การเคลื่อนไหว (Cervical Range of Motion)  การตรวจการเคลื่อนไหวของกระดูกคอนั้นต้องกระทำทั้ง active และ passive ซึ่งในกรณีของอุบัติเหตุก็จะต้องทำด้วยความระมัดระวังมากๆ จึงควรจะทราบค่าปกติไว้ด้วย คือ ในท่าก้มศีรษะ ( flexion ) คางสามารถมาแตะหน้าอกได้ ในท่าเงยศีรษะ ( extension ) ศีรษะส่วน occiput จะอยู่ห่างจากหลังช่วงบนสุดประมาณ 3 – 4 ช่วงกว้างของนิ้วมือ ศีรษะจะหันไปทางด้านข้าง ( rotation ) จะทำได้เต็มที่ประมาณ 90 องศา คือ คางอยู่ในแนวเดียวกับบ่าเอียงศีรษะไปทางด้านข้าง ( lateral bending ) ได้ประมาณ 45 องศา ประมาณร้อยละ 50 ของการก้มและเงยศีรษะจะกระทำที่ข้อต่อระหว่าง occiput และ C1 ส่วนการบิดหมุนหรือหันหน้าไปทางซ้ายหรือขวาจะกระทำที่ข้อต่อระหว่าง C1 และ C2 ถึงร้อยละ 50 โดยประมาณ


- ความรู้สึกผิดปกติเมื่อรากประสาทต้นคอถูกกดทับจะส่งผลต่อความรู้สึกที่ที่บริเวณต้นแขนร้าวไปถึงนิ้วมือ หนึ่ง จะมีอาการปวด ชา เป็นๆหายๆบ่อยครั้ง อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อเงยหน้า หรือไอ มีอาการชาที่ปลายนิ้วมือ การเคลื่อนไหวไม่คล่องการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine movement) ค่อนข้างลำบาก 

3. การทดสอบพิเศษด้วยกระตุ้น (Provocative testing)

- ท่ากดศีรษะลงตรงๆ (cervical compression) จะทำให้เกิดการเจ็บปวดตรงปล้องที่มีพยาธิสภาพ ถ้ากดศีรษะลงแล้วเอียงหรือบิดหมุนศีรษะไปทางด้านข้างที่มีอาการด้วยเรียกว่า Spurling’s test การกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการกด nerve root ตรงปล้องที่มีพยาธิสภาพมากขึ้น เช่น ในรายที่เป็น cervical disc herniation หรือ cervical spondylosis

- ท่ายกศีรษะขึ้นจากบ่า (cervical distraction test) นั้นกระทำในลักษณะตรงกันข้ามกับ cervical compression คือ ยกศีรษะขึ้นจากบ่า ในกรณีที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคนไข้จะมีอาการเจ็บปวดน้อยลงเพราะเป็นการทำให้แรงกดบน intervertebral disc ลดลง และทำให้ช่องที่ประสาทผ่านออกไปกว้างขึ้น

- ท่าดึงแขนผลักศีรษะ (Eaton test) คือการที่มือข้างนึงผู้ตรวจจับที่ข้อมือผู้ป่วยและมืออีกข้างจับไปที่ช่วงคางหรือศีรษะของผู้ป่วยโดยออกแรงดึงด้านที่จับข้อมือและออกแรงผลักด้านที่จับศีรษะ หากมีอาการชาร้าวลงแขนหรือไปที่ฝ่ามือมากขึ้นแสดงว่าบริเวณต้นคอมีพยาธิสภาพหรือภาวะการเสื่อมของกระดูกคอ

4. การตรวจทางระบบประสาท (Neurological examination)

- เดอร์มาโทม (Dermatome & reflex) รากประสาทแต่ละเส้นสามารถตรวจได้ โดยอาศัยการตรวจกล้ามเนื้อที่รากประสาทนั้นไปเลี้ยงโดยเฉพาะ หรืออาศัย dermatome หรือ reflex ที่เกิดจากวงจรการทำงานของรากประสาทนั้นมีความจำเป็นจะต้องจดจำไว้เพื่ออาศัยเป็นหลักในการตรวจเส้นประสาทแต่ละเส้น

- ฮอฟแมนส์ (Hoffman’s sign) ในขณะที่มือผู้ป่วยอยู่ลักษณะพัก ใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงบนเล็บของนิ้วกลางผู้ป่วยให้ดีดลงไป ในรายที่ให้ผลบวก นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ผู้ป่วยจะงอเข้าหากัน ในกรณีที่มี spinal cord lesion ต่ำกว่า cervical spinal cord การตรวจวิธีนี้จึงช่วยแยกตำแหน่งว่าเป็นที่ระดับ cervical spine หรือต่ำลงมา

5. การตรวจอื่น ๆ 

- การเอกซเรย์  ภาพถ่าย AP view กระดูกคอเสื่อม ช่องว่างระหว่ากระดูกมีการตีบแคบ หรือกระดูกบิดไปทางซ้ายหรือทางขวา ด้านที่มีอาการมักจะมีช่องระหว่างกระดูกค่อนข้างกว้าง  ภาพถ่าย LAT view พบ loss of cervical lordosis ระยะห่างระหว่างกระดูกด้านหน้าและหลังอยู่ในระดับเดียวกัน หรือด้านหน้าแคบ ด้านหลังกว้าง ที่ตัวกระดูกอาจพบ spur หรือพบกระดูกงอก เป็นต้น ภาพถ่ายเอกซเรย์ควรนำมาประกอบการตรวจวินิจฉัยทางคลินิกว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่  นอกจากนี้ยังต้องตรวจเช็คด้วยว่าพบโรคอื่น ๆ หรือไม่ เช่น วัณโรคกระดูก หรือมะเร็ง เป็นต้น


- การตรวจด้วยเครื่อง CT หรือ MRI การตรวจนี้สามารถแสดงภาพโพรงไขสันหลังได้อย่างชัดเจน ตำแหน่งการปริ้นของหมอนรองกระดูกและตำแหน่งที่รากประสาทและไขสันหลังถูกกดทับ ถ้ามีความจำเป็นอาจใช้การตรวจด้วยการเอกซเรย์แบบ Myelography การตรวจด้วยเครื่อง CT และMRI นี้มีความสำคัญต่อโรคนี้ค่อนข้างมาก

มุมมองโรคและการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน มองว่า สาเหตุและกลไกการเกิดโรคกระดูกคอเสื่อม เกิดจากการแทรกซึมของลม ความเย็น และความชื้น จึงทำให้เกิดอาการอุดตันในเส้นจิงลั่ว ทั้งชี่และเลือด หรือเกิดจากความเสื่อมลงของตับและไต รวมกับการขาดชี่และเลือดจากอายุที่มากขึ้น แพทย์แผนจีนมองว่า ไตเป็นสารต้นกำเนิดของชีวิตและจะค่อยๆเสื่อมลงตามการใช้งานและอายุที่เพิ่มขึ้น  ในคัมภีร์แพทย์แผนจีนโบราณอธิบายไว้ว่า ไตเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์กับกระดูก ผลิตไขกระดูก ตับเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์กับเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เก็บกักเลือด กระดูกอาศัยกล้ามเนื้อประคับประคองให้ตั้งมั่น เมื่อตับพร่อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นไม่แข็งแรง ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นมีปัญหา ในระยะยาวสามารถส่งผลให้เป็นโรคกระดูกได้ นอกจากนี้ ตับและไตมีต้นกำเนิดเดียวกัน สารจิงในไตและเลือดในตับ มีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน เมื่อใดที่เลือดในตับพร่องลง ย่อมส่งผลให้สารจิงในไตพร่องลงไปด้วย สารจิงและเลือดพร่องลง ไม่สามารถหล่อเลี้ยงกระดูก จึงเกิดเป็นโรคนี้

ตาม มาตรฐานการวินิจฉัยโรคและผลการรักษาของโรคกระดูกทางด้านแพทย์แผนจีน แบ่งแยกประเภทของ โรคกระดูกคอเสื่อม ออกเป็นกลุ่มอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการโรค

- การกระทบจากลม และความเย็นจากภายนอก
ทำให้เกิดอาการข้อฝืด หรือปวดของคอ ไหล่ หรือแขน โดยแขนและมืออาจรู้สึกเย็น ชา หรือหนัก โดยเฉพาะเมื่ออาการเย็น หรือลมพัด จะทำให้อาการปวดรุนแรงยิ่งขึ้น ลิ้นฝ้าบางและขาว ชีพจรลอยและตึง (浮紧脉)

- การอุดตันของชี่และเลือด
เกิดอาการปวดตึงหรือแปล๊บ ๆ บริเวณคอ ไหล่หรือแขน รวมทั้งอาจมีปวดบวมร้าวไปแขน ร่วมกับมึนงง ปวดศีรษะ จิตใจหดหู่ และอาจมีอาการปวดหน้าอก ลิ้นฝ้าบางและขาวลิ้นบวมหนา ชีพจรไม่สม่ำเสมอ ลึก  (沉代脉)

- ความเสื่อมของตับและไต
เกิดอาการชา และปวดบริเวณคอ ไหล่ และแผ่นหลังอย่างช้า ๆ ร่วมกับอาการมึนงง ตาพร่า เสียงดังในหู หูอื้อ ปวดหรืออ่อนแรงของเข่า ขา อาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อทำงานหนัก ลิ้นฝ้าบางปวดบริเวณลิ้น ชีพจรลึกบางและอ่อน (沉弱脉)

2. วิธีรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

- หลักในการรักษา : คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง (舒筋通络、活血化瘀)

- การทุยหนา : ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น คลายความอ่อนล้า คลายความตึงแน่นของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ข้อต่อกระดูกยืดหยุ่น ลดโอกาสเสี่ยงของอาการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริว หัตถการทุยหนามีขั้นตอนดังนี้

  • หัตถการคลายกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งศีรษะและตัวตั้งตรงไม่ยกไหล่ แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างหลังผู้ป่วย ใช้ท่าบีบและกลิ้ง (หนาฝ่า กุ่นฝ่า拿法与滚法) ลงบนบริเวณต้นคอที่มีพยาธิสภาพจนถึงไหล่และสะบักซึ่งเป็นแนวของเส้นลมปราณเท้าเซ่าหยางถุงน้ำดี (足少阳胆经) เน้นบริเวณกล้ามเนื้อใต้ฐานกะโหลก กล้ามเนื้อคอส่วนหลัง และกล้ามเนื้อบ่าสะบัก หัตถการควรเริ่มจากน้ำหนักมือที่เบา หลังจากนั้นค่อยๆเพิ่มน้ำหนักมือ ประมาณ 2-3 นาที
  • หัตถการรักษา ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งศีรษะและตัวตั้งตรงไม่ยกไหล่ แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างหลังผู้ป่วยใช้มือนวดช่วงต้นคอ ใช้ท่าบีบและนวดคลึง (หนาฝ่า โหร๋วฝ่า拿法与揉法) บริเวณต้นคอ บ่า และสะบัก บริเวณละประมาณ 2-3 นาที หลังจากนั้นใช้ท่าจิก (เตี๋ยนฝ่า点法) บริเวณจุดเฟิงฉือ (GB20凤池) 、เจียนจิ่ง (GB21肩井) 、เทียนจง (SI11天宗) 、โฮ่วซี (SI3后溪) จุดละ 2 นาที กดให้รู้สึกหน่วงหรือหนัก
  • หัตถการสิ้นสุดการรักษา ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง แพทย์ผู้ทำหัตถการยืนอยู่ข้างหลังผู้ป่วยใช้มือปรบ (พายฝ่า拍法) ไปที่ช่วงบ่า สะบัก และแผ่นหลังของผู้ป่วยใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วินาที – 1 นาที เพื่อทำให้ชี่และเลือดไหวเวียนดีขึ้น
การฝังเข็ม
- จุดเฟิงฉือ (GB20凤池)
- จุดเทียนจู้ (BL10天柱)
- จุดเจียนจิ่ง (GB21肩井)
- จุดเทียนจง (SI11天宗) 
- จุดโฮ่วซี (SI3后溪)
เมื่อฝังจะรู้สึกความรู้สึกของเข็ม (得气) ให้คาเข็มทิ้งไว้ 15 นาที

ยาจีน
ตำรับยาทงปี้ทัง(通痹汤): 
หวงฉี(黄芪)ตังกุย(当归)、กุยปั่น(龟板)、ฉินเจียว(秦艽)、

ซังจี้เซิง (桑寄生)、โก่วฉีจื่อ(枸杞)、ชื่อเสา(赤芍)、ฝางจี่(防己)、

เชียงหัว(羌活)、ชวนซยง(川芎)、เซิงตี้(生地)、กุ้ยจือ(桂枝)、

ตู๋หัว(独活)、หงฮวา (红花)、มู่กวา(木瓜)、 อูเซาเฉอ(乌梢蛇)、

ซานชี(三七)、จื้อชวนอู (制川乌)、ซี่ซิน(细辛)、จื้อเฉ่าอู(制草乌)、

อู่กง(蜈蚣)、เฉียงหัว (羌活)、เก๋อเกิน (葛根)

หลักการรักษา : บำรุงชี่และเลือด บำรุงตับและไต ขับลมทะลวงเส้นลมปราณ กระจายความเย็นระงับปวด(益气养血,补益肝肾,祛风散寒,通络止痛)
เหมาะสำหรับ : กลุ่มอาการปวดตามข้อ ข้อบวม เคลื่อนไหวติดขัดเป็นต้น

อบยา
ตำรับยาไห่ถงผีทัง(海桐皮汤): ไห่ถงผี(海桐皮)、โถ้วกู่เฉ่า(透骨草)、
หรูเซียง(乳香)、ม่อเหย้า(没药)、ตังกุย(当归)、ชวนเจียว(川椒)、

ชวนซยง(川芎)、หงฮวา(红花)、เวยหลิงเซียน(威灵仙)、กานเฉ่า(甘草)、ฝางเฟิง(防风)、ไป๋จื่อ(白芷)

หลักการรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด(活血祛瘀,通络止痛)
เหมาะสำหรับ : คลายกล้ามเนื้อ ระงับปวด
วิธีใช้ : อบคอบ่าประมาน 15-20 นาที วันละ 1 ครั้ง
ข้อควรระวัง : หากมีอาการแพ้ คัน ผื่นแดง ควรรีบหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวังและป้องกันกระดูกคอเสื่อม

1. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะเป็น ท่าเงยหรือแหงนคอ หรือ หากเอียงคอหรือหมุนศีรษะ ไปข้างใดแล้วมีอาการเจ็บร้าวมากขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการเอียงหรือหมุนศีรษะนั้น

2. หลีกเลี่ยงการบิดหมุน หรือ สะบัดคอบ่อยๆ

3. หลีกเลี่ยงการทำงานโดยการแหงนคอ หรือ ก้มคอเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ หรือการนอนคว่ำแล้วอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ การเอียงศีรษะพูดคุยโทรศัพท์ เป็นต้น

4. ไม่ควรนอนหมอนที่สูง หรือ ต่ำเกินไป ควรนอนให้หมอนหนุนศีรษะโดยมีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ

5. การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงคอ ช่วยเรื่องการจำกัดการเคลื่อนไหวของคอเพื่อช่วยลดการอักเสบ จะมีประโยชน์ในช่วงแรกๆ เมื่อมีอาการปวด แต่ไม่ควรใส่เป็นเวลานานเพราะอาจก่อให้เกิดภาวะการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อคอได้ ควรใช้เป็นระยะๆ ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อคอ

6. บริหารเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อคอ (core stabilization exercise) เพื่อให้กล้ามเนื้อช่วยรับน้ำหนักศีรษะไม่ให้ผ่านกระดูกคอมากเกินไป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

วิจัยทางคลินิก การฝังเข็มและทุยหนารักษาโรคกระดูกคอเสื่อม

วัตถุประสงค์ : เพื่อตรวจสอบวิธีการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับการรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
วิธีการ : โดยการสุ่มผู้ป่วยที่มีโรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) ทั้งหมด 120 ราย และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 60 คน ได้แก่กลุ่มควบคุมและกลุ่มสังเกตุการณ์ กลุ่มควบคุมจะได้รับการฝังเข็มร่วมกับการรมยาสมุนไพรจีน ในขณะที่กลุ่มสังเกตุการณ์ จะได้รับการฝังเข็มร่วมกับการนวดทุยหนา
วิธีการสำหรับกลุ่มควบคุม 
ใช้การฝังเข็มร่วมกับการรมยาสมุนไพรจีน เลือกใช้จุด FengChi (风池 GB20)、JingBaiLao(颈百劳 EX-HN15)、JianJing (肩井 GB21)、ShouSanLi (手三里 LI10)、QuChi (曲池 LI11)、HeGu (合谷LI4)、BaiHui (百会 GV20)、TianZhu (天柱 BL10)หลังจากทำการฆ่าเชื้อตามปกติ  จะใช้เข็มขนาด 0.3mm X 40mm ฝังด้วยเทคนิคกึ่งบำรุงและระบาย เข็มปักทิศตรง ความลึกแต่ละจุดประมาณ 0.7-1 ชุ่น ปักเข็มค้างไว้ 25-30 นาที และรมยาสมุนไพรจีนร่วม 1ครั้ง ต่อวัน เป็นเวลาทั้งหมด 7 วัน
วิธีการสำหรับกลุ่มสังเกตุการณ์
ใช้การฝังเข็มร่วมกับการนวดทุยหนา เริ่มจากฝังเข็มคล้ายกับกลุ่มควบคุมและเพิ่มหัตถการการนวดทุยหนาโดยเริ่มจาการให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง แพทย์ใช้นิ้วบีบตามจุดกดเจ็บ บริเวณคอ บ่า สะบัก 20-30 ครั้ง แต่ละจุด หลังจากนั้นใช้ท่ากดคลึงบริเวณจุด FengChi (风池 GB20)และ  JianJing (肩井 GB21) ประมาณ 20-30 รอบ คลึงจนผู้ป่วยรู้สึกหน่วงบริเวณที่มีพยาธิสภาพ แล้วให้ผู้ป่วยนอนคว่ำนวดคลึงบริเวณบ่าและขอบสะบักด้านใน 20-30 ครั้ง หัตถการทั้งหมดทำ 1ครั้ง ต่อวัน เป็นเวลาทั้งหมด 7 วัน
ผลลัพธ์ : อัตราการรักษาคือ 98.33% ในกลุ่มสังเกตุการณ์และ 85% ในกลุ่มควบคุม โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองกลุ่ม (P<0.05)
สรุป การรักษาด้วยการฝังเข็มร่วมกับการนวดทุยหนา เป็นวิธีการที่ให้ผลการรักษาที่ดีมาก สำหรับกลุ่มโรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) 

เอกสารอ้างอิง

1. วิทยานิพนธ์ คู่มือการพยาบาล ผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
2. บทความกายวิภาคศาสตร์และพยาธิวิทยาของโรคกระดูกคอเสื่อม คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กภ. ลดาวรรณ เติมวรกุล
3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3.  นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554
4. https://www.huachiewtcm.com/content/8658/-cervical-spondylosis การตรวจวินิจฉัยและมุมมองโรคทางแพทย์แผนจีน
5. กระบวนวิชาออร์โธปิดิกส์ พ.คพ.507 กระดูกสันหลังหัก-ข้อเคลื่อน (FRACTURES & DISLOCATIONS OF THE SPINE) และ บาดเจ็บไขสันหลัง (ACUTE SPINAL CORD INJURY) โดย ผศ.นพ.ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ หน่วยโรคกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2557

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้