Last updated: 12 ต.ค. 2567 | 248 จำนวนผู้เข้าชม |
Myofacial Pain Syndrome หมายถึงกลุ่มอาการปวดร้าว (refer pain) อันเนื่องมาจากจุดกดเจ็บ (Trigger point) ของกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด โดยอาการจะจำกัดอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย หากมีอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อใด ก็จะมีอาการตามกล้ามเนื้อนั้นๆ ไม่กระจายไปทั่วทั้งร่างกาย อาการปวดดังกล่าวเป็นมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งโรค MPS ควรต้องได้รับการวินิจฉัยออกจากโรค Fibromyalgia (FB) ซึ่งมีอาการปวดกระจายไปทั่วทั้งร่างกาย และมีความสัมพันธ์กับสภาพจิตใจ อารมณ์ และพันธุกรรม
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ยังไม่มีสาเหตุที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยทางร่างกาย จิตใจและสังคม ที่ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้ออยู่ในสภาพบาดเจ็บจากการทำงานที่เกินความสามารถทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวอย่างต่อเนื่องกลายเป็นปมใยกล้ามเนื้อ การไหลเวียนของโลหิตในบริเวณดังกล่าวลดลง เกิดภาวะบกพร่องพลังงาน จนเกิดการคั่งค้างของของเสียโดยเฉพาะสารที่ก่ออาการปวด
อาการ
ผู้ป่วยมีการปวดบริเวณกล้ามเนื้อบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย อาจมีการปวดร้าวไปสู่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่อบริเวณใกล้เคียง ระดับความปวดมีตั้งแต่ปวดเล็กน้อยพอรำคาญ จนถึงปวดรุนแรงทรมาน อาจมีอาการซ่า วูบ เย็น ขนลุก ตามผิวหนังบริเวณที่ปวดซึ่งเป็นอาการแสดงของระบบประสาทอิสระที่ผิดปกติ (autonomic symptoms) ในรายที่รุนแรงอาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรค Myofacial Pain Syndrome ประกอบด้วย
1. มีประวัติการปวดกล้ามเนื้อ และ/หรือ อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic symptoms)
2. ตรวจกล้ามเนื้อโดยการคลำด้วยนิ้วมือจะพบTrigger point เป็นจุดที่มีความไวต่อการกระตุ้นสูงเกิดอาการปวดได้ง่าย หากจุดtrigger point ที่อยู่บนกล้ามเนื้อชั้นตื้นจะสามารถคลำได้เป็นก้อนหรือลำตึง
3. วินิจฉัยแยกแยะกับโรค Fibromyalgia
Myofacial Pain Syndrome | Fibromyalgia |
มีอาการเจ็บเฉพาะที่ | มีอาการมากกว่า 3 เดือน |
มีอาการปวดร้าวไปที่โซนของกล้ามเนื้อนั้นๆ | เป็นทั้งสองด้านของร่างกาย |
พบก้อนพังผืดในกล้ามเนื้อหรือจุดกดเจ็บ | มีอาการปวดทั้งท่อนบนและท่อนล่าง |
เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้น้อยลงหรืออ่อนแรง | มีอาการปวดที่อวัยวะแกนกลางของร่างกายเช่น คอ หน้าอก แผ่นหลัง เป็นต้น |
โรค Myofacial Pain Syndrome ในมุมมองการแพทย์แผนจีน
กลุ่มโรคที่มีอาการปวดในศาสตร์การแพทย์แผนจีนล้วนจัดอยู่ในโรค “ปี้เจิ้ง” (痹症) ซึ่งกลไกที่ทำให้ปวดในศาสตร์แพทย์แผนจีนมีอยู่สองประการ ได้แก่ การปวดจากการติดขัด (不通则通)เป็นกลุ่มอาการแกร่ง (实证) และ การปวดจากการขาดการหล่อเลี้ยง (不荣则痛)เป็นกลุ่มอาการพร่อง (虚证)ดังนั้นแนวทางการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน นอกจากจะตรวจวินิจฉัยตรงตำแหน่งอวัยวะที่เป็นแล้ว ยังต้องมองร่างกายคนไข้แบบองค์รวม วินิจฉัยแยกแยะกลุ่มอาการและพื้นฐานร่างกายคนไข้อีกด้วย
การรักษาโรคMyofacial Pain Syndromeด้วยการฝังเข็มช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับการปวด ให้ผลการรักษาที่ดี ผู้ป่วยมักรู้สึกดีขึ้นทันทีหลังจากฝังเข็มเสร็จ เทคนิคการฝังเข็มในโรคนี้มีหลายรูปแบบ เลือกใช้ตามความเชี่ยวชาญของการแพทย์จีนแต่ละคน มีทั้งเทคนิคการฝังเข็มบนจุด traditional acupuncture ซึ่งมีจุดclassical acupoint อยู่บนตำแหน่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกับจุด trigger point มากถึง 71%ทั่วร่างกาย หรือใช้เทคนิค Dry needling ทำลายปมกล้ามเนื้อที่หดตัว อาจเสริมด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า การครอบแก้ว เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อคลายตัว และฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บซ้ำซ้อนได้ นอกจากนี้แพทย์แผนจีนจะไม่ลืมรักษาตามการวินิจฉัยแยะกลุ่มอาการตามหลักการเปี้ยนเจิ้ง(辨证)โดยการตรวจวินิจฉัยร่างกายผู้ป่วย ว่ามีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดอีกหรือไม่ เช่น มีกลุ่มอาการเย็น (寒证) กลุ่มอาการชื้น (湿证)กลุ่มอาการร้อน (热证) กลุ่มอาการชี่ติดขัดและเลือดคั่ง (气滞血瘀证) กลุ่มอาการพร่อง (虚证)เป็นต้น ร่วมด้วยหรือไม่ แพทย์จีนจะเลือกใช้จุดเสริมเพื่อรักษากลุ่มอาการนั้นๆ ให้ด้วย เพื่อผู้ป่วยจะได้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ไปพร้อมกัน
กรณีศึกษาการฝังเข็มรักษาโรค Myofacial Pain Syndrome
ผู้ป่วยชาย อายุ46 HN:010xxx
อาการสำคัญ : ปวดคอ บ่า สะบัก ร้าวลงแขนด้านซ้าย เป็นมา 1 เดือน
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน : ผู้ป่วยชอบออกกำลังการด้วยการตีกอล์ฟ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งออกรอบเป็นเวลาครึ่งวันหรือทั้งวัน ทำให้มีอาการบาดเจ็บซ้ำซ้อนของกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ บ่า กล้ามเนื้อสะบัก และมีอาการปวดร้าวลงแขนด้านหลังฝั่งซ้าย บางครั้งมีอาการชาบริเวณข้อศอก แขนล้าง่าย ไม่ถึงกับอ่อนแรง บางครั้งมีปวดร้าวขึ้นมาบริเวณท้ายทอย ไม่ปวดหรือเวียนศีรษะ นอนหลับดี ขับถ่ายค่อนข้างเหลว
ตรวจร่างกาย : คลำพบจุดกดเจ็บเป็นก้อนบริเวณกล้ามเนื้อบ่าและสะบัก (Trapezius m. ,Subscapularis m.,Levator scapulae m.) เมื่อกดบนจุด trigger pointของกล้ามเนื้อ Subscapularis m. ผู้ป่วยมีอาการเสียวร้าวลงไปถึงข้อศอก
ประกอบกับการดูลิ้นและจับชีพจร ลิ้นค่อนข้างบวมใหญ่ สีแดงอ่อน ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรลื่นมีแรง
การวินิจฉัยโรค : โรคMyofacial Pain Syndrome / โรคปี้เจิ้ง (痹证) กลุ่มอาการความชื้นสะสม (着痹)
การรักษา : ฝังเข็มโดยใช้การเลือกจุดกดเจ็บเป็นหลัก เวลาแทงเข็มหรือกระตุ้นเข็มอาจเห็นกล้ามเนื้อกระตุกเล็กน้อย หรือมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณใกล้เคียง ใช้การกระตุ้นไฟฟ้า และการครอบแก้วร่วมด้วยเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ขับความชื้นออกจากเส้นลมปราณ ฟื้นฟูเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ นอกจากนี้ยังเพิ่มจุด อินหลิงเฉวียน(阴陵泉) , จู๋ซานหลี่ (足三里)เป็นต้น เพื่อขับความชื้นในร่างกายให้ผู้ป่วยด้วย
แพทย์จีนนัดให้ผู้ป่วยมาฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดการออกกกำลังกายที่ต้องใช้แรงกล้ามเนื้อมากๆ พักการตีกอล์ฟไปก่อน รักษาความอบอุ่นให้กับบริเวณที่ปวด ไม่ใส่เสื้อแขนกุดตอนนอน ใช้การประคบร้อนเมื่อรู้สึกเมื่อยล้ากล้ามเนื้อ
เมื่อรักษาติดต่อกันเป็นเวลา 5 ครั้ง อาการดีขึ้นตามลำดับ ผู้ป่วยมีความต้องการกลับไปตีกอล์ฟซ้ำเพื่อเหตุผลทางสังคมและธุรกิจ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการตีกอล์ฟต่อเนื่องนานเกินไป ต้องมีช่วงที่พักผ่อน ก่อนการออกกำลังกายต้องมีทั้งการวอร์มอัพและคูลดาวน์กล้ามเนื้อทุกครั้งเพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำซ้อน และหากมีอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาได้ทันท่วงที
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567