ภาวะเสพติดน้ำตาล..พิษร้ายทำลายสุขภาพ

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  379 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะเสพติดน้ำตาล..พิษร้ายทำลายสุขภาพ

ในยุคแรกน้ำตาลเป็นของหายากและมีบทบาทเป็นของบูชาในพิธีกรรมทางศาสนา อีกทั้งเป็นสินค้าหรูหราที่คนมีเงินเท่านั้นจะซื้อหาได้ ความต้องการน้ำตาลที่สูงขึ้นทำให้เกิดอุตสากรรมไร่อ้อยขนาดใหญ่ มีบันทึกครั้งแรกเกี่ยวกับน้ำตาลที่อินเดีย โดยมีการใช้เป็นเครื่องบวงสรวงทางศาสนาและในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ราว 1,000-500 ปีก่อนคริสตกาล น้ำตาลผลิตมาจากอ้อย ซึ่งมนุษย์ได้ปลูกอ้อยเป็นครั้งแรกบนเกาะที่ในปัจจุบันเรียกว่านิวกินี ในศตวรรษที่ 19 – 20 มีการปลูกอ้อยกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  ในทวีปอเมริกาใต้  อเมริกาเหนือ  สเปน  โปรตุเกส  และแพร่หลายไปอีกหลายประเทศรวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในเอเซียด้วย (ตรีนันทวัน, 2553) เมื่อการบริโภคน้ำตาลเริ่มเป็นที่นิยม  หลาย ๆ ประเทศจึงหันมาผลิต ทำให้น้ำตาลกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สูงและราคาถูกมาก จึงเป็นที่นิยมสำหรับแรงงานที่ต้องใช้แรงเยอะๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกหลาย ๆ ประเทศใส่น้ำตาลในเสบียงอาหารของทหาร  หลังสงครามโลก น้ำตาลกลายเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ทั่วไป 

จากสถิติข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 ที่เผยว่า “คนไทยมีพฤติกรรมติดหวาน กินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาถึง 4 เท่า” การติดน้ำตาลหรือติดรสหวานนั้น มาจากนิสัยการกินตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกินน้ำตาลหรือของหวานเพิ่มมากขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยปริมาณน้ำตาลสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปว่า ในแต่ละวันไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 4 ช้อนชา หรือ 16 กรัม (น้ำตาล 1 ช้อนชา จะเท่ากับประมาณ 4 กรัม) และสำหรับวัยรุ่นหญิง/ชาย วันทำงาน คือ ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม โดยให้คำนึงถึงสุขภาพและโรคประจำตัวของแต่ละบุคคลด้วย ปริมาณ 4 และ 6 ช้อนชา หลังมีการขับเคลื่อนมาตรการทางภาษีน้ำตาลในอาหาร-เครื่องดื่ม พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลลดลงเหลือ 23 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งยังถือว่าเกินระดับมาตรฐานอยู่หลายเท่า

เชื่อว่าหลายๆท่านเชื่อว่า หากทานน้ำตาลไม่ได้ ก็ทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลก็ได้ ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม วัตถุให้ความหวานทดแทนน้ำตาล (Artificial Sweeteners) จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอันตรายซ่อนอยู่ไม่น้อย จากศึกษาและทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่คาดว่าจะเป็น สาเหตุของโรค และการเกิดโรคเกี่ยวกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาล พบว่าเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นสาเหตุของโรคอ้วน และเบาหวานทางอ้อมโดยเฉพาะ aspartame, acesulfame potassium และ sucralose น้ำตาลเทียมบางชนิด หากบริโภคมากเกินไป อาจพบผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน บางชนิดกระตุ้นการเกิดกรดในกระเพาะ เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะได้  อีกทั้งการทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาล มิได้เป็นการปรับการรับรู้รสชาติของร่างกาย เพราะร่างกายมนุษย์เรียนรู้สิ่งที่เป็นขั้นกว่าเสมอ เมื่อเริ่มทานหวานก็จะทานรสหวานขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อทานของหวาน(น้ำตาล)เข้าไป เราจะรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข อารมณ์ร่าเริงกระปรี้กระเปร่า เนื่องจากสารโดพามีนในสมองถูกหลั่งออกมา ค่าน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นฉับพลัน และพุ่งขึ้นถึงระดับที่ร่างกายสะสมไขมัน และเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนถูกหลั่งออกมามากขึ้น ผิวหนังผลิตน้ำมันมากขึ้น และเสี่ยงเกิดการอักเสบในระดับเซลล์ เมื่ออินซูลินหลั่งออกมามากกว่าปกติส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงฉับพลัน ตามมาด้วยอาการกระสับกระส่าย หงุดหงิด อ่อนเพลีย ง่วงซึม อยากทานอะไรหวานๆอีกครั้ง ร่างกายเข้าสู่ภาวะเสพติดน้ำตาลโดยสมบูรณ์ น้ำตาลเสพติดได้ เช่นเดียวกันกับยาเสพติด การเลิกน้ำตาลทำได้โดยการหยุดวงจรทั้ง 5 วงจรดังภาพ หยุดการทาน พูดเหมือนง่าย แต่ทำได้ยาก อาจด้วยความเคยชิน วิถีชีวิต หรือปัจจัยอื่นๆ หากเราสามารถหยุดทานน้ำตาลได้ 10 วัน ความอยากน้ำตาลจะลดลงได้ถึง 80%

ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน รสหวาน เป็นรสชาติที่สัมพันธ์กับอวัยวะม้าม ซึ่งถือเป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่ในการดูดซึมสารอาหาร เหนี่ยวรั้งเลือดให้อยู่ในร่างกาย ควบคุมกล้ามเนื้อ เป็น “ทุนหลังกำเนิด” มนุษย์ทุกคนเกิดมาด้วยทุนก่อนกำเนิด อันได้แก่ กรรมพันธุ์จากบิดามารดา ต่อให้กรรมพันธุ์ดีแค่ไหน แต่ทุพโภชนาการ หรือได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เกิดโรคได้ หากทานหวานแต่พอดีจะเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะม้าม ในทางกลับหากความหวานนั้นเกินพอดี จะยิ่งทำให้ร่างกายเสียสมดุล จากประสบการณ์ การรักษาด้วยการฝังเข็ม ปรับสมดุลอวัยวะม้าม อวัยวะตับ และอวัยวะไต เป็นวิธีที่ช่วยลดความอยากน้ำตาล และผลข้างเคียงจากภาวะเสพติดน้ำตาลได้ อย่างดีเยี่ยม การรักษาใน 1-3 ครั้งแรกเห็นผลได้อย่างชัดเจน การนอนหลับดีขึ้น มีสมาธิ เมื่อความอยากน้ำตาลลดลงจะมีสติในการเลือกเฟ้นอาหารมากขึ้น การเลือกเฟ้นโภชนาการที่เหมาะสมต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารประกอบ  ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้เข้ารับการรักษาร่วมด้วย 

การลดหวาน นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพกาย เรื่องผิวพรรณ ยังเพิ่มคุณภาพการทำงานของสมอง ลดปัญหาทางจิต ภาวะอารมณ์ผิดปกติ ซึมเศร้า วิตกกังวลและกระวนกระวายได้อีกด้วยการควบคุมการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวัน เป็นการดูแลสุขภาพและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคไต เป็นต้น 

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือเรื่อง “น้ำตาลเปลี่ยนโลก” Sugar Changed the World,  Marc Aronson และ Marina Budhos เขียน วิลาสีนี เดอเบส แปล, น้ำตาลเปลี่ยนโลก Sugar Changed the World, สำนักพิมพ์มติชน, 2555
2. สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ Sunday, 22 February 2015 - 20:07

Bibliography

ตรีนันทวัน, ส. (2553, สิงหาคม 24). คลังความรู้ Sci Math. Retrieved from www.ipst.ac.th: https://www.scimath.org/article-biology/item/539-sugar

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้