รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฝังเข็ม วิธีที่ไม่ควรมองข้าม

Last updated: 26 ก.ย. 2567  |  547 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฝังเข็ม วิธีที่ไม่ควรมองข้าม

          โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee  Osteoarthritis) เป็นโรคของข้อที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อต่อ (articular cartilage)  มีหินปูนหรือกระดูกงอกรอบข้อต่อเข่า เซลล์เนื้อเยื่อบุข้อผิดปกติ เส้นเอ็นหย่อนหรือหดสั้น เยื่อหุ้มรอบข้อเข่าหดสั้น ร่วมกับมีกล้ามเนื้อลีบซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระบวนการเสื่อมจะไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม และจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 55-64 ปี อายุมัธยฐานเฉลี่ยของการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมคือ 55 ปี(1)

          ในมุมมองศาสตร์การแพทย์แผนจีน จัดอยู่ในโรค “กู่ปี้” หรือ “ปี้เจิ้ง”  โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากปัจจัยภายในคือตับไตพร่อง ร่วมกับ ลม ความเย็น ความชื้นซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคภายนอก อุดกั้นเส้นลมปราณ ชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จึงเกิดเป็นโรคนี้ขึ้นมา

อาการของโรค
1. ปวดข้อเข่า  และกดเจ็บ  โดยมีลักษณะพิเศษ คือ ปวดเวลาเริ่มเดิน หรือเมื่อเดินติดต่อกันนานๆ ปวดเมื่อขึ้น-ลงบันได รวมทั้งปวดช่วงกลางคืน
2. เคลื่อนไหวลำบาก ข้อฝืด
3. ข้อเข่าผิดรูป
4. มีเสียงดังในข้อเข่า
5. กล้ามเนื้อลีบผ่อ

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน

          เจิ้งชี่ไม่แข็งแรง เป็นพื้นฐานของปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดโรคนี้  เมื่อมีปัจจัยภายนอกคือลม ความเย็น ความชื้น กระทบทำให้เกิดโรคนี้  กล่าวคือ “พื้นฐานพร่อง อาการแสดงแกร่ง”

          ตับไตพร่อง เป็นปัจจัยภายในของการเกิดโรค ไตควบคุมกระดูก สร้างไขกระดูก ตับควบคุมเส้นเอ็น สารจิงและเลือดของตับและไต พร่อง ทำให้กระดูกและเส้นเอ็นขาดการหล่อเลี้ยง

          ลม ความเย็น ความชื้น เป็นปัจจัยภายนอกของการเกิดโรค ปัจจัยก่อโรคทั้งสามนี้เมื่อเข้ามากระทบกล้ามเนื้อรูขุมขนและเส้นลมปราณ เกิดการอุดกั้นข้อต่อ เส้นเอ็นและกระดูก ทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวกจึงเกิดเป็นโรคนี้

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ (เปี้ยนเจิ้ง) แบ่งการวินิจฉัยตามกลุ่มอาการ 5 ประเภท

1.กลุ่มอาการความเย็นชื้นอุดกั้น(寒湿痹阻证)
อาการ : ปวดหน่วงข้อเข่า อากาศหนาวทำให้อาการหนักขึ้น ประคบร้อนทำให้อาการดีขึ้น  ร่วมกับปวดหน่วงเอวและตัว ลิ้นซีด ฝ้าที่ลิ้นขาวเหนียว ชีพจรลอยและช้า(หรูฮ่วนม่าย)
หลักการรักษา :  ขจัดลมเย็น สลายความชื้น ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด

2.กลุ่มอาการความร้อนชื้นอุดกั้น(湿热痹阻证)
อาการ : ข้อเข่าปวด บวม แดง ร้อน  เหยียดงอเข่าลำบาก เมื่อสัมผัสเข่ารู้สึกถึงความร้อน เดินลำบาก ร่วมกับมีไข้ คอแห้ง กระหายน้ำ กระวนกระวาย ลิ้นแดง ฝ้าที่ลิ้นเหลืองเหนียวชีพจรลอยเร็ว(หรูซู่ม่าย)หรือชีพจรลื่นเร็ว(หัวซู่ม่าย)
หลักการรักษา : ขจัดความร้อนชื้น ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด

3.กลุ่มอาการชี่ติดขัดและเลือดคั่ง(气滞血瘀证)
อาการ : ปวดข้อเข่าเหมือนเข็มทิ่ม เมื่อพักผ่อนเคลื่อนไหวน้อยอาการปวดกลับเป็นหนักขึ้น ร่วมกับมีสีหน้าหมองคล้ำ ลิ้นม่วงคล้ำหรือมีรอยจ้ำเลือด ชีพจรจมฝืด (เฉินเซ่อม่าย)
หลักการรักษา : ทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ระงับอาการปวด

4.กลุ่มอาการตับและไตพร่อง(肝肾亏虚证)
อาการ : ปวดข้อเข่าไม่รุนแรง ร่วมกับเมื่อยเอว เข่าอ่อน หลังจากใช้งานอาการปวดเพิ่มขึ้น ลิ้นแดง ฝ้าที่ลิ้นน้อย ชีพจรจมเล็กไม่มีแรง(เฉินซี่อู๋ลี่ม่าย)
หลักการรักษา : บำรุงตับไต ระงับอาการปวด

5.กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง(气血虚弱证)
อาการ : ปวดเมื่อยข้อเข่า ร่วมกับนอนไม่ค่อยดี ฝันเยอะ มีเหงื่อออก เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น หายใจสั้น หน้าซีด ลิ้นซีด ฝ้าที่ลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กอ่อนแรง(ซี่รั่วม่าย)
หลักการรักษา : บำรุงชี่และเลือด ระงับอาการปวด

ตัวอย่างกรณีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อมูลผู้ป่วย

รหัสผู้ป่วย : HN 363XXX
ชื่อ : คุณ เจริญXXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 14 กรกฎาคม 2565
เพศ : หญิง
อายุ : 64 ปี
อุณหภูมิ 36.2 องศาเซลเซียส
ชีพจร : 74 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 138/86 mmHg  น้ำหนัก :  52 กิโลกรัม
อาการสำคัญ (Chief complaint) ปวดเข่าขวาเพิ่มมากขึ้น  11 วัน
อาการปัจจุบัน (Present illness)
          ปวดเข่าขวา เนื่องจากเดินมาก เหยียดงอเข่าได้ไม่สุด ข้อเข่าบวมและอุ่นเล็กน้อย  นั่งรถเข็นเข้ามารับการรักษา เดินไม่ได้ ขึ้นลงบันไดไม่ได้ เข่าโก่งผิดรูป ไม่มีอาการปวดช่วงกลางคืน รับประทานยาแก้ปวดไม่ค่อยได้ผล นอนหลับได้ปกติ รับประทานอาหารได้ปกติ ขับถ่ายปกติ ชีพจรตึง  เคย  X-ray พบว่า เข่าเสื่อม
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต(Past history)
          - ปฏิเสธประวัติโรคหัวใจและเบาหวาน
          - ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
การวินิจฉัยโรค(Diagnosis)
          - วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน :  ปวดเข่า(กู่ปี้)
          - วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน :  ข้อเข่าเสื่อม
วิธีการรักษา (Treatment)
          - รักษาด้วยการฝังเข็ม ร่วมกับการทำเข็มอุ่น
          - ใช้หลักการรักษา  บำรุงตับไต ระงับอาการปวด
ผลการรักษา (progression note) ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 – วันที่ 20 สิงหาคม 2565
          - รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 17/7/2565 นั่งรถเข็นเข้ามารับการรักษา อาการปวดบวมเข่าขวาดีขึ้น แต่ยังไม่กล้าเดิน  ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าซ้ายร่วมด้วย
          - รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 21/7/2565 อาการปวดบวมเข่าขวาดีขึ้นชัดเจน สามารถเดินได้  ไม่ต้องนั่งรถเข็นแล้ว อาการปวดเข่าซ้ายหายไป
          - รักษาครั้งที่ 4 วันที่ 24/7/2565 อาการปวดบวมเข่าขวาดีขึ้นจากครั้งก่อน ไม่ปวดเข่าซ้าย มีอาการปวดเมื่อยน่องขวา
          - รักษาครั้งที่ 5 วันที่ 30/7/2565 ไม่ปวดบวมเข่าขวา  เหยียดงอเข่าได้ดีขึ้น ไม่ปวดเมื่อยขาแล้ว
          - รักษาครั้งที่ 6 วันที่ 20/8/2565 ไม่ได้ฝังเข็ม 3 สัปดาห์ เริ่มปวดบริเวณเหนือเข่าขวา เข่าบวมเล็กน้อย ไม่อุ่นร้อน
          - รักษาครั้งที่ 7 วันที่ 12/1/2566 ไม่ได้ฝังเข็ม 5เดือน  สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีอาการปวดเข่าขวา ไม่บวม แต่อุ่นเล็กน้อย เหยียดงอเข่าได้ตามปกติ
สรุปผลการรักษา 
          โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อต่อ ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ การฝังเข็มสามารถลดอาการปวดได้ดีและสามารถชะลอความเสื่อมได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น  ช่วยลดการใช้ยาแก้ปวด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล ปัจจัยกระตุ้น และการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย

 

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนอาวุโส ปิยะมาศ เมืองใชย (หมอจีน ปี้ หย่า หม่า)
毕雅玛 中医师
TCM. Dr. Piyamas muangchai (Bi Ya Ma)
แผนกฝังเข็ม 针灸科 (Acupuncture Department)

อ้างอิง
1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3886119/
2. https://max.book118.com/html/2023/0814/8133017025005121.shtm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้