ฟื้นฟูการทรงตัวจากโรคหลอดเลือดสมองด้วยการแพทย์แผนจีน

Last updated: 13 ก.ย. 2567  |  113 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฟื้นฟูการทรงตัวจากโรคหลอดเลือดสมองด้วยการแพทย์แผนจีน

          หนึ่งในปัญหาที่พบจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือปัญหาการเดินเซ ซึ่งเกิดจากการทำงานกล้ามเนื้อสอดประสานกันไม่ดี กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานสัมพันธ์กันในขณะที่มีการเคลื่อนไหว โดยเกิดจากการสั่งการการควบคุมกล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมลักษณะการเคลื่อนไหวให้เป็นไปตามรูปแบบที่ต้องการได้ ทำให้การทรงตัวและการเดินลำบาก โดยไม่เกี่ยวกับกำลังกล้ามเนื้อ

          รอยโรคมักเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหว รวมถึงในสมองส่วนอื่นที่ทำงานเกี่ยวข้องกัน ซึ่งความผิดปกติทางระบบประสาทนี้ มีผลต่อการส่งสัญญาณประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้การควบคุมการทำงานประสานสัมพันธ์การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมีปัญหา

          อาการที่พบส่ายสั่น (Intention Tremor) พูดไม่ชัด (Dysarthria) อาการตากระตุก (Nystagmus) มีความบกพร่องด้านการกะระยะ (Dysmetria) มีความบกพร่องในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและสลับกัน (Dysdiadochokinesis) มีปัญหาด้านการกินหรือการกลืน ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบาก เช่น ตักข้าวได้ยาก ติดกระดุมไม่ได้ หยิบจับสิ่งของลำบาก การทรงตัวไม่มั่นคง (Impaired balance) เดินได้ไม่มั่นคง มีอาการเซได้ง่าย มักจะล้มหรือสะดุดบ่อยครั้ง เมื่อเป็นนานๆอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาการเกร็ง (Spasticity) มีปัญหาด้านการรับรู้การสัมผัส (Sensory disturbance) มีปัญหาด้านการได้ยินหรือการมองเห็น (Auditory and visual impairment) และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้หรืออารมณ์ร่วมด้วย (Cognitive impairment/Mood changes)

          ในมุมมองการแพทย์แผนจีน โรคทางหลอดเลือดสมองหรือStroke สาเหตุหลักเกิดจาก ลม ไฟ เสมหะ เลือดคั่ง และภาวะพร่อง ทำให้รบกวน ปิดกั้นสมอง กลไกสำคัญในการเกิดโรคจ้งเฟิง คือ ลมภายในที่เคลื่อนไหวสะเปะสะปะ (内风妄动) และกล่าวถึงตับซึ่งเป็นอวัยวะที่เกี่ยวกับลม ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ซึ่งการที่อินและหยางในร่างกายเสียสมดุลจะทำให้อินจมลงสู่ส่วนล่าง หยางมากขึ้นสู่ส่วนบน เหมือนขาดน้ำรดต้นไม้ หยางแกร่งแปรสภาพเป็นลม เลือดกับชี่ย้อนขึ้น ระคนกับมีเสมหะและความร้อนขึ้นไปปกคลุมทวารที่ปลอดโปร่ง ลุกลามไปรบกวนระบบเส้นลมปราณ (阴阳失调,阴陷于下,阳亢于上,水不涵木,阳化风动,血随气逆,痰热侠杂,蒙蔽清窍,窜扰经隧 ) เมื่อลม ความร้อนและเสมหะ ปกคลุมทำให้ทวารสมองไม่ปลอดโปร่ง ทำให้การทำงานของสมองทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการเวียนศีรษะ และทำให้เกิดปัญหาการทรงตัวตามมา

          การรักษาทางการแพทย์แผนจีนจึงมุ่งเน้นที่ใช้วิธีการฝังเข็มเพื่อ ปลุกสมองเปิดทวาร บำรุงตับและไตอิน ให้ชี่กลับมาไหลเวียนได้ปกติ และใช้การเต๋าอิ่น เพื่อดึงให้เสินสามารถกลับมาควบคุมส่วนต่างๆของร่างกาย จะทำให้คนไข้สามารถกลับมาทรงตัวได้ดีขึ้น


ตัวอย่างกรณีการรักษา ปัญหาการทรงตัวและการทำงานกล้ามเนื้อสอดประสานจากหลอดเลือดสมอง ที่เข้ารับการรักษาและได้ผลดี

ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย

รหัสผู้ป่วย : HN405xxx     ชื่อ : ธน***     เพศ : ชาย     อายุ : 81 ปี


อุณหภูมิ : 36.℃     ชีพจร : 68 ครั้ง/นาที     ความดันโลหิต : 133/75 mmHg     น้ำหนัก : 72.3 กก

เข้ารับการรักษา : 5 มิถุนายน 2567


อาการสำคัญ : เดินเซ ทรงตัวลำบาก 4-5ปี

ประวัติการเจ็บป่วย 4-5 ปีก่อน ผู้ป่วยมีอาการเดินเซ เสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เข้าโรงพยาบาลตรวจCT Scan พบเส้นเลือดในสมองตีบ

อาการเจ็บป่วยปัจจุบัน ผู้ป่วยทรงตัวมีปัญหา การยืนตรงหรือเดินมีอาการเซ ร่วมกับอาการลิ้นแข็งสำลักอาหารง่าย ความอยากอาหารปกติ นอนหลับไม่ดี มีปัญหาการเข้านอน ตื่นกลางดึกง่าย ขับถ่ายยาก

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ไขมันในหลอดเลือด และความดันโลหิตสูง

การตรวจร่างกาย
- Rapid Hand Alternate +
- Romberg Sign +
- ถามตอบวันเวลาสามารถระบุได้ปกติ

การรักษา รับการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม ร่วมกับการเต๋าอิ่นเพื่อฝึกการทรงตัว โดยผู้ป่วยไม่มีปัญหาเรื่องกำลังกล้ามเนื้อถดถอย นัดผู้ป่วยเข้ารับการรักษาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และให้ผู้ป่วยกลับไปฝึกเพิ่มเติมที่บ้าน

หลังการรักษาครั้งที่ 1 ผู้ป่วยสามารถทรงตัวได้ดีขึ้น ระยะก้าวเดินมีความมั่นคงมากขึ้น อาการโคลงเคลงระหว่างยืนหรือเดินลดลง
หลังการรักษาครั้งที่ 2 ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตรง การเซ ออกด้านข้างลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยมั่นใจในการเดินมากขึ้น
หลังการรักษาครั้งที่ 3 ผู้ป่วยทรงตัวได้ดีขึ้น การเดินเซลดลง Rapid Hand Alternate ทำได้ดีขึ้น
หลังการรักษาครั้งที่ 4 ผู้ป่วยเดินทรงตัวได้ดี การเดินไม่มีอาการเซ เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว

การรักษาใช้เวลาโดยประมาณ 1 เดือนร่วมกับการฝึกกำลังขาและกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว เพื่อให้การยืน เดินของผู้ป่วยมีความมั่นคงมากขึ้น ปัจจุบันผู้ป่วยรับการรักษาในอาการอื่นๆ นอกจากปัญหาการทรงตัว

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ธิติ นิลรุ่งรัตนา (หลิน เจีย เฉิง)
林嘉诚  中医师
TCM. Dr. Thiti Nilrungratana (Lin Jia Cheng) 

คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท 脑病针灸康门诊 (Stroke and Neurological Rehabilitation Clinic)


อ้างอิง

1. Silva RD, Vallortigara J, Greenfield J, Hunt B, Giunti P, Hadjivassiliou M. Diagnosis and management of progressive ataxia in adults. Pract Neurol. 2019;19:196-207.
2. Silva RD, Greenfield J, Cook A, Bonney H,  Vallortigara J, Hunt B, et al. Guidelines on the diagnosis and management of the progressive ataxias. Orphanet J Rare Dis. 2019;14:51.
3. https://www.mzrmyy.com/generalpage/contentpage.aspx?menuid=208&id=4046
4. หนังสือการฝังเข็มรมยา เล่ม 4 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้