Last updated: 29 ต.ค. 2567 | 95 จำนวนผู้เข้าชม |
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันแล้วจากบทความก่อนเรื่อง “เตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูหนาว” เรามาลงลึกไขเคล็ดลับการดูแลสุขภาพหย่างเซิงตามช่วงฤดูกาลกันต่อ จาก 24 ช่วงของการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ที่เรียกว่า “เจี๋ยชี่ (节气)” ซึ่งมาจากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศของคนสมัยโบราณ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ ซึ่งถ้าหากอ้างอิงตามการหมุนของโลกนี้จะมี 4 ฤดูกาล คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว โดยแต่ละฤดูกาลยังแบ่งออกเป็น 6 ช่วงย่อย รวมกันเป็นทั้งหมด 24 ช่วงด้วยกัน โดยแต่ละช่วงจะแสดงให้เห็นถึงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของเวลาที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะงงว่าแล้วทำไมประเทศไทยมีแค่ 3 ฤดู ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยได้แบ่งฤดูกาลเป็นทั้งหมด 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งถูกกำหนดโดยลมมรสุมนั่นเอง
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า มนุษย์เราถ้าหากสภาวะของร่างกายเจิ้งชี่ไม่เพียงพอ ไม่สามารถทนกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศหรือฤดูกาลได้ ทำให้ได้รับปัจจัยก่อโรคภายนอกเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ที่เรียกว่าเสี่ยชี่ 邪气 หรือ ลิ่วอิ๋น 六淫 (ปัจจัยก่อโรคภายนอก 6 อย่าง คือ ความเย็น ความร้อน ความร้อนอบอ้าว ความชื้น ความแห้ง และไฟ)และเจ็บป่วยไม่สบายในที่สุด ในตำราจินคุ่ยเอี้ยวเลี่ย《金匮要略》มีกล่าวถึงว่าในแต่ละช่วงฤดูกาลถ้าสภาพอากาศในช่วงฤดูที่ควรจะเป็นแต่ไม่เป็นดังปกติ ถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนแปลงแต่ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงฤดูกาลแต่สภาพอากาศรุนแรงกว่าที่ควรเป็น ก็จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราได้ มีการรายงานว่าจากสภาวะที่โลกร้อนขึ้นทำให้เกิดการแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น ยังไม่ถึงหน้าหนาวแต่หนาว อากาศร้อนจัดกว่าที่เคย ฝนไม่ตกตามฤดูกาลหรือมีฝนมากกว่าปกติ ในสมัยโบราณกล่าวไว้ในช่วงเชงเม้ง ท้องฟ้าสดใส จะมีฝนปรอยๆ แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมากลับมาพายุฝนฟ้าคะนองซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแปรปรวนผิดปกติของสภาพอากาศ ซึ่งความแปรปรวนเหล่านี้ก็จะส่งผลทำให้เกิดโรคระบาดต่าง ๆ ได้ง่าย เหมือนอย่างการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งไข้หวัดต่าง ๆ ที่เป็นกันมากขึ้นกว่าที่เคย
การรักษาโรคตามฤดูกาลตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
การรักษาโรคนอกจากหลักการการรักษาแต่ต่างกันไปด้วยปัจจัยจากแต่ละบุคคล (因人制宜 อินเหรินจื้ออี๋) แล้ว ยังมีปัจจัยจากภูมิประเทศแหล่งที่อยู่อาศัย (因地制宜 อินตี้จื้ออี๋) ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยจากเวลาหรือฤดูกาล (因时制宜 อินเหรินจื้ออี๋) ด้วย เนื่องจากร่างกายของคนเราในแต่ละช่วงฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลงของอินหยาง เช่นหน้าหนาวอากาศหนาวเย็น ชี่และเลือดในร่างกายมักจะไหลเวียนไม่สะดวกทำให้เกิดอาการปวดได้ง่าย ในการรักษามักใช้ยาอุ่นหรือการรมยาเพื่อปรับการไหลเวียนเลือดและเส้นลมปราณให้เดินสะดวก ในตำราหวงตี้เน่ยจิงซู่เวิ่น ได้กล่าวถึงการใช้ยาไว้ว่า ยาร้อนไม่ใช้ในช่วงอากาศร้อน ยาอุ่นไม่ใช้ในช่วงอากาศอบอุ่น ยาเย็นไม่ใช้ในช่วงอากาศหนาวเย็น เนื่องจากอาจทำให้ปัจจัยก่อโรคโจมตีได้ง่ายและทำให้อาการเป็นเรื้อรัง
การหย่างเซิงดูแลสุขภาพตามฤดูกาล
หากเรารู้จักและเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเราก็จะสามารถรับมือกับการใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติในสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ เนื่องจากถ้าเราไม่ได้ดูแลปกป้องร่างกายอย่างถูกวิธี ทำกิจกรรมต่างๆ หรือออกกำลังกายหักโหมมากเกินที่ควรจะเป็นก็จะทำให้เราสูญเสียเจิ้งชี่ได้ง่าย เมื่อเจิ้งชี่หรือภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอก็จะทำให้เกิดโรคได้ง่ายนั่นเอง ศาสตร์การแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับ “การป้องกันก่อนเกิดโรค” ดังนั้นการดูแลสุขภาพ การใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติจึงเป็นเคล็ดลับของคนจีนในสมัยโบราณ และยังถ่ายทอดความรู้แนวคิดในการดูแลสุขภาพต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่สังคมในยุคสมัยปัจจุบันอาจจะมีความซับซ้อน วุ่นวายในการใช้ชีวิตประจำวัน มีสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่รบกวนการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากมาย จึงอาจทำให้ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราได้ ดังนั้นเราจึงควรที่จะหันมาใส่ใจสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจกฏของธรรมชาติก่อน เนื่องจากร่างกายของมนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังคำว่า “天人合一 (เทียนเหรินเหออี)”
ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน (เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม) เป็นช่วงที่ทุกสรรพสิ่งฟื้นคืน ดอกไม้ ต้นไม้นานาพันธุ์จากเริ่มแตกหน่อไปจนเติบใหญ่ จากอากาศที่อบอุ่นค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิความร้อนสูงขึ้น ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยหยางชี่ และลักษณะของหยางชี่มักจะลอยขึ้นและออกสู่ภายนอก ดังนั้นในช่วงฤดูร้อนหยางชี่ภายในร่างกายจึงออกมาสู่ภายนอก เราจึงรู้สึกมีพลังแอคทีฟเป็นพิเศษ แต่อินชี่ถูกกักเก็บไว้อยู่ภายในร่างกายเพื่อรักษาสภาวะสมดุลร่างกาย ให้ร่างกายมีความชุ่มชื้นไม่ขาดน้ำในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แต่ปัจจุบันคนเราโดยเฉพาะคนไทยส่วนใหญ่มักจะชอบดื่มน้ำเย็นๆ ไอศกรีม หรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็น หากทานมากเกินไปก็อาจทำให้กระเพาะอาหารเย็น ทำลายหยางชี่ได้ จริงๆ แล้วในช่วงอากาศร้อนจัดแบบนี้ก็สามารถทานได้ เช่นหากมีอาการลมแดด หรือฮีทโตรก หรือร้อนใน วิธีดับร้อนยามขับขันสิ่งที่หาได้ง่ายที่สุดที่จะช่วยได้ ก็คือ แตงโม (โดยเฉพาะส่วนเปลือกแตงโมสีขาว) ในทางการแพทย์แผนจีนบอกว่ามีสรรพคุณราวกับ “ตำรับยาไป๋หู่ทัง 白虎汤” ขจัดความร้อนเติมความชุ่มชื้น และขับปัสสาวะได้ หรืออาจหาผลไม้ที่มีน้ำเยอะๆ ก็สามารถช่วยแก้บรรเทาดับร้อนได้ดี แต่หากเรารับประทานมากเกินไปเกินความจำเป็นจะทำลายหยางชี่ได้ง่าย และเสริมอินชี่ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น และมีผลกระทบต่อม้ามและกระเพาะอาหาร จึงมักพบอาการปวดแน่นท้อง ท้องเสียได้ง่าย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบยาวทำให้ในช่วงฤดูหนาวร่างกายมีหยางชี่ไม่เพียงพอ จึงรู้สึกขี้หนาวได้ง่ายขึ้นด้วย หรือกระตุ้นให้เกิดโรคต่างๆ เช่นโรคหอบหืด โรคกระเพาะอาหาร โรคภูมิแพ้ เป็นต้น ดังนั้น “ฤดูร้อนเราจึงควรหมั่นจิบน้ำขิง” หรือรับประทานอาหารฤทธิ์อุ่นบ้าง เพื่อปกป้องระบบย่อย และปกป้องหยางชี่ “ขิง” มีฤทธิ์อุ่น รสเผ็ด เข้าเส้นลมปราณปอด กระเพาะอาหารและม้าม มีสรรพคุณขับไล่ลมเย็น อบอุ่นจงเจียวและปอด แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน และช่วยปรับสมดุลระบบย่อยได้ นอกจากนี้ในช่วงที่อากาศร้อนจัด แต่มีฝนตกบ่อยๆ อย่างช่วงหน้าฝนของประเทศไทยตั้งแต่กลางพฤษภาคมเป็นต้นไป จะเป็นช่วงที่หลายๆ คนจะมีอาการเมื่อยเนื้อ เมื่อยตัว รู้สึกตัวหนักๆ เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างชื้น ทำให้ร่างกายมีความชื้นความร้อนอยู่ภายใน กระเพาะอาหารและลำไส้มักมีความร้อนชื้นสะสม กระตุ้นให้เป็นผื่นแพ้หรือสิว หรือปวดหนักศีรษะได้ง่าย สามารถรับประทานอาหารที่ช่วยปกป้องม้ามและกระเพาะอาหาร ขับไล่ความชื้น เช่น ลูกเดือย ถั่วแดง ซานเย่า เชี่ยนสือ ใบบัวแห้ง เป็นต้น
ในทางกลับกันฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว (เดือนสิงหาคม – มกราคม) ใบไม้ ดอกไม้ต่างร่วงโรย อากาศเริ่มค่อยๆ หนาวเย็น อินชี่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และปกคลุมอยู่ภายนอก ร่างกายจึงรู้สึกอยากนอนเร็วเป็นพิเศษ ไม่ค่อยอยากออกไปทำกิจกรรมภายนอก ส่วนหยางชี่จะถูกกักเก็บอยู่ภายในร่างกายเพื่อรักษาสภาวะสมดุลทำให้ร่างกายอบอุ่นเพื่อป้องกันอากาศที่หนาวเย็นเกินไปแล้วทำลายเจิ้งชี่ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนในสัตว์เลือดอุ่น คนก็เช่นเดียวกัน จะมีกลไกลการควบคุมและรักษาสมดุลภายในทำให้สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่อยู่เสมอได้ ในช่วงฤดูหนาวสัตว์เลือดอุ่นต่างๆ จึงจำศีล อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว เมตาบอลิซึมต่างๆ ลดลง สำหรับในช่วงอากาศหนาวเย็นคนส่วนใหญ่มักชอบรับประทานอาหารฤทธิ์ร้อน ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า “ฤดูหนาวให้กินหัวไชเท้า” เพื่อที่จะช่วยไม่ให้ร้อนเกินจนทำร้ายสารอินในร่างกาย เนื่องจาก “หัวไชเท้า” มีฤทธิ์เย็น รสหวาน เข้าเส้นลมปราณปอด และกระเพาะอาหารอาหาร มีสรรพคุณปรับชี่ช่วยย่อย บรรเทาอาการไอ สลายเสมหะ เสริมสร้างสารจิน เติมความชุ่มชื้น แก้หงุดหงิด ลดความร้อนขับพิษ เป็นต้น การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน หรือทอดๆ มันๆ มากเกินไป จะทำให้สารอินในร่างกายถูกทำลาย นอกจากนี้ยังทำให้กระเพาะอาหารเกิดไฟสะสมได้ง่ายเช่นกัน แต่ก็ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมากเกินไปเช่นกัน จะทำให้เลือดหมุนเวียนไม่ดีและมีผลต่อกระเพาะอาหารได้ ควรเลือกเป็นอาหารฤทธิ์อุ่น ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป เช่น ฮ่วยซัว มันเทศ มันฝรั่ง เป็นต้น นอกจากอาหารแล้วเรายังควรปกป้องหยางชี่ ในช่วงฤดูหนาว ไม่ควรออกกำลังกายที่หนักเกินไป หรือทำกิจกรรมเหงื่อออกมากเกิน จะยิ่งทำให้สูญเสียชี่ได้ ดังนั้นจึงควรเลือกการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวช้าๆ อย่างเช่น การรำปาต้วนจิ่น รำไทเก็ก เป็นต้น
นี่คือการดูแลสุขภาพตามวิถีธรรมชาติ ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่ดี ให้เหมาะสมกับร่างกายของตนเองแต่ละช่วงฤดูก็มีความสำคัญ ควรเอาใจใส่ หากดูแลร่างกายได้ดี ใช้ชีวิตเข้านอนและทำกิจกรรมต่างๆ ตามวิถีธรรมชาติ ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ (หมอจีน ไช่ เพ่ย หลิง)
蔡佩玲 中医师
TCM. Dr. Orakoch Mahadilokrat (Cai Pei Ling)
แผนกอายุรกรรมมะเร็ง